ฤดูฝน 2567 สทนช. ประสานทุกหน่วยงานเดินหน้าตามแผน 10 มาตรการรับมือ ฝนตกหนัก
สทนช. ประสานทุกหน่วยงานร่วมบูรณาการบริหารจัดการน้ำรับมือ ฤดูฝน 2567 เดินหน้าแผนปฏิบัติการตาม 10 มาตรการรับมือ ฝนตกหนัก หวังลดพื้นที่น้ำท่วมและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด
วันที่ 17 พฤษภาคม 2567 นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ในฐานะโฆษก สทนช. เปิดเผยว่า กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) ได้คาดการณ์ว่า ประเทศไทยจะเริ่มเข้าสู่ 'ฤดูฝน 2567' ตั้งแต่ช่วงปลายเดือนพฤษภาคม 2567 เป็นต้นไป
ซึ่งใน ฤดูฝนปีนี้ 'ฤดูฝน' จะมีปริมาณฝนมากกว่าค่าเฉลี่ย และมีแนวโน้มเป็นปรากฏการณ์ลานีญา อาจเกิดภาวะน้ำท่วมในบางพื้นที่ได้ ซึ่ง สทนช. ได้ดำเนินการตามแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ภายใต้พระราชบัญญัติทรัพยากรน้ำ พ.ศ. 2561 โดยล่าสุดได้ออกประกาศเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำไหลหลาก ช่วงวันที่ 18 - 25 พฤษภาคม 2567 ในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออก และภาคใต้ พร้อมทั้งได้ขอความร่วมมือให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งขับเคลื่อน 10 มาตรการรับมือฤดูฝน 2567 และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำในช่วงฤดูฝน ปี 2567 และการกักเก็บน้ำเพื่อรองรับฤดูแล้ง ปี 2567/2568 ตามมติของคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) อย่างเคร่งครัด ตลอดจนให้หน่วยงานต่าง ๆ เร่งจัดทำแผนปฏิบัติการตามภารกิจให้สอดคล้องกับมาตรการรับมือฤดูฝนดังกล่าว และรายงานผลการดำเนินงานมายัง สทนช. ให้รับทราบอย่างต่อเนื่อง
นอกจากนี้ สทนช. ยังได้ทำหนังสือถึงกระทรวงมหาดไทย แจ้งผู้ว่าราชการจังหวัดทุกจังหวัด ในฐานะประธานคณะกรรมการลุ่มน้ำ บูรณาการหน่วยงานในพื้นที่ดำเนินงานตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 และมาตรการเตรียมความพร้อมป้องกันและแก้ไขปัญหาอุทกภัยตลอดช่วงฤดูฝนปีนี้ ตามนโยบายของรัฐบาลในการลดพื้นที่เกิดอุทกภัยในทุกลุ่มน้e ทั้งนี้ กระทรวงมหาดไทยได้สั่งการให้แต่ละจังหวัดตั้งศูนย์บัญชาการเหตุการณ์ โดยมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ร่วมเป็นคณะทำงาน เพื่อติดตาม วิเคราะห์ข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ และเหตุการณ์ที่อาจจะส่งผลให้เกิดสาธารณภัยในช่วงฤดูฝน รวมทั้งให้จัดทำแผนเผชิญเหตุ ตรวจสอบความมั่นคงแข็งแรงแหล่งกักเก็บน้ำ คันกั้นน้ำ การวางแผนการระบายน้ำ และการจัดหาพื้นที่รองรับน้ำเพิ่มขึ้น ตลอดจนการแจ้งเตือนภัยและการช่วยเหลือประชาชน โดยเฉพาะการแจ้งเตือนภัยจะต้องมีความรวดเร็ว แม่นยำ และทันต่อสถานการณ์
สำหรับพื้นที่ กรุงเทพมหานคร ได้ขอให้ กทม. เฝ้าระวังติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ เร่งรัดกำจัดวัชพืช ขยะ และสิ่งกีดขวางทางน้ำอื่น ๆ เตรียมความพร้อมทั้งด้านบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลให้เหมาะสม รวมทั้งเตรียมแผนในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง การจัดชุดปฏิบัติการ กำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดสูบน้ำเร่งทำการแก้ไขปัญหาตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะพื้นที่เขตชุมชนและพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ และที่สำคัญคือต้องเร่งสร้างการรับรู้ให้กับประชาชนให้ตระหนักรู้กรณีเกิดสถานการณ์อุทกภัย ฝนตกหนัก และมีน้ำท่วมขัง แจ้งช่องทางรับทราบข้อมูลสถานการณ์และแนวทางการเตรียมความพร้อมรับมือกับสถานการณ์ได้อย่างทันท่วงที
10 มาตรการรับมือ ฤดูฝน 2567 ได้แก่
- คาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วมและพื้นที่เสี่ยงฝนทิ้งช่วง
- ทบทวน ปรับปรุง เกณฑ์บริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำ อาคารควบคุมบังคับน้ำอย่างบูรณาการในระบบลุ่มน้ำและกลุ่มลุ่มน้ำ
- เตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ อาคารชลศาสตร์ ระบบระบายน้ำ โทรมาตร บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง และศูนย์อพยพให้สามารถรองรับสถานการณ์ในช่วงน้ำหลากและฝนทิ้งช่วง
- ตรวจสอบพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ
- เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำอย่างเป็นระบบ
- ซักซ้อมแผนเผชิญเหตุตั้งศูนย์ส่วนหน้าก่อนเกิดภัยและฟื้นฟูสภาพให้กลับสู่สภาพปกติ
- เร่งพัฒนาและเก็บกักน้ำในแหล่งน้ำทุกประเภทช่วงปลายฤดูฝน
- สร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์
- การสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์
- ติดตามประเมินผลปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่ออีกว่า แม้ขณะนี้จะมีฝนตกหนักหลายพื้นที่ แต่ด้วยสภาพดินที่แห้งแล้งมายาวนานหลายเดือน ทำให้น้ำฝนที่ตกลงมาซึมลงดินเกือบทั้งหมด ปริมาณน้ำท่าที่ไหลลงอ่างเก็บน้ำของเขื่อนต่าง ๆ ยังไม่มากนัก ดังนั้นเขื่อนแต่ละแห่งยังมีความจำเป็นจะต้องสำรองน้ำไว้เพื่อจัดสรรน้ำใช้ในช่วงต้นฤดูฝน คาดว่าประมาณเดือนสิงหาคม - ตุลาคม 2567 เมื่อดินชุ่มน้ำแล้ว จึงจะมีปริมาณน้ำท่าไหลเข้าเขื่อนมากขึ้น ทั้งนี้การบริหารจัดการน้ำในเขื่อนจะต้องสอดคล้องกับปริมาณฝนและปริมาณน้ำท่าในช่วงนั้น ๆ ด้วย สทนช.ได้เน้นย้ำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องวางแผนบริหารจัดการน้ำล่วงหน้า 2 ปี โดยต้องคำนึงถึงปริมาณน้ำต้นทุนที่จะสำรองไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง ปี 2567/68 ให้ปริมาณน้ำมีเพียงพอใช้ในทุกกิจกรรม โดยเฉพาะการรักษาระบบนิเวศ การผลักดันน้ำเค็ม การอุปโภคบริโภค และการผลิตน้ำประปา เพื่อสร้างความมั่นคงเรื่องน้ำให้กับประเทศอย่างยั่งยืน