ราชกิจจาฯประกาศ แนวทางปฏิบัติการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2567
ลงราชกิจจาฯ ประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้า แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2567
วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 เว็บไซต์ ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2567
ตามประกาศกระทรวงพาณิชย์ เรื่อง หลักเกณฑ์และวิธีการการจัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและการตรวจสอบมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทย พ.ศ. 2559 ลงวันที่ 30 กันยายน 2559 ข้อ 7 วรรคสาม กำหนดให้ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งมอบตัวอย่างสินค้าตามคำแนะนำของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ให้สำนักงานมาตรฐานสินค้าดำเนินการเพื่อตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรม นั้น
เพื่อให้เหมาะสมสอดคล้องกับสถานการณ์การค้าข้าวในปัจจุบัน และให้การตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมเป็นไปด้วยความโปร่งใส เป็นธรรมและมีประสิทธิภาพ สำนักงานมาตรฐานสินค้าจึงกำหนดแนวทางปฏิบัติในการดำเนินการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทยไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ให้ยกเลิกประกาศสำนักงานมาตรฐานสินค้า เรื่อง แนวทางปฏิบัติในการดำเนินการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย ลงวันที่ 3 มกราคม พ.ศ. 2550
ข้อ 2 ให้ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้าส่งมอบตัวอย่างสินค้าที่ดำเนินการตรวจสอบตามคำร้องขอให้ออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า (แบบ มส. 13/1) หรือเฉพาะรายการที่พนักงานเจ้าหน้าที่หรือพนักงานตรวจสอบมาตรฐานสินค้าร้องขอเพื่อดำเนินการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย
ข้อ 3 ให้สำนักงานมาตรฐานสินค้า ส่งตัวอย่างที่ได้รับมอบให้หน่วยงานที่สำนักงานมาตรฐานสินค้ามอบหมายทำการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทย
ข้อ 4 ให้ผู้ตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ทำตราประทับสินค้าหรือตู้คอนเทนเนอร์ที่บรรจุสินค้าซึ่งได้สุ่มเก็บตัวอย่างไว้จนกว่าจะทราบผลการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมข้าวหอมมะลิไทยว่ามีคุณภาพเป็นไปตามมาตรฐานสินค้าข้าวหอมมะลิไทยหรือเงื่อนไขที่กำหนด
ข้อ 5 ให้ผู้จัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทยรอผลการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมของสำนักงานมาตรฐานสินค้า ก่อนดำเนินการตามขั้นตอนในการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้า
ข้อ 6 ให้สำนักงานมาตรฐานสินค้า แจ้งผลการตรวจสอบเอกลักษณ์พันธุกรรมให้ผู้เกี่ยวข้องทราบโดยเร็ว
หากพบว่าสินค้ามีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานหรือเงื่อนไขที่กำหนด สำนักงานมาตรฐานสินค้าจะสั่งระงับการส่งออกและให้ผู้จัดให้มีการตรวจสอบสินค้ามาตรฐานนำสินค้าไปปรับปรุงคุณภาพ
ข้อ 7 กรณีถูกสั่งระงับการส่งออก ผู้จัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้ามีสิทธิอุทธรณ์ผลวิเคราะห์คุณภาพได้ โดยทำเป็นหนังสือยื่นต่อสำนักงานมาตรฐานสินค้าภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง
ข้อ 8 กรณีมีการอุทธรณ์ ให้นำตัวอย่างสินค้าตามข้อ 3 ที่สำนักงานมาตรฐานสินค้าผู้จัดให้มีการตรวจสอบมาตรฐานสินค้า และผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า ได้รับมอบตามข้อ 11 ของกฎกระทรวงการขอรับอนุญาตเป็นผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้าและการกำหนดเงื่อนไขการปฏิบัติงานของผู้ประกอบธุรกิจตรวจสอบมาตรฐานสินค้า พ.ศ. 2564 ฝ่ายละ 1 ตัวอย่าง มาตรวจสอบความถูกต้องสมบูรณ์ของตัวอย่าง ณ สำนักงานมาตรฐานสินค้า ก่อนนำตัวอย่างของทุกฝ่ายมาคลุกเคล้ารวมกันเป็นตัวอย่างเดียวกันและส่งให้หน่วยงานที่สำนักงานมาตรฐานสินค้ามอบหมาย ทำการตรวจวิเคราะห์ ทั้งนี้ ให้ถือผลวิเคราะห์ตัวอย่างชั้นอุทธรณ์เป็นที่สุด ให้ผู้ยื่นอุทธรณ์เป็นผู้รับภาระค่าใช้จ่ายค่าตรวจวิเคราะห์นั้น
ข้อ 9 หากผลการตรวจวิเคราะห์ตามข้อ 8 ปรากฏว่าสินค้ามีคุณภาพถูกต้องตามมาตรฐานหรือเงื่อนไขที่กำหนด สำนักงานมาตรฐานสินค้าจะดำเนินการยกเลิกการระงับการส่งออกโดยเร็วในกรณีเช่นนี้ให้ผู้เกี่ยวข้องดำเนินการตามขั้นตอนในการออกใบรับรองมาตรฐานสินค้าต่อไป
ทั้งนี้ ตั้งแต่บัดนี้เป็นต้นไป
ประกาศ ณ วันที่ 10 เมษายน พ.ศ. 2567
อ่านประกาศราชกิจจานุเบกษาฉบับเต็ม (คลิก)