เปิดเงื่อนไข 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' เกษตรกรรับครัวเรือนละไม่เกิน 1 หมื่นบาท

เปิดเงื่อนไข 'ปุ๋ยคนละครึ่ง' เกษตรกรรับครัวเรือนละไม่เกิน 1 หมื่นบาท

เปิดเงื่อนไข "ปุ๋ยคนละครึ่ง" ลดต้นทุนชาวนา ปีการผลิต 67/68 อุดหนุนค่าปุ๋ย 500 บาทต่อไร่ต่อครัวเรือน ไม่เกิน 10,000 บาท

ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบโครงการสนับสนุนปุ๋ยลดต้นทุนการผลิตของเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ภายใต้มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปีการผลิต 2567/68 ตามที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์เสนอ

ซึ่งโครงการดังกล่าวเป็นการช่วยเหลือเกษตรกรผู้ปลูกข้าวตามความต้องการของเกษตรกรแบบมีส่วนร่วม โดยให้เกษตรกรสมทบค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ในลักษณะ “ปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง” เพื่อพัฒนาเกษตรกรผู้ปลูกข้าวให้เข้มแข็งและเกิดความยั่งยืนและลดภาระการเงินการคลังของประเทศ
 

เงื่อนไขรับสิทธิ์-วิธีเข้าร่วม “ปุ๋ยคนละครึ่ง”

เงื่อนไขของโครงการปุ๋ยและชีวภัณฑ์คนละครึ่ง

  • ปุ๋ยเคมีปุ๋ยอินทรีย์และชีวภาพในราคาครึ่งหนึ่ง ไม่เกินครัวเรือนละ 500 บาทต่อไร่ ไม่เกิน 20 ไร่ หรือ ไม่เกิน 10,000 บาทตามราคาปุ๋ยที่จ่ายจริง รวมมูลค่าปุ๋ยไม่เกิน 20,000 บาท
  • ปุ๋ยที่เข้าร่วมโครงการนี้จะต้องมีคุณภาพและผ่านการขึ้นทะเบียนกับกรมวิชาการเกษตร
  • ระยะเวลาโครงการ 15 กรกฏาคม 2567 – 31 พฤษภาคม 2568

คุณสมบัติของเกษตรผู้ปลูกข้าวที่สนใจเข้าร่วมโครงการฯ จะต้องเป็นเกษตรกรผู้ปลูกข้าวที่ขึ้นทะเบียนเกษตรกรผู้ปลูกข้าว ปี 2567/68  กับกรมส่งเสริมการเกษตร หรือเป็นลูกค้า ธกส. ที่เข้าร่วมโครงการพักชำระหนี้ สามารถเข้าร่วมโครงการได้ด้วยเช่นกัน

ส่วนวิธีเข้าร่วมโครงการนั้น เกษตรกรต้องใช้สิทธิ์ผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส. ที่จะเปิดให้ใช้บริการในวันที่ 15 กรกฏาคมนี้ เพื่อเข้าร่วมโครงการฯ จากนั้นระบุปุ๋ยสูตรที่เข้าร่วมโครงการฯ และชำระเงินค่าปุ๋ยและชีวภัณฑ์ครึ่งหนึ่งผ่านแอปพลิเคชัน ธ.ก.ส.

เกษตรกรที่เข้าร่วมโครงการสามารถเลือกรับการสนับสนุนปุ๋ยสำหรับนาข้าวที่ขึ้นทะเบียน ได้แก่

  1. ปุ๋ยสูตร 25-7-14
  2. ปุ๋ยสูตร 20-8-20
  3. ปุ๋ยสูตร 20-10-12
  4. ปุ๋ยสูตร 30-3-3
  5. ปุ๋ยยูเรีย 46-0-0
  6. ปุ๋ยสูตร 18-12-6
  7. ปุ๋ยสูตร 16-8-8
  8. ปุ๋ยสูตร 16-12-8
  9. ปุ๋ยสูตร 16-16-8
  10. ปุ๋ยสูตร 16-20-0
  11. ปุ๋ยสูตร 20-20-0
  12. ปุ๋ยอินทรีย์ที่ขึ้นบัญชีนวัตกรรม หรือใช้ปุ๋ยอินทรีย์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนปุ๋ยอินทรีย์
  13. ชีวภัณฑ์ที่ได้รับใบสำคัญการขึ้นทะเบียนวัตถุอันตราย

และเกษตรกรขอให้เพิ่มอีก 3 สูตร ได้แก่

  1. ปุ๋ยสูตร 16-16-16
  2. ปุ๋ยสูตร 15-15-15
  3. ปุ๋ยสูตร 13-13-24