ลายเส้นฝาท่อระบายน้ำ เขตสัมพันธวงศ์ ตลาดน้อย เยาวราช ย่านเก่าแก่สุดคลาสสิก
เปิดลายเส้นเรื่องราวบนฝาท่อระบายน้ำ เขตสัมพันธวงศ์ ตลาดน้อย ถนนเยาวราช ย่านเก่าแก่สุดคลาสสิก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมจีน เป็นเหมือน "ไทม์แมชชีน" ย้อนความหลังชุมชนในอดีต
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พามาเปิดลายเส้นเรื่องราวบนฝาท่อระบายน้ำ เขตสัมพันธวงศ์ ตลาดน้อย ถนนเยาวราช ย่านเก่าแก่สุดคลาสสิก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา สัมผัสกลิ่นอายวัฒนธรรมจีน เป็นเหมือน "ไทม์แมชชีน" ย้อนความหลังชุมชนในอดีต
"เขตสัมพันธวงศ์" ย่านเก่าแก่สุดคลาสสิก ริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่ยังคงไว้ซึ่งกลิ่นอายวัฒนธรรมจีนอันมีเสน่ห์ ที่วันนี้มีแลนด์มาร์กใหม่อย่าง "ฝาท่อลายอาร์ต"
ช่วงจากซอยศาลเจ้าโรงเกือกถึงศาลเจ้าโจวซือกง พื้นที่เขตสัมพันธวงศ์ ที่ไม่ใช่แค่ฝาท่อธรรมดา แต่เป็นเหมือน "ไทม์แมชชีน" พาเราย้อนเวลาไปสัมผัสเรื่องราวในอดีตของชุมชนแห่งนี้
ลายเส้นเรื่องราวบนฝาท่อระบายน้ำเกิดขึ้นได้อย่างไร?
โปรเจกต์นี้เกิดขึ้นจากความร่วมมือระหว่างกรุงเทพมหานครกับหน่วยงานที่มาร่วมมือกัน โดยเขตสัมพันธวงศ์ ที่เล็งเห็นถึงคุณค่าของตลาดน้อย จึงผุดไอเดียเนรมิตทางเดินเลียบแม่น้ำเจ้าพระยา
พร้อมเพิ่มลูกเล่นกิ๊บเก๋ ด้วยการออกแบบฝาท่อให้มีลวดลายเฉพาะตัว บอกเล่าเรื่องราวของย่านนี้ ผ่านฝีมือการออกแบบของ คุณจุฤทธิ์ กังวานภูมิ สถาปนิกชุมชนคนเก่ง ที่อาศัยอยู่ในย่านตลาดน้อยมาตั้งแต่เด็ก
ที่มาที่ไป "ลายเส้นบนฝาท่อ"
ฝาบ่อบริเวณตลาดน้อย
ฝาบ่อที่ 1 ตรอกศาลเจ้าโรงเกือก: ย่านนี้ขึ้นชื่อเรื่องสถาปัตยกรรมเก่าแก่ บ้านทรงจีน ร้านค้าที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แค่เดินผ่านก็เหมือนหลุดเข้าไปในยุคก่อน
ฝาบ่อที่ 2 ซอยศาลเจ้าโรงเกือก: ร้านขายยาเพ็ญไทย ตึกแถวโบราณ 3 ชั้น ที่เปิดมายาวนานตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ใครป่วยก็แวะเวียนมาใช้บริการกัน
ฝาบ่อที่ 3 ฝั่งซอยเจริญกรุง 23: เล่าเรื่องอดีตที่เคยเป็นท่าเรือของบ้านโซวเฮงไถ่ ที่เรือสำเภาจีนมาจอดเทียบท่าคึกคัก
ฝาบ่อที่ 4 ซอยดวงตะวัน: รถเฟียตคู่ใจตลาดน้อย อายุอานามก็หลายสิบปี เป็นพยานบอกเล่าเรื่องราวความรุ่งเรืองของย่านอะไหล่เก่า "เชียงกง"
ฝาบ่อที่ 5 ปากซอยเจริญกรุง 22: ร้านข้าวต้มปลา "ง่วนสูน" เจ้าเก่าแก่ เปิดมานานกว่า 100 ปี รสชาติอร่อยเหมือนเดิมไม่เคยเปลี่ยน
ฝาบ่อที่ 6 ปากซอยเจริญกรุง 22: ร้านทองเล่งหงษ์ ร้านทองเก่าแก่คู่ตลาดน้อย เปิดมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 ใครอยากเสริมโชคลาภต้องมา
ฝาบ่อที่ 7 หน้าศาลเจ้าโจวซือกง: ศาลเจ้าเก่าแก่ของชาวจีนฮกเกี้ยน สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 3 เป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน
ฝาท่อระบายน้ำ บริเวณถนนเยาวราช
A1 ค้างคาวกับเหรียญ: เน้นที่ค้างคาว 5 ตัวและเหรียญ 5 เหรียญ โดยเชื่อว่าค้างคาวจะนำพรมาให้ ส่วนเหรียญจะช่วยสร้างสมดุลและความมั่นคง
A2 (ไม่มีชื่อ): ได้แรงบันดาลใจจากรูปทรงเลข 8 ของจีน ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความสมดุลและป้องกันสิ่งชั่วร้าย
A3 เหรียญจีนโบราณ: ใช้เหรียญจีนโบราณเป็นสัญลักษณ์ของความมั่งคั่งร่ำรวยและนำโชคลาภ
ฝาท่อทึบ บริเวณถนนเยาวราช
B1 เราคือเพื่อนพ้องพี่น้องชาวจีน: สื่อถึงโรงพยาบาลเทียนฟ้ามูลนิธิ ซึ่งเป็นมูลนิธิแห่งแรกในประเทศไทยที่ก่อตั้งโดยชาวจีนเพื่อช่วยเหลือผู้ป่วยยากไร้
B2 เรืองรองรุ่งเรืองเยาวราช: สื่อถึงความรุ่งเรืองของถนนเยาวราชในอดีตที่มีรถรางเป็นระบบขนส่งสาธารณะ
B3 ความบันเทิงเยาวราชในอดีต: แสดงให้เห็นถึงสถานที่บันเทิงและแหล่งพบปะของชาวจีนในอดีต เช่น สภากาแฟ โรงน้ำชา โรงแรม และบ่อน
B4 สวรรค์ชั้นเจ็ด: ได้รับแรงบันดาลใจจากตึกสูงยุคแรกของสยามบนถนนเยาวราช ซึ่งเป็นแหล่งบันเทิงและเป็นที่มาของวลี "สวรรค์ชั้นเจ็ด"
B5 โต๊ะจีน: นำเสนอจุดเริ่มต้นของการกินอาหารจีน เช่น หูฉลาม ผัดหมี่ฮ่องกง กระเพาะปลาน้ำแดงผัดแห้ง
B6 โรงงิ้ว: สื่อถึงโรงงิ้ว ซึ่งเป็นรูปแบบความบันเทิงอีกอย่างหนึ่งของเยาวราชในอดีตที่หายไป
B7 ตลาดเก่าเยาวราช: สื่อถึง "เหล่าตั๊กลัก" ตลาดเก่าแก่ใจกลางถนนเยาวราช ซึ่งเป็นแหล่งรวมสินค้าและอาหารมากมาย
B8 ตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ: สื่อถึงตลาดเล่งบ๊วยเอี๊ยะ ซึ่งเป็นแหล่งซื้อขายวัตถุดิบสำหรับทำอาหารจีน โดยเฉพาะในช่วงเทศกาล
B9 ห้างทอง: สื่อถึงร้านขายทองคำบนถนนเยาวราช ซึ่งสะท้อนถึงความร่ำรวยและเจริญรุ่งเรืองของย่านนี้
B10 ของขวัญ: นำเสนอ "แจกันใหญ่" ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของความเป็นสิริมงคลและแทนคำอวยพร
B11 สุกี้เยาวราช: สื่อถึงตรอกที่เป็นต้นกำเนิดของสุกี้เยาวราช
B13 ห้างใต้ฟ้า: แสดงถึงบรรยากาศคึกคักของแยกราชวงศ์และห้างใต้ฟ้าในวันวาน
B14 นำเสนอเรือสำเภาที่นำเงินทองจากจีนผ่านท่าเรือเข้ามาในประเทศไทย
B15 คลองถม: นำเสนอความสนุกสนานของตลาดคลองถมในอดีต ซึ่งเป็นแหล่งขายของสารพัดอย่าง
B16 ชุมชนเลื่อนฤทธิ์: แสดงให้เห็นถึงชุมชนที่มีสถาปัตยกรรมสวยงาม เป็นย่านขายผ้าและมีร้านขายตาชั่งเก่าแก่ เป็นจุดผสมผสานวัฒนธรรมไทย จีน และแขก
B17 เวิ้งนาครเขษม: สื่อถึงเวิ้งนาครเขษมในอดีต ซึ่งเป็นย่านค้าสินค้านำเข้าจากต่างประเทศ แหล่งบันเทิง และปัจจุบันเป็นสถานที่ถ่ายทำภาพยนตร์
B18 สะพานเหล็ก คลองโอ่งอ่าง: สื่อถึงย่านขายของเล่นและโมเดลที่ใหญ่ที่สุดในประเทศไทย ซึ่งปัจจุบันพัฒนาเป็นคลองโอ่งอ่างที่สวยงาม
และนี่คือความใส่ใจ เพียงแค่ฝาท่อ ก็ทำให้เราได้รู้จักตลาดน้อยมากขึ้น กทม. พยายามพัฒนาเมืองน่าอยู่ แม้กระทั่งสิ่งเล็ก ๆ อย่างฝาท่อระบายน้ำ เพื่อสะท้อนเรื่องราวและอัตลักษณ์ของชุมชน
ใครมีโอกาสมาเยือนตลาดน้อย อย่าลืมสังเกตลวดลายต่าง ๆ บนฝาท่อระหว่างทางเดินชมเสน่ห์ของชุมชนแห่งนี้ จะได้พบกับความประทับใจในทุกรายละเอียดอย่างแน่นอน
อ้างอิง-ภาพ : กรุงเทพมหานคร