นำ ‘อนุญาโตตุลาการในศาล’ ของเก่าเก็บมาใช้ประโยชน์
ข้อพิพาททางแพ่ง ที่เป็นเรื่องพิพาทเกี่ยวกับสิทธิหน้าที่ ทรัพย์สิน ระหว่างเอกชนต่อเอกชน กฎหมายเปิดช่องให้คู่พิพาทสามารถตกลงระงับข้อพิพาทกันได้หลายช่องทาง คือ
- การทำสัญญาประนีประนอมยอมความ
ซึ่งเป็นเอกเทศสัญญาแบบหนึ่งตามที่บัญญัติในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะ 17 มาตรา 850-852 ซึ่งให้ความหมายในมาตรา 850 อันว่าประนีประนอมยอมความนั้น คือสัญญาซึ่งผู้เป็นคู่สัญญาทั้งสองฝ่ายระงับข้อพิพาทอันใดอันหนึ่งซึ่งมีอยู่หรือจะมีขึ้นนั้นให้เสร็จไปด้วยต่างยอมผ่อนผันให้แก่กัน
การทำสัญญาประนีประนอมยอมความตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ดังกล่าว เป็นการทำสัญญานอกศาล แต่ในกรณีที่เป็นคดีพิพาทกันอยู่ในศาล คู่ความทั้งสองฝ่ายก็อาจตกลงประนีประนอมยอมความกันต่อหน้าศาล ศาลก็จะมีคำพิพากษาตามยอมตามการประนีประนอมยอมความนั้น
- การไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทในศาล
เมื่อมีข้อพิพาทฟ้องร้องข้อพิพาททางแพ่งเป็นคดีในศาล ก่อนที่คดีจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาของศาล จะมีกระบวนการไกล่เกลี่ยระงับข้อพิพาทให้คู่ความตกลงยุติข้อพิพาท ด้วยความสมัครใจ หากคู่ความทั้งสองฝ่ายยอมเข้ากระบวนการไกล่เกลี่ย และยอมรับผลการไกล่เกลี่ย คู่ความอาจทำข้อตกลงประนีประนอมยอมความ แล้วให้ศาลมีคำพิพากษาตามยอม โดยโจทก์ก็ถอนฟ้อง
- การไกล่เกลี่ยตาม พ.ร.บ.การไกล่เกลี่ยข้อพิพาท พ.ศ.2562
มีบทบัญญัติทั้งทางอาญาและทางแพ่ง โดยข้อพิพาททางแพ่งที่จะสู่กระบวนการไกล่เกลี่ยตามพระราชบัญญัตินี้ได้คือ ข้อพิพาทเรื่องที่ดินที่มิใช่เรื่องกรรมสิทธิ์ ข้อพิพาทระหว่างทายาทเกี่ยวกับทรัพย์มรดก และข้อพิพาทอื่นตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา โดยเป็นการไกล่เกลี่ยก่อนฟ้อง
คู่กรณีที่ประสงค์จะให้มีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ให้ยื่นคำร้องต่อหน่วยงานซึ่งดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท ถ้าคู่ความอีกฝ่ายหนึ่งสมัครใจเข้าร่วมไกล่เกลี่ย กระบวนไกล่เกลี่ยก็ดำเนินการต่อไป หากคู่กรณีฝ่ายหนึ่งไม่ยอมปฏิบัติตามข้อตกลงระงับข้อพิพาท คู่กรณีอีกฝ่ายอาจยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อให้บังคับตามข้อตกลงได้
- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาทภาคประชาชน
เป็นกรณีที่ประชาชนรวมตัวกันเป็นศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชน โดยการส่งเสริมสนับสนุนของกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ ซึ่งสามารถไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งที่มีทุนทรัพย์ไม่เกิน 5 แสนบาทหรือจำนวนตามที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกา
เมื่อมีการดำเนินการไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งของศูนย์ไกล่เกลี่ยภาคประชาชนเสร็จสิ้นและมีการทำข้อตกลงระงับข้อพิพาท ซึ่งกรมคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ออกหนังสือรับรองแล้ว ข้อตกลงนั้นใช้บังคับกันได้
- การไกล่เกลี่ยข้อพิพาททางแพ่งก่อนฟ้อง ตามมาตรา 20 ตรี
ตามมาตรา 20 ตรี ของประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เป็นบทบัญญัติที่ก่อนจะยื่นฟ้องคดีเปิดช่องให้บุคคลที่จะเป็นคู่ความ ยื่นคำร้องต่อศาลที่มีเขตอำนาจหากฟ้องคดี แต่งตั้งผู้ประนีประนอมไกล่เกลี่ยให้คู่กรณีตกลงประนีประนอมยอมความกัน
เมื่อศาลดำเนินตามขั้นตอนมีการไกล่เกลี่ยข้อพิพาท และคู่กรณีตกลงทำสัญญาประนีประนอมกันในศาล ศาลอาจมีคำพิพากษาตามยอมในวันนั้นตามที่คู่ความร้องขอก็ได้ การดำเนินการตามมาตรานี้ไม่ต้องเสียค่าขึ้นศาล
- การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการนอกศาล
ทางเลือกในการระงับข้อพิพาทอีกทางหนึ่งคือ การที่คู่สัญญาทำความตกลงไว้ในสัญญาที่ทำธุรกรรมระหว่างกัน หรือทำสัญญาในภายหลังว่า หากมีข้อพิพาทเกิดขึ้น คู่สัญญาตกลงให้อนุญาโตตุลาการเป็นผู้ชี้ขาดข้อพิพาท ซึ่งจะเป็นไปตาม พ.ร.บ.อนุญาโตตุลาการ พ.ศ.2545 เรียกกันว่า “อนุญาโตตุลาการนอกศาล”
เมื่ออนุญาโตตุลาการ ชี้ขาดข้อพิพาทแล้ว หากคู่ความต้องการให้มีการบังคับตามคำชี้ขาดของอนุญาโตตุลาการ ให้ยื่นคำร้องขอต่อศาล ซึ่งอาจเป็นศาลไทยที่มีเขตอำนาจ หรือยื่นต่อศาลต่างประเทศที่เป็นภาคีสมาชิกของอนุสัญญานิวยอร์กก็ได้
- การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการในศาล
ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ซึ่งตราขึ้นใช้บังคับตั้งแต่ปี 2478 มีบทบัญญัติที่เปิดช่องให้คู่ความที่พิพาทกันเป็นคดีในศาลชั้นต้นตกลงกันเสนอข้อพิพาทให้อนุญาโตตุลาการคนเดียวหรือหลายคนเป็นผู้ชี้ขาด คือบทบัญญัติในหมวด 3 อนุญาโตตุลาการ มาตรา 210 ถึงมาตรา 222 เรียกกันว่า “อนุญาโตตุลาการในศาล”
ซึ่งเป็นทางเลือกในการระงับข้อพิพาททางแพ่งที่มีมาตั้งแต่ประกาศใช้ประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง เมื่อปี 2478 แต่ไม่เป็นที่นิยมของคู่สัญญา ที่นิยมทำความตกลงให้อนุญาโตตุลาการนอกศาลเป็นผู้ชี้ขาด โดยเฉพาะในการทำการค้าระหว่างประเทศ ที่ส่วนมากจะมีข้อกำหนดให้อนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศเป็นผู้ชี้ขาด
สถาบันอนุญาโตตุลาการ สำนักงานศาลยุติธรรม เห็นความสำคัญของบทบัญญัติอนุญาโตตุลาการตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่งดังกล่าวข้างต้น จะเป็นแนวทางหนึ่งที่จะช่วยร่นระยะเวลาในการพิจารณาคดี เพิ่มทางเลือกให้ประชาชนในการระงับข้อพิพาททางแพ่งที่เป็นคดีในศาล แบ่งเบาภาระงานของศาลได้
จึงจัดเสวนาในหัวข้อ “อนุญาโตตุลาการในศาล : กฎหมายเก่าในวิธีพิจารณาสมัยใหม่” เพื่อส่งเสริมให้มีการนำกระบวนการอนุญาโตตุลาการในศาลมาบังคับใช้อย่างเป็นรูปธรรม
การจัดเสวนาดังกล่าว เป็นการนำของเก่าเก็บที่เป็นบทบัญญัติในประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ตั้งแต่ปี 2478 ที่ไม่นิยมใช้กันจนอาจลืมกันไปแล้วว่า ยังมีบทบัญญัตินี้อยู่ มาส่งเสริมให้มีการบังคับใช้ให้เป็นประโยชน์ เป็นการเพิ่มทางเลือกในการระงับข้อพิพาทของประชาชน
จากข้อมูลที่ได้จากวิทยากรที่เข้าร่วมเสวนา อาจสรุปได้ว่าประเด็นปัญหาต่างๆ ที่ทำให้การระงับข้อพิพาทโดยอนุญาโตตุลาการในศาลที่ผ่านมาไม่เป็นที่นิยมของประชาชน เช่น แน่ใจหรือว่าจะได้รับความเป็นธรรม เสียเวลา เสียค่าใช้จ่ายสูง
ทั้งนี้ ในเรื่องของความเป็นธรรมวิทยากรให้ความมั่นใจว่า โดยบทบัญญัติของกฎหมายกระบวนการของอนุญาโตตุลาการในศาล หลายขั้นตอนอยู่ในความรับรู้รับทราบและการพิจารณาของศาลด้วย จึงเชื่อได้ว่าจะอำนวยความยุติธรรมให้ประชาชนได้อย่างดี
ส่วนเรื่องระยะเวลานั้นมีกฎหมายกำหนดกรอบระยะเวลาในการพิจารณาพิพากษาคดีบังคับใช้แล้ว และได้กำหนดกฎเกณฑ์ในการป้องกันการประวิงเวลาของคู่ความไว้ด้วย ประการสำคัญเมื่ออนุญาโตตุลาการ ยื่นคำชี้ขาดต่อศาลแล้ว ศาลพิพากษาตามคำชี้ขาดนั้นได้เลย
ส่วนค่าใช้จ่ายมีการลดค่าธรรมเนียมของอนุญาโตตุลาการ และมีข้อพิจารณาคืนค่าขึ้นศาลของคดีที่ระงับข้อพิพาทด้วยอนุญาโตตุลาการในศาลด้วย.