สทนช. เตรียมรับมือน้ำหลาก ย้ำแจ้งเตือนล่วงหน้า 72 ชม. ลดเสียหายให้มากที่สุด
สทนช. ซักซ้อมเตรียมรับมือสถานการณ์น้ำในฤดูฝนปี 67 เน้นย้ำให้มีการแจ้งเตือนภัยล่วงหน้า 72 ชม. เพื่อลดความเสียหายให้ได้มากที่สุด พร้อมขอให้ประชาชนติดตามข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด
วันนี้ (12 มิ.ย. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมชลประทาน การประปานครหลวง การประปาส่วนภูมิภาค สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุมผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์
โดยรองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีฝนตกหนักในบางพื้นที่ โดยส่วนใหญ่เป็นพื้นที่บริเวณขอบของประเทศ ในขณะที่ตอนกลางของประเทศมีฝนตกไม่มากนัก โดยในระหว่างวันที่ 5 – 12 มิ.ย. 67 มีพื้นที่เกิดสถานการณ์อุทกภัย 10 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 6 จังหวัด ในพื้นที่ จ.เชียงราย จ.แม่ฮ่องสอน จ.ลำปาง จ.น่าน จ.พะเยา จ.ตาก ภาคกลาง 2 จังหวัด ในพื้นที่ จ.สุพรรณบุรี จ.นครปฐม และภาคตะวันออก 2 จังหวัด ในพื้นที่ จ.จันทุบรี จ.ตราด โดยเป็นสถานการณ์น้ำหลากและน้ำท่วมขังในพื้นที่การเกษตร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งให้ความช่วยเหลือเพื่อคลี่คลายสถานการณ์อย่างเต็มที่
โดยปัจจุบันยังคงเหลือสถานการณ์ในพื้นที่ 3 จังหวัด ได้แก่ จ.สุพรรณบุรี จ.จันทบุรี และ จ.ตราด และจากสถานการณ์ฝนตกในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ส่งผลให้มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ทั้ง 35 แห่ง เพิ่มเติมอีกจำนวน 428 ล้านลูกบาศก์เมตร ซึ่งพื้นที่ที่มีปริมาณน้ำไหลเข้าอ่างฯ มากที่สุดคือพื้นที่ภาคตะวันตกและภาคเหนือ ตามลำดับ และสำหรับช่วงวันที่ 13 – 18 มิ.ย. 67 กรมอุตุนิยมวิทยาและ สสน. คาดการณ์ว่าฝนจะมีการตกแบบกระจาย ทั้งในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือตอนบน ภาคกลาง และภาคตะวันออก และจะมีฝนตกหนักในบริเวณชายขอบของประเทศฝั่งตะวันตก ตั้งแต่ภาคเหนือจนถึงภาคใต้ ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะมีการเฝ้าระวังและเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์อย่างใกล้ชิด
“ฤดูฝนในปีนี้คาดว่าจะปริมาณฝนมากกว่าค่าปกติประมาณ 5 – 10% โดยคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ได้เร่งรัดให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีการดำเนินการเตรียมรับมือฤดูฝนให้เป็นไปตาม 10 มาตรการรับมือฤดูฝน ปี 2567 ซึ่ง สทนช. ได้มีการซักซ้อมร่วมกับหน่วยงานปฏิบัติทั้งในเรื่องของการคาดการณ์ การบริหารจัดการน้ำ การแจ้งเตือนภัย โดยได้มีการวางแผนเตรียมพร้อมไว้ล่วงหน้าและจะมีการปรับการบริหารจัดการน้ำให้เข้ากับบริบทของพื้นที่ในแต่ละสถานการณ์ รวมทั้งในแต่ละพื้นที่จะมีการซักซ้อมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ด้วยเช่นกัน
นอกจากนี้ คณะกรรมการลุ่มน้ำทั้ง 22 ลุ่มน้ำ ยังได้จัดทำแผนป้องกันและแก้ไขภาวะน้ำท่วม ซึ่ง กนช. ได้มีมติเห็นชอบแล้ว โดยจะมีการนำแผนดังกล่าวไปดำเนินการร่วมกับมาตรการรับมือฤดูฝน ซึ่งศูนย์บริหารจัดการของแต่ละลุ่มน้ำจะทำงานเชื่อมโยงกับศูนย์อำนวยการน้ำแห่งชาติ สทนช. โดยจะมีการนำนวัตกรรมต่าง ๆ เช่น แบบจำลอง ผังน้ำ มาใช้เพื่อให้สามารถรับมือสถานการณ์น้ำได้อย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นด้วย” นายไพฑูรย์ กล่าว
รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า ในที่ประชุมวันนี้ยังได้มีการติดตามสภาพของเครื่องจักร เครื่องมือต่าง ๆ เช่น สถานีสูบน้ำ ประตูน้ำ เพื่อให้มีความพร้อมใช้งานได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ และสำหรับจุดที่ยังขาดความพร้อมในการใช้งาน เช่น ประตูน้ำกลางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ กรมชลประทานจะเร่งดำเนินการปรับปรุงแก้ไขโดยเร็ว นอกจากนี้ สทนช. ได้เน้นย้ำในเรื่องของการแจ้งเตือนภัยให้มีการเตือนภัยล่วงหน้า 72 ชั่วโมงหรือ 3 วัน เพื่อช่วยลดความเสียหายที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุด โดยขอให้ประชาชนมีความมั่นใจในการเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ฤดูฝนของหน่วยงานภาครัฐและขอให้ติดตามข้อมูลข่าวสารจากภาครัฐอย่างใกล้ชิด ทั้งนี้ นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรี จะมีการเรียกประชุมเพื่อติดตามการดำเนินงานตามมาตรการรับมือฤดูฝนของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ในเร็วๆ นี้