รับมือฤดูฝนปี 67 สทนช. วางแผนระบายน้ำเขื่อนเสี่ยงน้ำล้น ตรวจพนังกั้นน้ำ

รับมือฤดูฝนปี 67 สทนช. วางแผนระบายน้ำเขื่อนเสี่ยงน้ำล้น ตรวจพนังกั้นน้ำ

สทนช. เตรียมพร้อมรับมือฤดูฝนปี 67 วางแผนการระบายน้ำจากอ่างเก็บน้ำเสี่ยงน้ำล้น ตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำต่าง ๆ รองรับกรณีฝนตกหนัก รวมถึงเตรียมความพร้อมเครื่องมือและระบบแจ้งเตือนภัยต่าง ๆ เพื่อป้องกันผลกระทบต่อประชาชนให้ได้มากที่สุด

นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ขณะนี้ประเทศไทยอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านจากสภาวะเอลนีโญเข้าสู่สภาวะลานีญา ซึ่งการผันผวนของสภาพอากาศส่งผลให้มีฝนตกหนักในบางพื้นที่ โดยเมื่อวันที่ 13 พ.ค. ที่ผ่านมา มีพื้นที่บางแห่งที่มีปริมาณฝนกว่า 100 มิลลิเมตร และจากการติดตามคาดการณ์สภาพอากาศพบว่า ปัจจุบันมีหย่อมความกดอากาศต่ำกำลังแรงปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน ประเทศเมียนมา ส่งผลให้ลมตะวันตกเฉียงใต้มีกำลังแรงขึ้น ทำให้ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้มีฝนตกหนักถึงหนักมาก

ซึ่ง สทนช. ได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ในพื้นที่ 26 จังหวัด ช่วงระหว่างวันที่ 18 – 25 พ.ค. 67 เพื่อให้หน่วยงานต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องเฝ้าระวังและแจ้งเตือนภัยให้แก่ประชาชนในพื้นที่ดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ปัจจุบันในภาพรวมของประเทศยังคงมีปริมาณฝนต่ำกว่าค่าเฉลี่ย จึงทำให้มีสถานการณ์แล้งในบางพื้นที่ โดยล่าสุด ปภ. ได้ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติกรณีฉุกเฉิน (ภัยแล้ง) เพิ่มเติม ในพื้นที่ ต.ยางหัก อ.ปากท่อ จ.ราชบุรี ซึ่งประสบปัญหาขาดแคลนน้ำด้านอุปโภคบริโภคและด้านการเกษตร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะเร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์ให้กลับสู่สภาวะปกติ

“ใกล้เข้าสู่ช่วงฤดูฝนอย่างเป็นทางการของประเทศไทยแล้ว แต่คาดว่าในช่วง 3 เดือนแรกของฤดูฝนจะยังมีปริมาณฝนตกไม่มากนัก ประกอบกับพื้นดินที่แห้งในช่วงฤดูแล้งจะดูดซับน้ำฝนที่ตกลงมาทำให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำไม่มาก ซึ่งได้มีการเตรียมน้ำต้นทุนสำรองไว้สำหรับช่วงเวลาดังกล่าวแล้ว โดยปริมาณฝนจะเริ่มเพิ่มขึ้นตั้งแต่ช่วงเดือน ส.ค. 67 และในเดือน ต.ค. 67 จะมีฝนตกหนักในพื้นที่ภาคใต้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้มีการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนปี 67 และแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม

โดยได้มีการวางแผนปรับการระบายน้ำในอ่างฯ ที่มีความเสี่ยงเกิดภาวะน้ำล้น เช่น เขื่อนอุบลรัตน์ จ.ขอนแก่น เขื่อนบางลาง จ.ยะลา เขื่อนวชิราลงกรณ จ.กาญจนบุรี เป็นต้น และแผนระบายน้ำดังกล่าวจะมีการเสนอต่อคณะกรรมการลุ่มน้ำเพื่อพิจารณา โดยเน้นย้ำให้หน่วยงานมีการบริหารจัดการน้ำในอ่างฯ ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ เร่งตรวจสอบความมั่นคงของพนังกั้นน้ำต่าง ๆ เพื่อเตรียมรองรับกรณีเกิดน้ำหลากจากฝนตกหนัก

 

อีกทั้งจะมีการซักซ้อมร่วมกับหน่วยงานเตือนภัย เช่น กรมทรัพยากรน้ำ ในการดูแลเตรียมความพร้อมของเครื่องมือ ไปจนถึงระบบการแจ้งเตือนภัย และการเตรียมแผนเผชิญเหตุอุทกภัยของ ปภ. โดยในวันนี้ ปภ. ได้ประสานไปยังทุกจังหวัดให้มีการจัดทำแผนเผชิญเหตุอุทกภัยให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝนแล้ว ทั้งนี้ สทนช. จะมีการซักซ้อมความเข้าใจในการเตรียมรับมือสถานการณ์ในฤดูฝนร่วมกับผู้ว่าราชการจังหวัดในฐานะประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำ เพื่อป้องกันและบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดแก่ประชาชนได้อย่างมีประสิทธิภาพมากที่สุด” รองเลขาธิการ สทนช. กล่าว

นายไพฑูรย์ กล่าวในตอนท้ายว่า การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนที่จะถึงนี้ยังคงกำชับให้หน่วยงานวางแผนการใช้น้ำโดยคำนึงถึงปริมาณน้ำในฤดูแล้งถัดไปเพื่อป้องกันความเสี่ยงในการขาดแคลนน้ำ รวมทั้งคำนึงถึงโอกาสในการเกิดภาวะน้ำทะเลหนุนสูงช่วงฤดูแล้งซึ่งจะทำให้มีความเค็มรุกล้ำเข้ามาในแม่น้ำหรือคลองต่าง ๆ และจำเป็นจะต้องใช้ปริมาณน้ำมาผลักดันความเค็มเพื่อรักษาคุณภาพน้ำให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐานด้วย