คดีประมูลซื้อข้าวเหนียว แต่มีข้าวปลอมปนและข้าวเจ้าค่อนกอง
ปี 2557 รัฐบาลใหม่ที่เข้ามาบริหารประเทศต่อจากรัฐบาลชุดที่แล้ว ต้องรับผิดชอบข้าวสารในสต๊อกของรัฐ จากโครงการรับจำนำข้าวของรัฐบาลชุดที่แล้วที่เก็บรักษาในคลังสินค้ากลาง ประมาณ18 ล้านตันเศษ จึงต้องรีบระบายข้าวในสต๊อกดังกล่าว
เพื่อลดค่าใช้จ่ายในการเก็บและดูแลรักษา โดยจัดให้มีการตรวจสอบปริมาณและคุณภาพข้าวในสต๊อก เพื่อประโยชน์ในการระบายข้าวต่อไป การระบายข้าวในสต๊อกของรัฐดังกล่าว ดำเนินการโดยการเปิดประมูล การประมูลขายข้าวในสต๊อกของรัฐมีข้อพิพาทเกิดขึ้นหลายกรณี
ข้อพิพาทที่สำคัญคือ ข้าวที่ผู้ประมูลได้ไม่ใช่ข้าวชนิดที่เปิดประมูล เช่น ข้าวหอมมะลิไทย แต่เป็นข้าวขาวหรือปลายข้าว ข้าวเหนียวขาวเป็นข้าวเจ้า
กรณีประมูลซื้อข้าวเหนียวขาว 10% แต่ในกองค่อนกองเป็นข้าวเจ้าและข้าวปลอมปน เป็นข้อพิพาทที่เป็นคดีที่มีการฟ้องร้องสู้คดีกันจนถึงศาลฎีกา ซึ่งมีข้อเท็จจริงจากคำพิพากษาโดยสรุป ดังนี้
เมื่อวันที่ 16 มี.ค.2557 กรมการค้าออกประกาศประมูลขายข้าวในสต๊อกของรัฐเป็นการทั่วไป ครั้งที่ 2/2559 บริษัท ซิงตั๊ก กรุ๊ป จำกัด ซึ่งได้รับคำสั่งซื้อข้าวเหนียวขาว 10% จากบริษัทไบร์ทไรซ์ กรุ๊ป เซี่ยงไฮ้ อินเตอร์เนชั่นแนล เทรด จำกัด รัฐวิสาหกิจของประเทศจีน กำหนดส่งมอบก่อนวันที่ 30 ก.ย.2559 ได้เข้าร่วมประมูลซื้อข้าวเหนียวขาว 10% ตามโครงการรับจำนำฤดูกาลการผลิต 2555/2556
ที่ฝากเก็บที่ คลังสินค้าของบริษัทสุพรีม ไลฟ์ เอเจนซี่ จำกัด ที่มีนางพัสกาญจน์ อัครวุฒิเมธายศ เป็นผู้มีอำนาจกระทำการแทน ตั้งอยู่ที่ อ.หันคา จ.ชัยนาท ทั้งหมด 22 กอง ปริมาณ 39,786.005 ตัน ในราคากิโลกรัมละ 13.72 บาทเป็นเงิน 545,863,988.60 บาท และประมูลซื้อข้าวเหนียวขาว 10% ที่ฝากเก็บในคลังสินค้านายวรเดช ธรรมเดโช 5,349.780 ตัน ราคากิโลกรัมละ 14.32 บาทเป็นเงิน 77,317,218.47 บาท และชนะประมูลทั้งสองคลัง
วันที่ 19 เม.ย.2559 บริษัท ซิงตั๊ก กรุ๊ป จำกัด รับมอบและขนข้าวจากคลังสินค้านายวรเดช ธรรมเดโช ไม่มีปัญหาด้านคุณภาพ แต่น้ำหนักขาดไป 49 ตันเศษ ซึ่งก็ได้รับเงินค่าข้าวที่ขาดหายไปคืนมา
วันที่ 26 เม.ย.2559 เจ้าหน้าที่ของบริษัท ซิงตั๊ก กรุ๊ป จำกัด นางพัสกาญจน์ อัครวุฒิเมธายศ และเจ้าหน้าที่ทีเกี่ยวข้องไปเปิดคลังสินค้าบริษัทสุพรีม ไลฟ์ เอเจนซี่ จำกัด เพื่อรับมอบและขนย้ายข้าวเหนียวขาว 10% ที่ประมูลซื้อได้
เมื่อตรวจสอบข้าวสารที่เก็บในกอง พบว่ากระสอบชั้นล่างรอบกองเป็นข้าวเหนียวขาว 10% แต่กระสอบด้านในและกระสอบชั้นที่ 20 ขึ้นไป เป็นข้าวขาว (ข้าวเจ้า) และมีข้าวปลอมปนซึ่งเป็นข้าวหลังเครื่องหรือข้าวดีดซึ่งเป็นเศษข้าว ปลายข้าวมีดอกหญ้าและกรวดเจือปนจำนวนมาก
ต่อมาวันที่ 30 เม.ย.2559 องค์การคลังสินค้านัดหมายเปิดคลังสินค้าของบริษัท สุพรีม ไลฟ์ เอเจนซี่ จำกัด เพื่อตรวจสอบข้าวสารทั้งหมดในคลังดังกล่าวอีกครั้งหนึ่ง มีเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องทุกฝ่ายมาพร้อม แต่นางพัสกาญจน์ อัครวุฒิเมธายศ ไม่ยอมนำกุญแจมาเปิดคลัง จึงมีการสั่งให้ทำลายกุญแจ ผลการตรวจสอบมีผลเช่นเดียวกับการตรวจสอบเมื่อวันที่ 26 เม.ย.2559
วันที่ 13 มิ.ย.2559 ผู้อำนวยการองค์การคลังสินค้าร้องทุกข์ต่อผู้บังคับการกองปราบปรามให้ดำเนินคดีต่อ บริษัทสุพรีม ไลฟ์ เอเจนซี่ จำกัด นางพัสกาญจน์ อัครวุฒิเมธายศ และบุคคลที่เกี่ยวข้องในความผิดฐานยักยอก
วันที่ 1 ก.ค.2559 ผู้แทนบริษัทชินตั๊ก กรุ๊ป จำกัด พล.ต.อ.เดชณรงค์ สุทธิชาญบัญชา พนักงานสอบสวนกองปราบปราม เจ้าหน้าที่พิสูจน์หลักฐาน เจ้าหน้าที่ อ.ค.ส. ผู้ตรวจสอบคุณภาพ สื่อมวลชน ร่วมกันตรวจข้าวในคลังสินค้า บริษัทสุพรีม ไลฟ์ เอเจนซี่ จำกัด อีกครั้งพบว่ามีการนำข้าวเจ้าและข้าวหลังเครื่องข้าวดีดมาเก็บในคลังจำนวนมาก
ต่อมา อ.ค.ส. ได้ดำเนินการคัดแยกข้าวในคลังดังกล่าว ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.-2 พ.ย.2559 พบข้าวสารทั้งหมด 393,133 กระสอบ เป็นข้าวเหนียวขาว10% เพียง 54,734 กระสอบ ข้าวปลอมปน 215,359กระสอบ ข้าวเจ้า 121,500 กระสอบ ข้าวเปียกน้ำ 1,540 กระสอบ
อ.ค.ส.ตั้งคณะกรรมการสอบข้อเท็จจริง ผลการสอบข้อเท็จจริงสรุปว่า นายณัฐพนธ์ เพ็ญภินันท์ นางมะลิวัลย์ บุญเฟื่อง นางสาววาสนา ชำนาญเวช บริษัทกลอบอล อินสเปคชั่น จำกัด นายวีระศักดิ์ เรืองสวัสดิ์ หัวหน้าคลังสินค้าจังหวัดชัยนาท ร่วมกันทำให้ข้าวสารชนิดข้าวเหนียวขาว 10% ที่ส่งมาจากโรงสี 17 แห่ง มีคุณภาพไม่เป็นไปตามมาตรฐานที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด
จากผลการตรวจสอบข้าวสารในกองดังกล่าวปรากฏว่า ส่วนใหญ่ไม่ใช่ข้าวเหนียวขาว 10% ตามที่ต้องการซื้อ บริษัท ซิงตั๊ก กรุ๊ป จำกัด จึงไม่ได้รับมอบข้าวเหนียวขาว 10% ได้ครบตามที่ประมูลซื้อไว้ ทำให้ไม่สามารถส่งมอบข้าวเหนียวขาวส่งออกให้ผู้ซื้อจากประเทศจีน ได้รับความเสียหาย
โดยต้องเสียค่าปรับให้ผู้ซื้อในต่างประเทศ 11,610,000 ดอลลาร์ ประมาณ 406,609,900 บาท ขาดกำไร จากการขายข้าว 50 ล้านบาท เสียหายชื่อเสียงในทางธุรกิจประเมินเป็นเงินมากกว่า 100 ล้านบาท
วันที่ 28 มี.ค.2560 บริษัทบริษัท ซิงตั๊ก กรุ๊ป จำกัด จึงฟ้องบริษัทสุพรีม ไลฟ์ เอเจนซี่ จำกัด เป็นจำเลยที่ 1 นางพัสกาญจน์ อัครวุฒิเมธายศ เป็นจำเลยที่ 2 ผู้ประกอบการโรงสีที่เข้าร่วมโครงการรับจำนำข้าวรวม 48 ราย เป็นจำเลยที่ 3-50 ฐานละเมิด ขอให้ศาลบังคับให้จำเลยทั้งห้าสิบร่วมกันชำระเงิน 571,609,900 บาทพร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปีนับถัดจากวันฟ้องจนกว่าจะชำระเสร็จ
ระหว่างการพิจารณาโจทก์ถอนฟ้องจำเลยที่ 3-50 ศาลอนุญาต
ศาลชั้นต้นพิจารณาแล้วพิพากษายกฟ้องโจทก์อุทธรณ์ ศาลอุทธรณ์พิพากษาแก้เป็นว่าให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันชำระเงินจำนวน 169,829,867 บาท พร้อมดอกเบี้ยร้อยละ 7.5 ต่อปี นับถัดจากวันฟ้อง
จำเลยที่ 1 และที่ 2 ฎีกา ศาลฎีกาพิจารณาแล้วมีคำพิพากษาที่ 588/2566 วันที่ 7 ก.พ.2566 พิพากษาแก้คำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในส่วนของค่าเสียหายต่อชื่อเสียงจาก 10 ล้านบาท เหลือ 5 ล้านบาท และส่วนที่เป็นอัตราดอกเบี้ย เป็นให้จำเลยที่ 1 และที่ 2 ร่วมกันใช้เงิน 164,829,867 บาท พร้อมดอกเบี้ยนับถัดจากวันฟ้องถึงวันที่ 10 เม.ย.2564 และร้อยละ 5 ต่อปี หรืออัตราที่กำหนดในพระราชกฤษฎีกาบวกด้วยอัตราเพิ่มร้อยละ 2 ต่อปีนับแต่วันที่ 11 เม.ย.2564 จนกว่าจำชำระเสร็จแต่ไม่เกินอัตราร้อยละ 7.5 ต่อปี.