กยท. จับมือ TFEX เซ็น MOU พัฒนาสูตรคำนวณราคาอ้างอิงยางส่งออก
กยท. ลุยพัฒนายางพาราไทยต่อเนื่อง ล่าสุดเดินหน้า ผนึกกำลัง TFEX ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) “การพัฒนาการคำนวณราคายาง” เพื่อกำหนดราคาอ้างอิงยางส่งออก มุ่งสะท้อนต้นทุนที่แท้จริงของเกษตรกรและผู้ผลิตยาง ยกระดับความเชื่อมั่นพร้อมแสดงจุดยืนยางไทย
วันนี้ (12 มิ.ย. 67) การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ร่วมกับ บริษัท ตลาดสัญญาซื้อขายล่วงหน้า (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) (TFEX) ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ ( MOU ) "การพัฒนาการคำนวณราคายาง โดย นายณกรณ์ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท. และ ดร. รินใจ ชาครพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ TFEX ณ หอประชุมศุกรีย์ แก้วเจริญ ชั้น 3 ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย
นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการ กยท.กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงระหว่าง กยท. และ TFEX เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ และวิธีการคิดกำหนดราคาอ้างอิงซื้อขายยางพาราด้วย ถือเป็นการตอบโจทย์ และสร้างความเชื่อมั่นให้มากขึ้นกับทุกฝ่ายที่เกี่ยวกับได้มีราคาอ้างอิงที่เป็นมาตรฐาน สามารถใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจของผู้ซื้อและผู้ขาย
จากกิจกรรมการพัฒนาต่าง ๆ ที่ กยท. ได้ดำเนินการมาอย่างต่อเนื่อง ได้ส่งผลดีต่ออุตสาหกรรมยางพาราของประเทศไทย อย่างในเรื่องของราคากลางยางพารา เห็นได้ว่าปัจจุบันหลาย ๆ บริษัท ให้ความเชื่อมั่น มีการนำราคากลางของ กยท. ไปใช้ในการอ้างอิงการซื้อขาย ซึ่งการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ จึงเป็นอีกก้าวสำคัญที่ช่วยนำไปสู่การสร้างความน่าเชื่อถือในการกำหนดราคายางเพื่อใช้อ้างอิงเพื่อซื้อขายเพื่อส่งออกต่างประเทศได้มากขึ้น ตอกย้ำจุดยืน และการแสดงบทบาทการเป็นผู้นำด้านยางพาราของประเทศไทยมากขึ้น”นายณกรณ์ กล่าว
นายณกรณ์ กล่าวเพิ่มเติมถึงทิศทางราคายางพาราว่า จากการตัวเลขคาดการณ์ของ ANRPC คาดว่า ในปีนี้ปริมาณความต้องการใช้ยางพาราจะสูงกว่าปริมาณผลผลิตยางพาราที่มีอยู่ทั่วโลก อีกทั้งผู้ผลิตยางในหลายประเทศได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศ กยท.คาดว่าปริมาณผลผลิตยางพาราในภาพรวมจะมีปริมาณลดลง จากสภาพการณ์ดังกล่าว จึงได้ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตไม่เพียงพอกับความต้องการ ดังเห็นได้จากแม้ในช่วงนี้จะเป็นช่วงที่ผลผลิตยางพาราออกมาสู่ตลาดมากขึ้น แต่ราคาก็ยังคงปรับตัวสูงขึ้นต่อเนื่องในระดับที่น่าพอใจ
ด้าน ดร. รินใจ ชาครพิพัฒน์ กรรมการผู้จัดการ TFEX กล่าวว่า TFEX เห็นด้วยที่ กยท. มีนโยบายมุ่งพัฒนาราคาอ้างอิงยาง ซึ่งจะส่งผลดีต่อประเทศไทยในฐานะผู้ผลิตยางพารา โดยต้องให้ความสำคัญในเรื่องวิธีการคำนวณที่มีมาตรฐาน และมีความโปร่งใส โดย กยท. จะสนับสนุนข้อมูลตัวเลขต่าง ๆ เพื่อนำมาใช้ในการคำนวณหาราคาอ้างอิง และทาง TFEX เป็นผู้คำนวณราคาดังกล่าว ซึ่งทั้ง 2 หน่วยงานจะเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ราคาอ้างอิงผ่านทางเว็บไซต์ของ TFEX (www.TFEX.co.th) และเว็บไซต์ของ กยท. (www.raot.co.th)
“ภายใต้ความร่วมมือในครั้งนี้ ได้มีการตั้งคณะทำงานหรือ Committee เพื่อหารือและทำงานร่วมกัน ประกอบด้วย 3 ส่วนหลัก คือกยท. TFEX และภาคเอกชนที่เป็นผู้ประกอบการ เพื่อให้ได้ข้อมูลและมุมมองที่ครบถ้วน รวมถึงแนวทางในการพัฒนาราคาอ้างอิงอื่น ๆ ที่จะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย” ดร. รินใจ กล่าว