ทดลอง 1 ก.ย.นี้! ด่าน One stop service หนองคาย ลดขั้นตอนส่งสินค้าไปลาว และจีน

ทดลอง 1 ก.ย.นี้! ด่าน One stop service หนองคาย  ลดขั้นตอนส่งสินค้าไปลาวและจีน

นายกฯ สั่งการ ก.คลัง ดีเดย์ด่าน One stop service หนองคายทดลอง 1 ก.ย. นี้ ลดขั้นตอนส่งสินค้าไปลาว และจีน พร้อมสั่งกรมโรงงาน เร่งพิจารณาออกใบอนุญาต รง. 4 ให้ผู้ประกอบการตั้งโรงงานโดยแล้วเสร็จภายใน 30 วัน

วันนี้ (7 พ.ค.67) นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานอนุกรรมการเร่งวางแผนการจัดตั้งศูนย์บริการการค้าชายแดนแบบเบ็ดเสร็จ หรือ One stop service  กล่าวภายหลังการประชุม ครม. ว่า เพื่อให้บริการแก่ประชาชน และผู้ประกอบการในรูปแบบในซิงเกิ้ลซัมมิทชัน โดยให้ทดลองระบบภายในวันที่ 1 กันยายน นี้ ที่ด่านศุลกากร จังหวัดหนองคาย ภายหลังจากที่ตนเองได้ลงพื้นที่ไปจังหวัดหนองคาย  ซึ่งเรื่องนี้ถือเป็นเรื่องสำคัญ เพราะไม่อยากให้การลงทุนโครงสร้างพื้นที่เป็นแสนล้าน แต่ต้องไปเสียเวลาที่ด่าน  และคอยเป็นเวลานานในขั้นตอนการส่งสินค้าไปยังลาว  เชื่อมจีน  โดยเฉพาะทุเรียนเป็นผลไม้ไทย ที่จะส่งไปยังประเทศจีน ที่ไม่อยากให้ผู้ประกอบการเสียผลประโยชน์ และหลังจากนั้น จะเปิดบริการอย่างเต็มรูปแบบภายในวันที่ 1 ตุลาคม นี้ โดยให้คณะอนุกรรมการเร่งพิจารณาในด่านศุลกากรอื่นๆ  ที่มีความพร้อมคู่ขนานไปด้วย
 

นายกฯ สั่งการให้กระทรวงอุตสาหกรรม เร่งแก้ไขปัญหาพร้อมจัดการเรื่องใบอนุญาตโรงงาน หรือ ใบ รง.4 ที่มีความล่าช้า และค้างในระบบเป็นจำนวนมากให้แล้วเสร็จภายใน 30 วัน เพื่อให้เกิดความสะดวก และรวดเร็วในการประกอบธุรกิจของภาคเอกชน  ซึ่งพบว่ามิได้รับการร้องเรียนเรื่องนี้มีใบอนุญาตค้างอยู่ประมาณกว่า 200 ใบ และได้รับรายงานเบื้องต้นว่ามีการตีกลับไปที่จังหวัดเป็นร้อยใบ  โดยค้างอยู่ที่กรมโรงงาน ซึ่งรัฐบาลไม่ต้องการให้เกิดเหตุการณ์เช่นนี้ แต่ต้องการให้เกิดการอนุมัติ ทำงานอย่างรวดเร็ว เพื่อให้เอกชนไปดำเนินงานสร้างโรงงาน พร้อมกับการสร้างงานสร้างอาชีพ  ทำให้เศรษฐกิจเจริญเติบโตได้ 
 

นายกฯ กล่าวต่อไปว่า การส่งเสริมนโยบายการท่องเที่ยวของรัฐบาล ได้ขอให้กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬา เร่งวางแผนการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ของปีนี้ อย่างเต็มรูปแบบ ทั้งด้านการบริการ สถานที่ ความปลอดภัย เพื่อดึงดูดให้นักท่องเที่ยวให้เกิดความประทับใจ 
 
นายกฯ กล่าวอีกว่า คณะรัฐมนตรียังเห็นชอบตามที่กระทรวงพลังงานเสนอมาตรการลดภาระค่าใช้จ่ายด้านพลังงานแก่ประชาชน ที่จะสิ้นสุดลงเพื่อบรรเทาผลกระทบค่าครองชีพของประชาชน และการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ โดยมี 3 มาตรการหลักดังนี้ 1.ตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกินลิตรละ  33 บาท  2.ราคาปลีกของก๊าซแอลพีจีขนาด 15 กิโลกรัม อยู่ที่ 423 บาท ต่อถัง และ 3.ลดราคาค่าไฟอยู่ที่ 19.05 สตางค์ต่อหน่วยกับผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านเรือนไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ทั้งนี้การตรึงราคาน้ำมันดีเซล ไม่เกินลิตรละ 33 บาทใช้เงินจากกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง หากเงินไม่พอก็ต้องมาดูงบกลางไปช่วยเหลือต่อไป

 

 

 

พิสูจน์อักษร....สุรีย์  ศิลาวงษ์