ห่วงน้ำท่วมกรุงเทพ สั่งมาตรการรับฝน เร่งวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
นายกฯ ห่วงน้ำท่วมกรุงเทพฯ สั่งเดินหน้ามาตรการรับฝน สทนช. รับลูกบูรณาการหน่วยงานวางแผนบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ
“นายกรัฐมนตรี” ห่วงฝนตกหนักท่วม กทม. สั่งการทุกหน่วยเร่งเดินหน้า 10 มาตรการรับมือฤดูฝน สทนช.รับลูกผนึกกำลังเร่งบูรณาการวางแผนทั้งระบบ ป้องกันไม่ให้ 3 น้ำคือ น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน น้ำฝน มาบรรจบกัน พร้อมเดินหน้าสร้างกระบวนการรับรู้ภาคประชาชน มั่นใจช่วยลดความเสียหายและสภาวะน้ำท่วมได้มีประสิทธิภาพ
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์น้ำในฤดูฝนและสภาวะลานีญาที่เกิดขึ้นในปีนี้ ซึ่งจะทำให้ประเทศไทยมีฝนตกมากกว่าปีที่ผ่านมาประมาณ 10% นั้น เมื่อเร็วๆ นี้ นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงสถานการณ์ดังกล่าวที่อาจกระทบพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล จึงได้เรียกหน่วยที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น กรุงเทพมหานคร (กทม.) สทนช. กระทรวงมหาดไทย กระทรวงกลาโหม กรมราชทัณฑ์ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) เป็นต้น
ร่วมประชุมหารือเพื่อเตรียมการรับมือปัญหาน้ำท่วม โดยได้กำชับให้ กทม. และ สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดและดำเนินการตาม 10 มาตร การฤดูฝน ปี 2567 อย่างเคร่งครัด พร้อมบูรณาการทุกหน่วยงานวางแผนจัดลำดับความสำคัญในการบริหารจัดการน้ำและการให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่เสี่ยงที่เป็นชุมชนแออัดเป็นหลัก เพราะทุกครั้งที่ฝนตกเกิดน้ำท่วมขังในพื้นที่ชุมชน ประชาชนใช้ชีวิตประจำวันได้ยากลำบากมาก
จึงขอให้หน่วยงานจัดทำแผนอย่างรัดกุมเพื่อแก้ไขปัญหาได้อย่างรวดเร็วและตรงจุด พร้อมให้เร่งขุดลอกคูคลองและสร้างคันกั้นน้ำให้แล้วเสร็จภายในเดือนมิถุนายน 2567 ก่อนที่ฝนจะตกหนักในช่วงเดือนกันยายน 2567 ตลอดจนการเตรียมความพร้อมของระบบระบายน้ำและสถานีสูบน้ำ โดยเฉพาะอุโมงค์ระบายน้ำ ให้สามารถใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
นอกจากนี้ นายกรัฐมนตรียังได้กำชับให้ กทม. เร่งรัดการจัดทำแผนปฏิบัติการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนของรัฐบาลเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับ กทม. ไม่ว่าจะเป็นการคาดการณ์ชี้เป้าและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม การเตรียมความพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือ ระบบระบายน้ำ บุคลากรประจำพื้นที่เสี่ยง ตรวจสอบความพร้อมติดตามความมั่นคงปลอดภัย คันกั้นน้ำ ทำนบ พนังกั้นน้ำ เพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำของทางน้ำ พร้อมสร้างความเข้มแข็งเครือข่ายภาคประชาชนในการให้ข้อมูลสถานการณ์น้ำที่ถูกต้อง และการสร้างการรับรู้ ศูนย์บริการข้อมูลสถานการณ์น้ำและประชาสัมพันธ์ ตลอดจนการติดตามประเมินผลและปรับมาตรการให้สอดคล้องกับสถานการณ์ภัย เป็นต้น พร้อมรายงานให้ สทนช. รับทราบอย่างต่อเนื่อง
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สาเหตุหลักที่ทำให้น้ำท่วมกรุงเทพฯและปริมณฑลนั้น มาจาก 3 สาเหตุคือ 1.น้ำเหนือ ที่ไหลมาจากภาคเหนือและภาคกลางตอนบน 2.น้ำทะเลหนุน และ 3.น้ำฝนที่ตกหนักในพื้นที่ ดังนั้นการแก้ปัญหาจะต้องบูรณาการร่วมกันทำงานวางแผนรับมืออย่างเป็นระบบ ตั้งแต่พื้นที่ตอนบน ตอนกลาง และตอนล่าง ก่อนระบายน้ำออกสู่ทะเล โดย กทม. และกรมชลประทาน จะมีการติดตามสถานการณ์น้ำเหนืออย่างใกล้ชิดและกำหนดเกณฑ์ในการบริหารจัดการน้ำร่วมกัน ซึ่งในพื้นที่ตอนบน กรมชลประทานจะมีการตัดยอดน้ำและหน่วงน้ำโดยใช้แก้มลิง เช่น ทุ่งบางระกำ บึงราชนก บึงบอระเพ็ด เป็นต้น คาดว่าจะสามารถกักเก็บน้ำได้มากกว่า 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตร แล้วค่อยๆ ปล่อยลงมาสู่พื้นที่ตอนกลางและตอนล่าง
ส่วนพื้นที่ตอนกลางจะวางแผนจัดจราจรการระบายน้ำ โดยผันน้ำส่วนหนึ่งออกฝั่งตะวันออกผ่านคลองชัยนาท-ป่าสัก และออกฝั่งตะวันตกผ่านคลองมะขามเฒ่า แม่น้ำท่าจีน และแม่น้ำน้อย เพื่อลดปริมาณน้ำเหนือที่จะไหลผ่านกรุงเทพฯและปริมณฑลได้อีกด้วย
สำหรับพื้นที่ตอนล่าง กทม. ได้เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังจุดเสี่ยงน้ำท่วม ซึ่งมีทั้งหมด 737 จุด โดยเร่งตรวจสอบจุดรั่วซึมของแนวป้องกันน้ำท่วม ตลอดริมแม่น้ำเจ้าพระยา คลองบางกอกน้อยและคลองมหาสวัสดิ์ พร้อมจัดเรียงกระสอบทรายในบริเวณที่ไม่มีแนวป้องกันถาวร แนวฟันหลอและบริเวณแนวป้องกันที่มีระดับต่ำ และตรวจสอบสถานีสูบน้ำให้พร้อมใช้งานตลอด 24 ชั่วโมง รวมทั้งการติดตามข้อมูลสภาพอากาศ สถานการณ์น้ำ เร่งรัดกำจัดวัชพืช ขยะและสิ่งกีดขวางทางน้ำอื่นๆ ตลอดจนการประสานขอความร่วมมือจากกรมราชทัณฑ์และกองทัพบก เพื่อเร่งขุดลอกท่อระบายน้ำทั่วกรุงเทพฯ นอกจากนี้ ได้เตรียมพร้อมทั้งด้านบุคลากร วัสดุ อุปกรณ์ และเครื่องจักรกลที่เหมาะสม พร้อมกำชับเจ้าหน้าที่ประจำจุดสูบน้ำให้สามารถเร่งแก้ไขปัญหาได้ตามแผนที่กำหนดไว้ โดยเฉพาะพื้นที่เขตชุมชนและพื้นที่ที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ รวมทั้งการเตรียมแผนในการบูรณาการร่วมกับหน่วยงานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น กรมทางหลวง ในการช่วยเร่งระบายน้ำท่วมถนน เป็นต้น
“กรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่ต่ำ อยู่บริเวณปากแม่น้ำ หากน้ำทั้ง 3 น้ำคือ น้ำเหนือ น้ำทะเลหนุน และน้ำฝนที่ตกหนักในพื้นที่เกิดขึ้นพร้อมๆ กันแล้ว จะส่งผลให้ภาวะน้ำท่วมรุนแรงขึ้นทันที ดังนั้น สทนช. จะติดตามสถานการณ์น้ำและผลการดำเนินการตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝนจากทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องอย่างใกล้ชิด อีกทั้งต้องเร่งเดินหน้าสร้างความเข้มแข็งของเครือข่ายภาคประชาชนในการช่วยบอกต่อข่าวสารหรือข้อมูลสถานการณ์น้ำที่ถูกต้องให้กับคนในชุมชนเอง รวมทั้งให้คนในชุมชนช่วยเฝ้าระวังและแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงหรือแนวคันกั้นน้ำชำรุด กลับมายัง สทนช. เพื่อประสานหน่วยงานที่รับผิดชอบดำเนินการซ่อมแซมแก้ไขได้ทันเวลา ซึ่งมั่นใจว่าจะสามารถช่วยลดผลกระทบและบรรเทาความเสียหายที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ สทนช. ในตอนท้าย