ปภ. เตือน 27 จังหวัด เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก ช่วง 20 – 26 พ.ค. 67
ปภ. แจ้ง 27 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ค. 67
วันนี้ (19 พ.ค. 67) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) แจ้ง 27 จังหวัดในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ เฝ้าระวังสถานการณ์น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขังและคลื่นลมแรง ในช่วงวันที่ 20 – 26 พ.ค. 67 โดยจัดเจ้าหน้าที่ติดตาม สภาพอากาศ ปริมาณฝน และแนวโน้มสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด พร้อมจัดชุดเคลื่อนที่เร็ว เครื่องมืออุปกรณ์ประจำพื้นที่เสี่ยงให้พร้อมปฏิบัติการเผชิญเหตุและช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมถึงแจ้งเตือนประชาชนติดตามพยากรณ์อากาศและปฏิบัติตามประกาศเตือนภัยอย่างเคร่งครัด
นายไชยวัฒน์ จุนถิระพงศ์ อธิบดีกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เปิดเผยว่า กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก.) ได้ติดตามสภาวะอากาศและพิจารณาปัจจัยเสี่ยง ประกอบกับ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้มีประกาศฉบับที่ 1 (93/2567) ลงวันที่ 18 พฤษภาคม 2567 เวลา 05.00 น. แจ้งว่า ในช่วงวันที่ 20 - 23 พฤษภาคม 2567 ลมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้น ประกอบกับในช่วงวันที่ 22 - 26 พฤษภาคม 2567 จะมีหย่อมความกดอากาศต่ำปกคลุมบริเวณอ่าวมะตะบัน สาธารณรัฐแห่งสหภาพเมียนมา และมีแนวโน้มจะทวีกำลังแรงขึ้น ทำให้มีฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางพื้นที่ในด้านตะวันตกของภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ฝั่งตะวันตก
สำหรับคลื่นลมบริเวณทะเลอันดามันและอ่าวไทยจะมีกำลังแรงขึ้นในช่วงวันที่ 21 - 26 พฤษภาคม 2567 โดยบริเวณทะเลอันดามันตอนบนมีคลื่นสูง 2 - 3 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 3 เมตร ส่วนทะเลอันดามันตอนล่างมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร สำหรับอ่าวไทยทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งคลื่นสูง 1 - 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร โดยมีพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์ระหว่างวันที่ 20 - 26 พฤษภาคม 2567 แยกเป็น
พื้นที่เฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก และน้ำท่วมขัง
ภาคเหนือ 13 จังหวัด ได้แก่
- แม่ฮ่องสอน (อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน อำเภอขุนยวม อำเภอแม่ลาน้อย อำเภอแม่สะเรียง อำเภอสบเมย)
- เชียงใหม่ (อำเภอฝาง อำเภออมก๋อย อำเภอจอมทอง)
- เชียงราย (อำเภอแม่สาย อำเภอเชียงแสน อำเภอแม่จัน อำเภอแม่สรวย)
- ลำพูน (อำเภอเมืองลำพูน อำเภอลี้ อำเภอทุ่งหัวช้าง)
- ลำปาง (อำเภอเมืองลำปาง อำเภอวังเหนือ อำเภอเมืองปาน อำเภอเถิน อำเภอเกาะคา อำเภอแม่พริก)
- พะเยา (อำเภอปง อำเภอเชียงคำ อำเภอจุน อำเภอภูกามยาว)
- แพร่ (อำเภอวังชิ้น อำเภอร้องกวาง อำเภอลอง อำเภอเด่นชัย)
- น่าน (อำเภอปัว อำเภอบ่อเกลือ อำเภอเชียงกลาง อำเภอทุ่งช้าง อำเภอท่าวังผา อำเภอเฉลิมพระเกียรติ อำเภอสองแคว)
- อุตรดิตถ์ (อำเภอท่าปลา อำเภอน้ำปาด อำเภอตรอน)
- ตาก (อำเภอท่าสองยาง อำเภอแม่ระมาด อำเภอแม่สอด อำเภอพบพระ อำเภออุ้มผาง)
- สุโขทัย (อำเภอเมืองสุโขทัย อำเภอทุ่งเสลี่ยม อำเภอบ้านด่านลานหอย อำเภอศรีสัชนาลัย)
- พิษณุโลก (อำเภอวังทอง อำเภอเนินมะปราง อำเภอนครไทย อำเภอชาติตระการ อำเภอวัดโบสถ์)
- เพชรบูรณ์ (อำเภอเมืองเพชรบูรณ์ อำเภอเขาค้อ อำเภอวังโป่ง อำเภอชนแดน อำเภอบึงสามพัน อำเภอวิเชียรบุรี อำเภอหนองไผ่)
ภาคกลาง 6 จังหวัด ได้แก่
- กาญจนบุรี (อำเภอทองผาภูมิ อำเภอสังขละบุรี อำเภอไทรโยค)
- ราชบุรี (อำเภอสวนผึ้ง อำเภอบ้านคา)
- ชลบุรี (อำเภอเมืองชลบุรี อำเภอบางละมุง อำเภอศรีราชา)
- ระยอง (อำเภอเมืองระยอง อำเภอแกลง อำเภอบ้านค่าย อำเภอปลวกแดง)
- จันทบุรี (อำเภอเมืองจันทบุรี อำเภอมะขาม อำเภอขลุง อำเภอโป่งน้ำร้อน)
- ตราด (อำเภอเมืองตราด อำเภอเขาสมิง อำเภอบ่อไร่)
ภาคใต้ 8 จังหวัด ได้แก่
- ชุมพร (อำเภอพะโต๊ะ)
- สุราษฎร์ธานี (อำเภอพนม อำเภอบ้านตาขุน อำเภอเกาะพะงัน อำเภอเกาะสมุย)
- ระนอง (ทุกอำเภอ)
- พังงา (อำเภอเมืองพังงา อำเภอคุระบุรี อำเภอตะกั่วป่า อำเภอกะปง อำเภอท้ายเหมือง)
- ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
- กระบี่ (อำเภอเมืองกระบี่ อำเภอเหนือคลอง อำเภออ่าวลึก อำเภอคลองท่อม อำเภอปลายพระยา อำเภอเกาะลันตา อำเภอเขาพนม)
- ตรัง (อำเภอเมืองตรัง อำเภอปะเหลียน อำเภอนาโยง อำเภอกันตัง อำเภอห้วยยอด อำเภอหาดสำราญ อำเภอรัษฎา อำเภอวังวิเศษ)
- สตูล (อำเภอเมืองสตูล อำเภอควนโดน อำเภอควนกาหลง อำเภอทุ่งหว้า อำเภอมะนัง)
พื้นที่เฝ้าระวังคลื่นลมแรง
ภาคใต้ 3 จังหวัด ได้แก่
- ระนอง (อำเภอเมืองระนอง อำเภอสุขสำราญ อำเภอกะเปอร์)
- พังงา (อำเภอเมืองพังงา อำเภอ เกาะยาว อำเภอทับปุด อำเภอตะกั่วทุ่ง อำเภอท้ายเหมือง อำเภอตะกั่วป่า อำเภอคุระบุรี)
- ภูเก็ต (ทุกอำเภอ)
กองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยกลาง (กอปภ.ก) โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) จึงได้ประสานแจ้ง 27 จังหวัดในภาคเหนือ ภาคกลาง และภาคใต้ รวมถึงศูนย์ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยเขตในพื้นที่เสี่ยงภัยเตรียมพร้อมรับมือฝนตกหนักที่อาจทำให้เกิดน้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมขัง และคลื่นลมแรง
โดยกำชับให้จัดเจ้าหน้าที่ติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์ภัยอย่างใกล้ชิด ตลอด 24 ชั่วโมง โดยเฉพาะการติดตามปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่แต่ละจุดอย่างใกล้ชิด รวมถึงเฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงฝนตกหนักหรือบริเวณฝนสะสม ซึ่งอาจทำให้เกิดอุทกภัยได้
สำหรับสถานที่ท่องเที่ยวทางธรรมชาติ โดยเฉพาะถ้ำน้ำตก ถ้ำลอด หากมีฝนตกหนักมีความเสี่ยงที่จะเกิดภัยให้ผู้ว่าราชการจังหวัดสั่งการหน่วยงานที่รับผิดชอบ ประกาศแจ้งเตือนและปิดกั้นพื้นที่ห้ามบุคคลใดเข้าพื้นที่โดยเด็ดขาด พร้อมทั้งจัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงภัยดังกล่าว ตลอด 24 ชั่วโมง
สำหรับพื้นที่ที่มีสถานการณ์น้ำท่วมขัง ขอให้ระมัดระวังอันตรายจากกระแสไฟฟ้ารั่ว ในกรณีที่มีความเสี่ยงจะเกิดอันตรายให้ตัดกระแสไฟฟ้าทันที ทั้งนี้ ได้กำชับให้จัดทีมปฏิบัติการพร้อมเครื่องจักรกลด้านสาธารณภัยเข้าประจำพื้นที่เสี่ยงเพื่อเข้าเผชิญเหตุและให้การช่วยเหลือประชาชนได้อย่างทันท่วงที
สำหรับพื้นที่เฝ้าระวังสถานการณ์คลื่นลมแรง ให้จังหวัดออกประกาศหรือติดตั้งสัญญาณการแจ้งเตือนประชาชนบริเวณชายฝั่งทะเล และแจ้งนักท่องเที่ยวห้ามลงเล่นน้ำทะเลในช่วงที่มีคลื่นลมแรงโดยเด็ดขาด พร้อมประสานกรมเจ้าท่า กองทัพเรือ ตำรวจน้ำ แจ้งเตือนการเดินเรือ โดยให้ชาวเรือ ผู้บังคับเรือ ผู้ประกอบการเดินเรือโดยสาร เดินเรือด้วยความระมัดระวังให้มากขึ้น และหากสถานการณ์ในพื้นที่มีแนวโน้มรุนแรงให้พิจารณาห้ามการเดินเรือออกจากฝั่งโดยเด็ดขาด
นอกจากนี้ ให้จังหวัดแจ้งเตือนประชาชนที่อยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยทราบล่วงหน้า และแจ้งกองอำนวยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยอำเภอ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และประชาชนในพื้นที่เสี่ยงภัยให้ติดตามข้อมูลสภาวะอากาศ และข่าวสารจากทางราชการอย่างใกล้ชิด ตลอดจนเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ภัยที่อาจเกิดขึ้น โดยประชาชนสามารถติดตามประกาศการแจ้งเตือนภัยที่แอปพลิเคชัน “THAI DISASTER ALERT” และหากความเดือดร้อนจากสามารถแจ้งเหตุและขอความช่วยเหลือทางไลน์ “ปภ.รับแจ้งเหตุ1784” โดยเพิ่มเพื่อน Line ID @1784DDPM รวมถึง สายด่วนนิรภัย1784 ตลอด 24 ชั่วโมง เพื่อประสานให้การช่วยเหลือต่อไป