มรดกรักหลังการรบ จากนายทหารสหรัฐสู่พัทยา

มรดกรักหลังการรบ จากนายทหารสหรัฐสู่พัทยา

เมืองพัทยา เพิ่งได้ต้อนรับและส่งเหล่านายทหารนาวิกโยธินอเมริกันกว่า 6,000 นาย กลับขึ้นเรือ USS Theodore Roosevelt ที่มาเทียบท่าเรือแหลมฉบัง

กิจกรรมเป็นส่วนหนึ่งของโปรแกรม R&R หรือ Rest and Recuperation ซึ่งเป็นศัพท์ทางการทหารในการอนุญาตให้นายทหารที่ปฏิบัติภารกิจไกลบ้านเสร็จสิ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งภารกิจบนเรือที่ต้องประจำการต่อเนื่อง ซึ่งหลายกรณียาวกว่า 12 เดือน ก่อนจะกลับเข้าฐานที่ตั้งได้ยกพลขึ้นบก เพื่อท่องเที่ยวผ่อนคลายในประเทศที่มีความสัมพันธ์ทางการทหาร โดยขอจอดเรือให้กำลังพลได้พักผ่อนส่วนใหญ่ไม่เกิน 15 วัน

การเดินทางมาของเรือรบสหรัฐฯ ครั้งนี้ไม่ใช่ครั้งแรก และไม่ใช่ประเทศเดียวที่มา ก่อนหน้านี้ ช่วงเดือนกันยายนถึงตุลาคมของปี 2565 และ 2566 เรือรบ HMCS Winnipeg และ HMCS Ottawa ของแคนาดาก็มาเทียบจอดที่สัตหีบ รวมถึง การมาของเรือรบ USS Ronald Reagan ของสหรัฐฯ เอง ก็เคยมาเทียบท่าที่ภูเก็ต 

ด้วยโปรแกรม R&R เพื่อให้นายทหารกว่า 5,000 คน ได้พักผ่อนหลังเสร็จสิ้นภารกิจช่วยเหลือแผ่นดินไหวที่ญี่ปุ่นเมื่อปี 2554 แต่อาจไม่เป็นข่าวที่เป็นกระแสโซเชียลเหมือนการมาครั้งนี้

อันที่จริงต้องบอกว่า ไม่ว่าจะเป็น ความปังในการมาครั้งนี้ของเรือรบสหรัฐ หรือความดังของพัทยาที่เป็นที่รู้จักไปทั่วโลกทุกวันนี้ ต่างก็มีจุดเริ่มต้นมาจากการเข้ามาของกองทัพอเมริกัน ตั้งแต่สมัยสงครามเย็น ราว พ.ศ. 2490 เดิมทีเมืองพัทยา คือ สุขาภิบาลนาเกลือ อันเป็นพื้นที่ทำนาเกลือ

ในขณะนั้นกองทัพอเมริกันเข้ามาตั้งฐานทัพที่อู่ตะเภา และใช้พื้นที่ชายหาดริมทะเลแห่งนี้เป็นสถานที่พักผ่อนหย่อนใจ เลยทำให้เกิดที่พักในรูปแบบโฮสเทลขึ้น รวมถึงร้านอาหาร สถานเริงรมย์ และผับบาร์ ขึ้นมารองรับเหล่านายทหารต่างชาติที่ฐานทัพดังกล่าวเรื่อยมา

ทำให้นายทหารหลายคนหลงเสน่ห์ของเมืองไทยและคนไทย ก่อตัวเป็นความรัก จนตั้งรกรากสร้างครอบครัวที่ไทยไม่กลับสหรัฐ

ต่อมาหลังสงครามเย็น พัทยาก็เริ่มมีนักท่องเที่ยวชาวอเมริกัน ซึ่งได้รับการสื่อสารกันปากต่อปากจากกำลังพลที่กลับไปสู่มาตุภูมิ ถึงอัธยาศัย การมีใจบริการ และค่าครองชีพที่ไม่สูงของพัทยาและเมืองไทย

เมื่อภูมิทัศน์ของเมืองเปลี่ยนไป รัฐบาลไทยจึงถือโอกาสพัฒนาพัทยาให้กลายเป็นเมืองเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว รวมถึงจัดตั้งองค์กรที่บริหารจัดการและแก้ปัญหาต่าง ๆ ที่อาจเกิดจากความเป็นเมืองท่องเที่ยวขึ้น

โดยในปี พ.ศ. 2521 ซึ่งตรงกับสมัยรัฐบาลเกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ได้มีการตราพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยาฉบับแรกขึ้น เพื่อจัดตั้งเมืองพัทยาอย่างเป็นทางการ และยุบเลิกสุขาภิบาลนาเกลือลง

มรดกรักหลังการรบ จากนายทหารสหรัฐสู่พัทยา

ความพิเศษของเมืองพัทยานั้น นอกจากจะมีอำนาจหน้าที่ควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยวของตนเอง เพื่อสนองเจตนารมณ์ความเป็นเมืองท่องเที่ยว รวมถึงสามารถเสนองบประมาณได้โดยตรงกับสำนักงบประมาณแล้ว

โครงสร้างการบริหารเมืองตามพระราชบัญญัติปี พ.ศ. 2521 ยังแตกต่างไปจากองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอื่น ๆ นั่นคือ มีการนำระบบ “ผู้จัดการเมือง” หรือ City Manager มาทดลองใช้ด้วย

ระบบผู้จัดการเมือง เป็นระบบที่กำหนดให้สภาเมืองที่มาจากการเลือกตั้ง ว่าจ้างผู้ที่มีความรู้ความสามารถมาบริหารจัดการเมือง

โดยเหตุผลที่รัฐบาลเลือกระบบนี้มาทดลองใช้ ก็เพื่อหาผู้บริหารเมืองที่มีความเป็นมืออาชีพ มีเสถียรภาพ และปลอดจากการเมืองให้มาบริหารเมืองที่มีความพิเศษด้านการท่องเที่ยว

โครงสร้างการบริหารเมือง ประกอบด้วย “ฝ่ายสภาเมือง” ทำหน้าที่ด้านนิติบัญญัติ มีประธานสภาควบตำแหน่งนายกเมืองพัทยา และสมาชิกสภา 17 คน

โดย 9 คนมาจากการเลือกตั้งของประชาชน และอีก 8 คนมาจากการแต่งตั้งโดยกระทรวงมหาดไทย และ “ฝ่ายบริหาร” ที่นำโดยปลัดเมืองพัทยา ทำหน้าที่บริหารส่วนราชการต่าง ๆ โดยผู้ที่ทำหน้าที่ผู้จัดการเมืองก็คือปลัดนั่นเอง

อย่างไรก็ตาม การใช้ระบบผู้จัดการเมืองกับพัทยาภายใต้โครงสร้างดังกล่าว ประสบปัญหาหลายประการ ตั้งแต่การทับซ้อนกันระหว่างอำนาจบริหารเมืองของประธานสภาในฐานะนายกกับปลัด

การขาดผู้มีความรู้ความสามารถมาทำหน้าที่ผู้จัดการเมือง เนื่องจากขนาดพื้นที่ของเมืองพัทยาที่ใหญ่เกินกว่าจะนำระบบดังกล่าวมาใช้อย่างมีประสิทธิภาพ และประเด็นการครอบงำจากส่วนกลาง อันเกิดจากการที่สมาชิกสภาบางส่วนถูกแต่งตั้งจากกระทรวงมหาดไทย 

มรดกรักหลังการรบ จากนายทหารสหรัฐสู่พัทยา

ส่งผลให้มีการปฏิรูปเมืองพัทยาผ่านพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการเมืองพัทยา พ.ศ. 2542 โดยยกเลิกระบบผู้จัดการเมือง และหันมาใช้โครงสร้างแบบองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทั่วไป นั่นคือมีสภาเมือง 24 คนเป็นฝ่ายนิติบัญญัติ และนายกเมืองเป็นหัวหน้าฝ่ายบริหาร โดยทั้งสองตำแหน่งมีวาระการดำรงตำแหน่ง 4 ปี และมาจากการเลือกตั้งของประชาชน

ตามโครงสร้างดังกล่าว ทำให้ปัจจุบันความแตกต่างเดียวของเมืองพัทยาเทียบกับเทศบาลอื่น ๆ ก็คือ การมีอำนาจหน้าที่ “ควบคุมและส่งเสริมกิจการท่องเที่ยว” ซึ่งท้องถิ่นอื่นไม่มี 

และนอกเหนือจากพัทยาที่เป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษแล้ว ยังมีอีกหลายแห่งโดยเฉพาะพื้นที่ที่มีความโดดเด่นด้านการท่องเที่ยว เช่น ภูเก็ต เกาะสมุย เกาะช้าง หรือแม้แต่เชียงรายที่มีกิจกรรมความเคลื่อนไหวทางเศรษฐกิจบริเวณชายแดน

แต่การบริหารจัดการอยู่ใจกลางจังหวัดซึ่งห่างกันมาก ต่างพยายามจะขอจัดตั้งเป็นท้องถิ่นรูปแบบพิเศษ แต่จนถึงปัจจุบันก็ยังไม่มีที่ใดได้รับอนุมัติให้จัดตั้งนอกจากพัทยา (ไม่นับรวมกรุงเทพมหานคร)

นอกเหนือจากความพิเศษของพัทยาตามที่กล่าวมา เราต้องยอมรับความจริงให้ได้ว่า สถานบันเทิง ทั้งถูกและไม่ถูกกฎหมาย คืออีกหนึ่งในชื่อเสียงและแหล่งดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างประเทศของพัทยา  รวมทั้งการล้อเลียนถึงเรื่องนี้ในโลกโซเชียลว่า การมาครั้งนี้ของทหารสหรัฐก็มาเพราะสาเหตุนี้

ถึงแม้ว่ากระทรวงกลาโหมสหรัฐจะออกระเบียบอย่างเข้มงวดเมื่อปี พ.ศ. 2549 ห้ามนายทหารของกองทัพสหรัฐอเมริกาซื้อบริการทางเพศไม่ว่าจะในประเทศใดก็ตาม แต่ในทางปฏิบัติก็เป็นเรื่องยาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งในประเทศที่การค้าบริการทางเพศโดยสมัครใจเป็นอาชีพที่ถูกกฎหมาย

 

อย่างไรก็ตาม เมื่อเราปฏิเสธความจริงนี้ไม่ได้ เราก็ต้องยอมรับว่าผู้เล่นหลักของกิจการนี้ ก็คือผู้ให้ความบันเทิง ที่ศัพท์สมัยใหม่เรียกว่า เด็กเอ็นท์ (ย่อมาจาก Entertainer) ไปจนถึง ผู้ให้บริการทางเพศ (Sex Worker) 

ซึ่งหนึ่งในสาเหตุการมาครั้งนี้ของทหารสหรัฐได้ถูกพูดถึงในทำนองว่า ช่วยให้ผู้ประกอบอาชีพเหล่านี้ได้ลืมตาอ้าปาก จากความลำบากที่เกิดจากการนักท่องเที่ยวหนีหายไปในช่วงโควิด

ประกอบกับกลุ่มคนเหล่านี้ ต่างอยู่นอกระบบสวัสดิการของกฎหมายแรงงาน ทำให้ไม่ได้รับการเยียวยาใด ๆ ทั้งสิ้นจากรัฐ และแน่นอนที่สุด รัฐคงไม่อาจสนับสนุนการประกอบอาชีพเหล่านี้ได้ แต่ก็สมควรที่จะหาวิธีการเยียวยาความเดือดร้อนมากกว่ารอการมาเทียบท่าของกองทัพเรือต่างประเทศ ที่ไม่ทราบว่ากี่สิบปีจะมีหนึ่งครั้ง

นอกจากนี้ ผู้บริหารของพัทยาควรต้องเห็นคุณค่าและให้ความสำคัญอย่างมากกับอำนาจในการควบคุมส่งเสริมการท่องเที่ยว ในการระมัดระวังการปฏิบัติหน้าที่ ไม่ให้เกิดเหตุการณ์ที่กระทบต่อการท่องเที่ยวทั้งทางตรงและทางอ้อม

มรดกรักหลังการรบ จากนายทหารสหรัฐสู่พัทยา

ดังเช่น โครงการก่อสร้างอาคารวอเตอร์ฟรอนต์ ที่ปัจจุบันต้องทิ้งร้างเป็น Visual Pollution หรือ ทัศนะอุจาด กลายเป็นแผลเป็นของเมืองพัทยามาจนถึงทุกวันนี้

ท่ามกลางความเป็นจริงที่ว่า พัทยาคือเมืองที่นักท่องเที่ยวต่างชาติส่วนใหญ่มาเที่ยวเพราะสถานบันเทิง รวมถึงอุปสรรคข้อจำกัดที่เมืองพัทยายังคงเป็นพื้นที่ที่มีอำนาจ “ทับซ้อนและซ้อนทับ” ของหน่วยงานอื่น ทั้งจากส่วนกลาง และส่วนภูมิภาค ทำให้ไม่มีอำนาจเต็มในการบริหารทั้งหมด

(เช่น การกำหนดให้ผู้ว่าราชการจังหวัดชลบุรี มีอำนาจชี้แจง แนะนำ ตักเตือน สั่งเพิกถอนหรือระงับการกระทำของผู้ดำรงตำแหน่งในเมืองพัทยา รวมถึง ตั้งคณะกรรมการสอบสวนนายก รองนายก ประธานสภา และรองประธานสภาเมืองพัทยาได้)

ก็คงจะมีแต่ วิสัยทัศน์ในการพัฒนาเมืองทุกมิติ ธรรมาภิบาลของผู้บริหารเมือง และการจัดการธุรกิจแหล่งบันเทิงที่ทั้งถูกและผิดกฎหมายอย่างมีวุฒิภาวะเท่านั้น ที่จะเป็นตัวกำหนดว่า พัทยายังมีความจำเป็นต้องเป็นองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นรูปแบบพิเศษอีกต่อไป อยู่หรือไม่?

มรดกรักหลังการรบ จากนายทหารสหรัฐสู่พัทยา

คอลัมน์ มองเมืองต่างมุม 

อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ

พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล

สถาบันพระปกเกล้า