ฤดูฝน 2567 เช็ก! ไทยเข้าฤดูฝนเดือนไหน กรมอุตุฯ เผยมาช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์

ฤดูฝน 2567 เช็ก! ไทยเข้าฤดูฝนเดือนไหน กรมอุตุฯ เผยมาช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์

อัปเดตจาก กรมอุตุฯ คาดไทยเข้าสู่ ฤดูฝน 2567 ปลายเดือน พ.ค.นี้ มาช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดปลายเดือน ต.ค. เตือนเจอแน่ 'พายุหมุนเขตร้อน' หลายพื้นที่เตรียมรับมือฝนตกหนัก เสี่ยงน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก

เมื่อวันที่ 26 เมษายน 2567 ศูนย์ภูมิอากาศ กรมอุตุนิยมวิทยา ออกประกาศ การคาดหมายลักษณะอากาศช่วง 'ฤดูฝน' ของประเทศไทย พ.ศ. 2567 โดยระบุว่า

 

 

ฤดูฝนของประเทศไทยปีนี้ คาดว่า จะเริ่มประมาณสัปดาห์ที่ 4 ของเดือนพฤษภาคม 2567 ซึ่งจะช้ากว่าปกติ 1 - 2 สัปดาห์ และจะสิ้นสุดประมาณปลายเดือนตุลาคม 2567 โดยปริมาณฝนรวมของทั้งประเทศในช่วงฤดูฝนปีนี้ จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ และใกล้เคียงกับปีที่แล้ว (ปีที่แล้วในช่วงฤดูฝนปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 1 ส่วนปริมาณฝนรวมทั้งปีน้อยกว่าค่าเฉลี่ยปกติร้อยละ 6)

 

โดยในช่วงครึ่งแรกของฤดูฝน (ตั้งแต่วันเริ่มต้นถึงเดือนกรกฎาคม) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะใกล้เคียงค่าเฉลี่ยปกติ ส่วนในช่วงครึ่งหลังฤดูฝน (เดือนสิงหาคมถึงปลายเดือนตุลาคม) ปริมาณฝนรวมส่วนใหญ่จะมากกว่าค่าเฉลี่ยปกติประมาณร้อยละ 5

 

อนึ่ง ในช่วงประมาณกลางเดือนมิถุนายนถึงกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนมีน้อย และส่งผลให้เกิดสภาวะฝนทิ้งช่วง ซึ่งจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำในด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ประชาชนจึงควรใช้น้ำเพื่อประโยชน์สูงสุด

 

ส่วนในช่วงเดือนสิงหาคม กันยายน และตุลาคม เป็นช่วงที่มีฝนตกชุกหนาแน่นที่สุด และมีโอกาสสูงที่จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนผ่านบริเวณประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้มีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่และก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งได้ในหลายพื้นที่

 

ฤดูฝน 2567 เช็ก! ไทยเข้าฤดูฝนเดือนไหน กรมอุตุฯ เผยมาช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์

 

 

ลักษณะอากาศทั่วไป

 

ช่วงประมาณปลายเดือนพฤษภาคมถึงประมาณกลางเดือนมิถุนายน บริเวณประเทศไทยจะมีฝนตกชุกเพิ่มมากขึ้นและต่อเนื่อง โดยส่วนใหญ่จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 40 - 60 ของพื้นที่ กับจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากในบางแห่ง เว้นแต่ บริเวณภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะพัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย โดยจะมีกำลังค่อนข้างแรงเป็นระยะๆ ประกอบกับบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนเป็นระยะๆ นอกจากนี้มักจะมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงก่อตัวบริเวณทะเลอันดามัน แล้วทวีกำลังแรงขึ้นเป็นพายุดีเปรสชั่น หรือ พายุไซโคลน และเคลื่อนตัวเข้าใกล้ด้านตะวันตกของประเทศไทย

 

จากนั้น จนถึงประมาณกลางเดือนกรกฎาคม ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง และจะทำให้เกิดการขาดแคลนน้ำด้านการเกษตรในหลายพื้นที่ โดยเฉพาะพื้นที่แล้งซ้ำซากนอกเขตชลประทาน ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทยจะมีกำลังอ่อนลง ส่วนร่องมรสุมจะเลื่อนขึ้นไปพาดผ่านบริเวณตอนใต้ของประเทศจีน

 

สำหรับช่วงตั้งแต่กลางเดือนกรกฎาคมถึงกันยายน บริเวณประเทศไทยจะกลับมามีฝนตกชุกหนาแน่นอีกครั้ง โดยส่วนใหญ่จะมีฝนฟ้าคะนองร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับมีฝนหนักหลายพื้นที่และหนักมากในบางแห่ง ซึ่งจะก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก รวมทั้งน้ำล้นตลิ่งในหลายพื้นที่ ทั้งนี้เนื่องจากมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและประเทศไทย จะกลับมามีกำลังแรงและต่อเนื่อง ประกอบกับร่องมรสุมจะเลื่อนกลับลงมาพาดผ่านบริเวณประเทศไทยตอนบนในบางช่วง

 

ส่วนในเดือนตุลาคม บริเวณภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ปริมาณและการกระจายของฝนจะลดลง และเริ่มจะมีอากาศหนาวเย็นในตอนเช้า ส่วนภาคกลาง ภาคตะวันออก และภาคใต้ ยังคงมีฝนตกชุกหนาแน่นร้อยละ 60 - 80 ของพื้นที่ กับมีฝนตกหนักหลายพื้นที่และหนักมากบางแห่ง เนื่องจากบริเวณความกดอากาศสูงจากประเทศจีนจะเริ่มแผ่ลงมาปกคลุมตอนบนของทั้งภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับบางช่วงจะมีร่องมรสุมพาดผ่านบริเวณภาคกลางตอนล่าง ภาคตะวันออก และภาคใต้ตอนบน นอกจากนี้มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมประเทศไทย จะเริ่มเปลี่ยนเป็นมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือพัดปกคลุมแทน

 

รายละเอียดตามภาคต่างๆ

 

ภาคเหนือ : เดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม คาดว่า ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 20 และ 10 ตามลำดับ (ค่าปกติ 173 และ 190 มิลลิเมตร ตามลำดับ) ส่วนเดือนมิถุนายนและสิงหาคม ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 153 และ 238 มิลลิเมตร ตามลำดับ) สำหรับเดือนกันยายนและตุลาคม ปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าปกติร้อยละ 5 (ค่าปกติ 222 และ 117 มิลลิเมตร ตามลำดับ)

 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ : เดือนพฤษภาคมและกรกฎาคม คาดว่า ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 20 และ 10 ตามลำดับ (ค่าปกติ 192 และ 243 มิลลิเมตร ตามลำดับ) ส่วนเดือนมิถุนายนและสิงหาคม ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 199 และ 278 มิลลิเมตร ตามลำดับ) สำหรับเดือนกันยายนและตุลาคม ปริมาณฝนรวมมากกว่าค่าปกติร้อยละ 5 (ค่าปกติ 257 และ 101 มิลลิเมตร ตามลำดับ)

 

ภาคกลาง : เดือนพฤษภาคม คาดว่า ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 20 (ค่าปกติ 147) ส่วนเดือนมิถุนายน กรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ปริมาณฝนรวมจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10, 10, 5 และ 10 ตามลำดับ (ค่าปกติ 137, 152, 238 และ 160 มิลลิเมตร ตามลำดับ) สำหรับเดือนสิงหาคม ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 173 มิลลิเมตร)

 

ภาคตะวันออก : เดือนพฤษภาคม คาดว่า ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 20 (ค่าปกติ 205) ส่วนเดือนมิถุนายน กรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ปริมาณฝนรวมจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10, 10, 5 และ 10 ตามลำดับ (ค่าปกติ 259, 289, 352 และ 219 มิลลิเมตร ตามลำดับ) สำหรับเดือนสิงหาคม ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 286 มิลลิเมตร)

 

ภาคใต้ฝั่งตะวันออก (ฝั่งอ่าวไทย) : เดือนพฤษภาคม สิงหาคม และกันยายน คาดว่า ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 10, 5 และ 5 ตามลำดับ (ค่าปกติ 133, 131 และ 147 มิลลิเมตร ตามลำดับ) ส่วนเดือนมิถุนายนและตุลาคม ปริมาณฝนรวมจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10 (ค่าปกติ 119 และ 254 มิลลิเมตร ตามลำดับ) สำหรับเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 120 มิลลิเมตร)

 

ภาคใต้ฝั่งตะวันตก (ฝั่งทะเลอันดามัน) : เดือนพฤษภาคม สิงหาคม และกันยายน คาดว่า ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 10, 5 และ 5 ตามลำดับ (ค่าปกติ 301, 419 และ 429 มิลลิเมตร ตามลำดับ) ส่วนเดือนมิถุนายนและตุลาคม ปริมาณฝนรวมจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10 (ค่าปกติ 336 และ 369 มิลลิเมตร ตามลำดับ) สำหรับเดือนกรกฎาคม ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 349 มิลลิเมตร)

 

กรุงเทพมหานครและปริมณฑล : เดือนพฤษภาคม คาดว่า ปริมาณฝนรวมจะน้อยกว่าค่าปกติร้อยละ 20 (ค่าปกติ 207) ส่วนเดือนมิถุนายน กรกฎาคม กันยายน และตุลาคม ปริมาณฝนรวมจะมากกว่าค่าปกติร้อยละ 10, 10, 5 และ 10 ตามลำดับ (ค่าปกติ 196, 183, 326 และ 244 มิลลิเมตร ตามลำดับ) สำหรับเดือนสิงหาคม ปริมาณฝนรวมจะใกล้เคียงค่าปกติ (ค่าปกติ 212 มิลลิเมตร)

 

ฤดูฝน 2567 เช็ก! ไทยเข้าฤดูฝนเดือนไหน กรมอุตุฯ เผยมาช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์

 

ฤดูฝนปีนี้คาดมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1 - 2 ลูก

 

พายุหมุนเขตร้อน (ดีเปรสชั่น โซนร้อน และ ไต้ฝุ่น) สำหรับในช่วงฤดูฝนปีนี้ คาดว่า จะมีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนเข้าสู่ประเทศไทย 1 - 2 ลูก โดยมีโอกาสสูงที่จะเคลื่อนผ่านบริเวณภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และภาคเหนือ ในช่วงเดือนสิงหาคมหรือกันยายน

 

ข้อควรระวัง

 

1. บางช่วงจะมีฝนตกหนักถึงหนักมากติดต่อกันหลายวัน ซึ่งอาจก่อให้เกิดสภาวะน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำล้นตลิ่งได้ โดยเฉพาะในช่วงเดือนสิงหาคมถึงกันยายน จึงขอให้ประชาชนติดตามข่าวอากาศประจำวันอย่างใกล้ชิดต่อไปด้วย

 

2. ช่วงที่มีพายุหมุนเขตร้อนเคลื่อนตัวเข้าใกล้หรือเคลื่อนผ่านประเทศไทย จะมีลักษณะของพายุลมแรง ฝนตกเป็นบริเวณกว้าง และมีฝนตกหนักถึงหนักมากในหลายพื้นที่ ส่วนบริเวณชายฝั่งจะมีคลื่นลมแรง ความสูงของคลื่นอาจสูงถึง 3 - 4 เมตรในบางช่วง จึงขอให้ประชาชนและชาวเรือระมัดระวังอันตรายจากภัยธรรมชาติ และขอให้ติดตามข่าวอย่างใกล้ชิดในช่วงที่มีพายุหมุนเขตร้อนด้วย

 

ฤดูฝน 2567 เช็ก! ไทยเข้าฤดูฝนเดือนไหน กรมอุตุฯ เผยมาช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์

ฤดูฝน 2567 เช็ก! ไทยเข้าฤดูฝนเดือนไหน กรมอุตุฯ เผยมาช้ากว่าปกติ 1-2 สัปดาห์

 

ดูรายละเอียดประกาศฤดูฝน ปี 2567 (คลิก)