ก.เกษตร ลุยเข้ม 'วัวเถื่อนแม่สอด' จับอีกล๊อต ปราบสินค้าเถื่อน
โฆษกเกษตรฯ เผย ก.เกษตร เข้ม "วัวเถื่อนแม่สอด" กรมปศุสัตว์ จับอีกล๊อต ตามนโยบายนายกฯ เศรษฐา ปราบสินค้าเถื่อน
วันนี้ (17 มี.ค. 67) นางสาวอัยรินทร์ พันธุ์ฤทธิ์ โฆษกกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ (ฝ่ายการเมือง) เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ให้ความสำคัญกับตรวจสอบและปราบปรามการลักลอบนำเข้าสินค้าเถื่อน โดยเฉพาะสินค้าเกษตรนั้น ล่าสุดได้รับรายงาน จากกรมปศุสัตว์ว่า เจ้าหน้าที่ด่านกักกันสัตว์ จังหวัดตาก ปศุสัตว์จังหวัด และเจ้าหน้าที่ทหาร หน่วยเฉพาะกิจราชมนู ชุดเฉพาะกิจพญานาคราช ได้ตั้งจุดตรวจจุดสกัดเพื่อป้องกันกระทำผิดกฎหมายบนถนนเส้นทางระหว่างอ่างเก็บน้ำห้วยลึกไปยังจุดตรวจห้วยหินฝน ต.แม่ปะ อ.แม่สอด จ.ตาก
ขณะปฎิบัติหน้าที่ได้พบ “รถบรรทุก 6 ล้อ ยี่ห้อฮิโน่ สีขาว คลุมผ้าใบรอบคัน หมายเลขทะเบียน 70-3130 สุโขทัย เจ้าหน้าที่จึงได้แสดงตัวและเรียกรถยนต์บรรทุกดังกล่าวให้จอดเพื่อตรวจสอบ จากการตรวจสอบพบว่า รถดังกล่าวบรรทุกโคเพศผู้ จำนวน 26 ตัว โดยมี นายสุเมธ เป็นผู้ขับขี่ จึงได้ขอตรวจสอบใบอนุญาตในการเคลื่อนย้ายสัตว์ให้เจ้าหน้าที่สารวัตรกรมปศุสัตว์ทำการตรวจสอบแต่ไม่สามารถนำมาให้ได้ จึงได้แจ้งข้อกล่าวหา ทำการเคลื่อนย้ายสัตว์หรือซากสัตว์ ภายในเขตเฝ้าระวังโรคระบาดปากและเท้าเปื่อย โดยไม่ได้รับอนุญาตตามมาตรา 22 บทลงโทษมาตรา 65 แห่ง พ.ร.บ.โรคระบาดสัตว์ เจ้าหน้าที่จึงนำตัวคนขับพร้อมของกลางส่งพนักงานสอบสวน สภ.แม่สอด ส่วนของกลางโคมีชีวิต พนักงานสอบสวนได้ส่งมอบให้เจ้าหน้าปศุสัตว์ดำเนินการตามระเบียบกรมปศุสัตว์ต่อไป
โฆษกเกษตร เปิดเผยว่า การลักลอบนำเข้าโคมีชีวิตเพศผู้จำนวน 26 ตัว โดยขนย้ายด้วยรถยนต์บรรทุก ถ้าเทียบเป็นรถยนต์กระบะ ก็ใช้ประมาณ 6 - 7 คันรถนั้น เป็นเรื่องที่ต้องเฝ้าระวังเป็นพิเศษ แม้จะแค่ 1 ตัว ก็ถือว่าอันตรายถ้าเป็นการนำเข้าโดยวิธีการผิดกฎหมาย ไม่ผ่านด่านศุลกากร รวมทั้งการตรวจคัดกรองโรคปากเท้าเปื่อย ซึ่งจะเป็นการแพร่ระบาดของโรค และสร้างความเสียหายให้กับเกษตรกร ทั้งการจำหน่ายโคในประเทศและการส่งออกโคในตลาดต่างประเทศ รวมไปถึงประชาชนผู้บริโภคเนื้อสัตว์ด้วย
นายไชยา พรหมา รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะกำกับดูแลกรมปศุสัตว์ ได้สั่งการให้นายสัตวแพทย์สมชวน รัตนมังคลานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์ ขันน็อตทุกด่านตามตะเข็บชายแดนเพื่อป้องกันการทะลักเข้าโคมีชีวิต (โคเถื่อน) จากประเทศเพื่อนบ้านเข้ามาในประเทศไทย ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังป้องกันโรคระบาด และมีนโยบายในการเตรียมตัวส่งออกโคมีชีวิต ผ่านการรับรองคุณภาพ “ปลอดโรคปลอดภัย” เพื่อสร้างหลักประกันและความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าว่าประเทศไทยปราศจากโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นอุปสรรคในการส่งออก เพื่อขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ และเป็นการยกระดับคุณภาพชีวิตของเกษตรกรให้ดีขึ้นอีกด้วย