เปิดประวัติ 'กฤษฎา จีนะวิจารณะ' หลังยื่นลาออก รมช.คลัง พร้อมเผยสาเหตุ

เปิดประวัติ 'กฤษฎา จีนะวิจารณะ' หลังยื่นลาออก รมช.คลัง พร้อมเผยสาเหตุ

เปิดประวัติ 'กฤษฎา จีนะวิจารณะ' หลังลาออก รมช.คลัง ปมไม่พอใจแบ่งงาน ในรัฐบาลเศรษฐา 2 ที่ได้ดูแลส่วนราชการเพียงหน่วยงานเดียว

วันนี้ (8 พฤษภาคม 2567) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) ได้ยื่นหนังสือ 'ลาออกจากตำแหน่ง' ซึ่งเป็นการลาออกหลังจากที่มีการปรับคณะรัฐมนตรี (ครม.) ของ รัฐบาลเศรษฐา ทวีสิน 2 โดยรายงานข่าวระบุว่าสาเหตุมาจากน้อยใจหลังมีการแบ่งงานให้กำกับดูแลส่วนราชการเพียงหน่วยงานเดียว

 

 

ประวัติ กฤษฎา จีนะวิจารณะ

กฤษฎา จีนะวิจารณะ ชื่อเล่น ตู่ ปัจจุบันอายุ 60 ปี เกิดเมื่อวันที่ 20 เมษายน พ.ศ. 2506 จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก คณะนิติศาสตร จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย และระดับปริญญาโท บริหารธุรกิจ Master of Business Administration M.B.A. จาก University of New Haven สหรัฐอเมริกา

 

 

ประวัติ กฤษฎา จีนะวิจารณะ รับราชการ

เมื่อจบการศึกษาจากสหรัฐอเมริกานายกฤษฎาก็ได้เข้ารับราชการในกระทรวงการคลังจนกระทั่งได้เป็นรองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ก่อนจะมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้เป็น ที่ปรึกษาด้านเศรษฐกิจการเงิน (เศรษฐกรทรงคุณวุฒิ) สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เมื่อวันที่ 19 กันยายน พ.ศ. 2554

ต่อมา คณะรักษาความสงบแห่งชาติ ได้มีคำสั่งให้นายกฤษฎาดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง แทนนายสมชัย สัจจพงษ์ ที่โยกไปดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมศุลกากร เมื่อวันที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ. 2557

จากนั้นในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2560 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งนายกฤษฎาให้เป็นอธิบดี กรมสรรพสามิต แทนนาย สมชาย พูลสวัสดิ์ ที่เกษียณอายุราชการ

ในวันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ. 2561 ได้มีพระราชโองการโปรดเกล้าฯ ให้นายกฤษฎาดำรงตำแหน่งอธิบดี กรมศุลกากร แทนนาย กุลิศ สมบัติศิริ ที่โอนไปรับราชการในตำแหน่ง ปลัดกระทรวงพลังงาน

ต่อมาในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันอังคารที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2563 ที่ประชุมมีมติให้นายกฤษฎาดำรงตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลังสืบแทนนาย ประสงค์ พูนธเนศ ปลัดกระทรวงการคลัง ที่เกษียณอายุราชการเมื่อวันที่ 30 กันยายน พ.ศ. 2563

ต่อมาในวันที่ 31 สิงหาคม พ.ศ. 2566 นายกฤษฎาได้ยื่นหนังสือลาออกจากราชการเพื่อมารับตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทำให้พ้นจากตำแหน่งปลัดกระทรวงการคลัง

วันที่ 1 กันยายน พ.ศ. 2566 นายกฤษฎาเริ่มดำรงตำแหน่ง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง และวันที่ 8 พฤษภาคม 2567 ได้ยื่นลาออกจากตำแหน่ง

 

ขณะที่ รายงานข่าวจากกระทรวงการคลังเปิดเผยว่า นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ลงนามคำสั่งมอบหมายงานให้กับ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ทั้ง 3 คน ในการกำกับดูแลส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐในกำกับกระทรวงการคลัง โดยมีผลตั้งแต่วันที่ 7 พฤษภาคม 2567 ดังนี้

 

  • นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) กำกับดูแล กรมศุลกากร , กรมสรรพากร , กรมสรรพสามิต , ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) , องค์การสุรา , โรงงานไพ่ และ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

สำหรับรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐในกำกับกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) , องค์การสุรา , โรงงานไพ่ และ กองทุนเงินให้กู้ยืมเพื่อการศึกษา (กยศ.)

 

  • นายเผ่าภูมิ โรจนสกุล รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) กำกับดูแล สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) , สำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) และ กรมธนารักษ์

สำหรับ รัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐในกำกับกระทรวงการคลัง ได้แก่ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) , กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) , บรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ ธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (ธพว.)

 

  • นายกฤษฎา จีนะวิจารณะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง (รมช.คลัง) กำกับดูแล สำนักงานบริหารหนี้สาธารณะ (สบน.)

ส่วนรัฐวิสาหกิจและหน่วยงานของรัฐในกำกับของกระทรวงการคลัง ได้แก่ การยาสูบแห่งประเทศไทย , สถาบันคุ้มครองเงินฝาก (สคฝ.) , บริษัท ทิพยประกันภัย จำกัด (มหาชน) , สำนักงานคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย (คปภ.) และ สำนักงานความร่วมมือพัฒนาเศรษฐกิจกับประเทศเพื่อนบ้าน (องค์การมหาชน) หรือ สพพ.

 

ขณะที่ นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง กำกับดูแล กรมบัญชีกลาง , สำนักงานสลากกินแบ่งรัฐบาล , ธนาคารกรุงไทย , ธนาคารออมสิน , ธนาคารอาคารสงเคราะห์ (ธอส.) และ ธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย (ไอแบงก์) ด้วยตนเอง