ระวังคนท้องถิ่น “ต่อต้าน" นักท่องเที่ยว
ข่าวคราวเรื่องความรู้สึกไม่พอใจนักท่องเที่ยวของคนญี่ปุ่น เกี่ยวกับผลกระทบที่เกิดขึ้นจากการเดินทางเข้าประเทศ เตือนใจให้คนไทยต้องระวังความรู้สึกนี้ เพราะเป็นอันตรายต่อสุขภาพของเศรษฐกิจไทยที่พึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวมากยิ่งขึ้นทุกที
นักท่องเที่ยวจากทั่วโลกโดยเฉพาะทวีปเอเชียแห่กันไปเที่ยวญี่ปุ่น เพราะความชื่นชอบวัฒนธรรม ความปลอดภัย ความงดงามของภูมิประเทศ อาหาร ความทันสมัย ฯลฯ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเงินเยนที่มีค่าอ่อนมากเป็นพิเศษจนทำให้ราคาสินค้าในประเทศถูกลง
ในเดือนเมษายนที่ผ่านมามีนักท่องเที่ยวมากกว่า 3 ล้านคนเข้าประเทศ จนในปี 2024 ระหว่างมกราคมถึงเมษายน มีนักท่องเที่ยวรวม 11.6 ล้านคน
ถึงแม้จะเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจญี่ปุ่น แต่เริ่มได้ยินเสียงบ่นจากคนญี่ปุ่นว่าไม่ว่าไปไหนก็รู้สึกแออัดไปหมดเพราะมีแต่นักท่องเที่ยวไม่ว่าในเมืองท่องเที่ยวหรือตรอกซอยเล็ก ๆ ในเมืองใหญ่
มีข่าวว่าในเมือง Fuji City (ห่างจากเกียวโตประมาณ 300 กิโลเมตร) มีสะพานที่เป็นจุดถ่ายรูปงดงามมากของภูเขาไฟฟูจิซึ่งนักท่องเที่ยวหลั่งไหลไปวันหนึ่ง ๆ เป็นร้อย ๆ คน จอดรถกีดขวางทางสัญจร ทิ้งขยะ และส่งเสียงดัง จนคนท้องถิ่นไม่พอใจต้องติดป้ายเตือน
อีกแห่งหนึ่งในจังหวัด Yamanashi ที่อยู่ติดกัน ก็ประสบปัญหาคล้ายกันจนต้องขึงผ้าปิดกั้นวิวภูเขาฟูจิตรงจุดที่คนชอบไปถ่ายรูป เพื่อลดความวุ่นวาย ในย่าน Shibuya ของโตเกียว ทางการประกาศห้ามดื่มแอลกอฮอล์กลางแจ้งในตอนกลางคืน เพราะนักท่องเที่ยวเมาส่งเสียงโวยวาย ฯลฯ ทั้งหมดนี้คนที่มีธุรกิจเกี่ยวกับภาคท่องเที่ยวไม่พอใจนัก แต่ไม่กล้าสู้กระแสความไม่พอใจของคนท้องถิ่นที่เริ่มมีมากขึ้น
สำหรับบ้านเรานั้นระหว่างมกราคมถึงพฤษภาคมปีนี้ มีนักท่องเที่ยวแล้วเกือบ 15 ล้านคน และคาดว่าจะขึ้นไปถึง 36 ล้านคน โดยมีเป้าหมายว่าปีหน้าจะเกินกว่า 40 ล้านคน ซึ่งเป็นตัวเลขของปี 2019 ก่อนหน้าโควิด-19 ระบาด
การอ้างตัวเลขว่าการท่องเที่ยวไทยมีส่วนร่วมถึง 12-15% ของ GDP นั้นไม่มีใครรู้ว่าคำนวณมาอย่างไร แต่ควรถือเป็นตัวเลขกว้าง ๆ เพราะตัวเลขที่แม่นยำนั้นเป็นไปได้ยาก เนื่องจากเงินตราต่างประเทศที่เข้ามาจากการท่องเที่ยวนั้นมีผลคล้ายการกระตุ้นเศรษฐกิจซึ่งมีตัวคูณ การท่องเที่ยวก็มีตัวคูณของภาคตนเองเหมือนกัน
ซึ่งการคำนวณต้องคำนึงผลกระทบเศรษฐกิจทั้งทางตรงและทางอ้อม (เพียงเงินตราต่างประเทศที่เข้าประเทศก็ยากที่จะประเมินเพราะไม่ใช่ตัวเลขสุทธิเนื่องจากต้องนำเข้าสินค้าอุปกรณ์ วัตถุดิบ แรงงานจากต่างประเทศจนเสียต้นทุนเงินตราต่างประเทศเพื่อรับมือกับนักท่องเที่ยว)
การเข้ามาของเงินตราต่างประเทศมีผลต่อการจ้างงาน การสร้างรายได้เเละความเชื่อมั่นในประเทศอนึ่ง ตัวเลขข้อมูลการท่องเที่ยวจำนวนไม่น้อยก็เป็นประมาณการ จนต้องใช้ตัวเลขนักท่องเที่ยวเป็นข้อมูลหลัก
ลองมาดูผลกระทบจากนักท่องเที่ยวที่มีต่อท้องถิ่นบ้างจะได้เข้าใจความรู้สึกต่อต้านนักท่องเที่ยวทั้งนี้เพื่อหลีกเลี่ยงความรู้สึกน่ากลัวนี้ซึ่งอาจทำให้เศรษฐกิจไทยอยู่ในภาวะอันตรายได้
ผลกระทบ
ข้อ (1) การมีนักท่องเที่ยวจำนวนมากสร้างแรงกดดันด้านความต้องการที่พักอาศัยทั้งบ้าน โรงแรมและอพาร์ทเม้นท์เช่า จนอาจทำให้ค่าเช่าโดยทั่วไปสูงขึ้นได้
นอกจากนี้ค่าครองชีพของคนท้องถิ่นก็อาจถูกกระทบเมื่อมีคนมาแย่งบริโภคอาหารขนาดใหญ่ ตัวอย่างเกิดขึ้นที่ Barcelona (สเปน) / Amsterdam (เนเธอร์แลนด์)
ข้อ (2) เกิดความแออัดในการใช้ชีวิตของคนท้องถิ่น ไม่ว่าในเรื่องการจราจร ฝุ่น เสียง ความไม่สะดวกในการใช้รถรับจ้างสาธารณะ ฯลฯ
ตัวอย่างเช่น Venice (อิตาลี) นักท่องเที่ยวมีมากจนต้องจำกัดจำนวนในแต่ละวัน และเก็บค่าธรรมเนียม ส่วน Dubrovnik (โครเอเชีย) นั้นการจราจรติดขัดมากในยามไฮซีซั่น
ข้อ (3) โครงสร้างพื้นฐานทั้งรูปธรรมและนามธรรมเสื่อมถอย การปล่อยฟรีวีซ่าให้นักท่องเที่ยวเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจอาจมีผลเสียเพราะก่อให้เกิดอาชญากรรมเป็นแก๊ง ลักเล็กขโมยน้อย จี้ปล้น จับตัวเรียกค่าไถ่ จนขาดความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินในขณะดำเนินชีวิตประจำวัน เป็นเรื่องเลวร้ายที่ต้องระวัง
นอกจากนี้ทะเล ภูเขา ทรัพยากรธรรมชาติ เป็นเป้าหมายของการท่องเที่ยวซึ่งหากใช้งานมากเกินไปก็จะประสบผลเสีย
ในเชิงนามธรรมความเสื่อมถอยของจิตใจคนท้องถิ่นอาจเกิดขึ้นได้จากการต้มตุ๋น โก่งราคานักท่องเที่ยวจนเป็นนิสัยและเป็น “ความปกติใหม่” นอกจากนี้อาจเกิดการสูญเสียวัฒนธรรมของตนเองจากอำนาจเงินของนักท่องเที่ยว
ข้อ (4) การต้องพึ่งพิงภาคการท่องเที่ยวเพื่อรายได้ การจ้างงาน การลงทุน ความเชื่อมั่นในเศรษฐกิจ ฯลฯ ทำให้เกิดความสุ่มเสี่ยง เพราะหากเกิดความผันผวนของภาคนี้อันเป็นผลจากสงคราม ความขัดแย้ง เศรษฐกิจโลก (ไม่ว่าเงินเฟ้อ หรือว่างงาน) การเลวลงของคุณภาพการท่องเที่ยว ฯลฯ จะนำไปสู่วิฤตได้ไม่ยาก ตัวอย่างเช่น Maldives / Bali ของอินโดนีเซีย
ข้อ (5) การกระทบความรู้สึกของคนท้องถิ่น พฤติกรรมของนักท่องเที่ยวบางกลุ่มที่ถือว่าตนเป็นอภิสิทธิ์ชน อย่างไรเสียประเทศเจ้าภาพไม่กล้าเข้มงวดทำให้เกิดพฤติกรรม “กร่าง”
การขาดมารยาทและการแต่งกายอย่างไม่เคารพประเพณีวัฒนธรรม เช่น การเข้าวัด (เรายังไม่เห็นการขี่คอพระพุทธรูปถ่ายรูป) ฯลฯ เป็นเรื่องละเอียดอ่อนสำหรับคนท้องถิ่นบางส่วน
ทั้งหมดนี้รวมกันอาจทำให้เกิดความรู้สึกที่เป็นลบต่อการท่องเที่ยวและนักท่องเที่ยวได้ไม่ยากนักหากไม่ระมัดระวังกันแต่เนิ่น ๆ ในโลกโซเชียลมีเดียนั้น การ “จุดไฟติด” ไม่ใช่เรื่องยาก
เมื่อเกิดเป็นกระแสจนเป็นข่าว ก็ทำให้คนมีความรู้สึกร่วมกว้างขวางขึ้น และเมื่อเกิดเป็นข่าวกระจายไปต่างประเทศ ก็กระทบถึงการมาเยือนของนักท่องเที่ยวอย่างแน่นอน เพราะไม่มีใครอยากไปเที่ยวในประเทศที่เจ้าภาพไม่ยินดีต้อนรับเป็นแน่
การป้องกันการมีความรู้สึกดังกล่าวก็คือ การหลีกหนีสภาวการณ์ที่เรียกว่า Over-tourism กล่าวคือ การท่องเที่ยวที่ไปไกลถึงจุดที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรท่องเที่ยว โครงสร้างพื้นฐาน คุณภาพชีวิตของคนท้องถิ่น และที่สำคัญที่สุดคือคุณภาพของการท่องเที่ยวของประเทศเอง
Over-tourism จะกระตุ้นให้เกิดความรู้สึกต่อต้านนักท่องเที่ยวและภาคการท่องเที่ยวของคนท้องถิ่น กล่าวคือเห็นว่าผลเสียจากการท่องเที่ยวมีมากกว่าผลดีที่คาดว่าจะได้รับ
ในแต่ละปีจะมีผู้คนประมาณ 1.4 พันล้านคนในโลกที่มีประชากร 8 พันล้านคนที่เดินทางไปประเทศอื่น การเปลี่ยนแปลงเพิ่มขึ้นในอัตราที่สูงมาก
องค์การท่องเที่ยวโลกพยากรณ์ว่าก่อนถึงปี 2030 ตัวเลขนี้จะสูงเกินกว่า 2 พันล้านคน และจะเน้นการเดินทางไปสถานที่ท่องเที่ยวไม่กี่แห่งในโลกซึ่งไทยก็อยู่ในจำนวนนี้ด้วย ดังนั้น การท่องเที่ยวไทยมีโอกาสไปได้อีกไกลมาก
คำถามที่พึงพิจารณาก็คือ ทำอย่างไรเราจะไม่เข้าไปใกล้จุด Over-tourism ซึ่งจะทำให้คนไทยจำนวนมากรู้สึกต่อต้านนักท่องเที่ยว และก่อให้เกิดอันตรายอย่างยิ่งต่อเศรษฐกิจไทยโดยรวม.