ระยะเวลาขั้นต่ำในคำบอกกล่าวบังคับจำนำควรกำหนดไว้หรือไม่

ระยะเวลาขั้นต่ำในคำบอกกล่าวบังคับจำนำควรกำหนดไว้หรือไม่

กฎหมายว่าหลักประกันแห่งหนี้มีสัญญาหลากหลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นสัญญาค้ำประกัน สัญญาจำนองและสัญญาจำนำ ในคอลัมน์นี้จะขอกล่าวถึงสัญญาทั้งสามพอสังเขป และจะเน้นเฉพาะประเด็นสัญญาจำนำเป็นหลัก

หลักเกณฑ์ของสัญญาจำนำ คือ สัญญาซึ่งบุคคลคนหนึ่งเรียกว่าผู้จำนำส่งมอบสังหาริมทรัพย์สิ่งหนึ่งให้แก่บุคคลอีกคนหนึ่ง เรียกว่าผู้รับจำนำเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้

สัญญาจำนำมีลักษณะที่เหมือนกับสัญญาค้ำประกันและสัญญาจำนอง คือ สัญญาทั้งสามประเภทเป็นสัญญาอุปกรณ์ซึ่งเกิดขึ้นมาเพื่อเป็นประกันการชำระหนี้ประธาน โดยที่สัญญาจำนำและสัญญาจำนองเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยทรัพย์สิน ส่วนสัญญาค้ำประกันนั้นเป็นการประกันการชำระหนี้ด้วยบุคคล

สัญญาจำนำมีความแตกต่างจากสัญญาจำนองในเรื่องของทรัพย์สินที่นำมาทำสัญญา กล่าวคือ ทรัพย์สินที่นำมาทำสัญญาจำนำได้ต้องเป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งอาจจะเป็นสังหาริมทรัพย์ธรรมดาหรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษก็ได้ ส่วนทรัพย์สินที่สามารถนำไปทำสัญญาจำนองได้ต้องเป็นอสังหาริมทรัพย์หรือสังหาริมทรัพย์ชนิดพิเศษ แต่ไม่รวมถึงสังหาริมทรัพย์ธรรมดา

ความแตกต่างระหว่างสัญญาจำนำและสัญญาจำนองที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ สัญญาจำนำไม่มีแบบ เกิดขึ้นได้ด้วยวิธีการง่าย ๆ เพียงผู้จำนำส่งมอบทรัพย์สินซึ่งจำนำให้แก่ผู้รับจำนำเพื่อประกันการชำระหนี้ประธาน สัญญาจำนำย่อมเกิดขึ้นทันที

ส่วนสัญญาจำนองนั้นกฎหมายบังคับให้ต้องทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ โดยการทำเป็นหนังสือและจดทะเบียนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่เท่านั้น หากคู่สัญญาไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ สัญญาจำนองย่อมตกเป็นโมฆะไม่มีผลผูกพันใด ๆ ต่อกันตามกฎหมาย

สำหรับสัญญาค้ำประกันนั้น ไม่มีแบบที่ต้องทำเพราะกฎหมายมิได้กำหนดแบบพิธีการใด ๆ เพียงแต่หากเจ้าหนี้จะฟ้องร้องบังคับชำระหนี้จากผู้ค้ำประกัน เจ้าหนี้ต้องมีหลักฐานเป็นหนังสือลงลายมือชื่อของผู้ค้ำประกันเป็นสำคัญจึงจะฟ้องร้องบังคับคดีได้

ในประเด็นเรื่องการฟ้องร้องบังคับคดีผู้ค้ำประกันนั้น กฎหมายกำหนดหลักเกณฑ์ให้เจ้าหนี้ต้องรอลูกหนี้ชั้นต้นตกเป็นผู้ผิดนัดเสียก่อน แล้วเจ้าหนี้จึงต้องมีหนังสือบอกกล่าวแจ้งการผิดนัดของลูกหนี้ไปยังผู้ค้ำประกันภายในหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด

กรณีที่เจ้าหนี้มิได้มีการบอกกล่าวแจ้งไปยังผู้ค้ำประกันว่าลูกหนี้ได้ผิดนัดชำระหนี้แล้ว เจ้าหนี้จะไม่มีสามารถฟ้องผู้ค้ำประกันให้รับผิดได้

หากเจ้าหนี้ได้บอกกล่าวไปยังผู้ค้ำประกันแล้วว่าลูกหนี้ผิดนัด แต่เจ้าหนี้มิได้มีหนังสือบอกกล่าวภายในกำหนดเวลาหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด จะทำให้ผู้ค้ำประกันหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทน ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้รายนั้นบรรดาที่เกิดขึ้นภายหลังจากพ้นกำหนดหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ผิดนัด

ส่วนเรื่องการบังคับจำนอง การจะบังคับจากผู้จำนอง ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้อง “ไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าว”

หากพ้นกำหนดเวลาดังกล่าว ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนองย่อมสามารถฟ้องคดีต่อศาลเพื่อให้พิพากษาสั่งยึดทรัพย์สินซึ่งจำนองและให้ขายทอดตลาดทรัพย์สินได้

ขั้นตอนการส่งหนังสือบอกกล่าวบังคับจำนองไปยังลูกหนี้ ถือว่าเป็นสาระสำคัญอย่างยิ่ง

กฎหมายกำหนดให้เป็นเงื่อนไขในการฟ้องบังคับจำนอง หากผู้รับจำนองมิได้ส่งหนังสือบังคับจำนอง หรือมิได้กำหนดเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าว การบอกกล่าวบังคับจำนองย่อมไม่ชอบ ผู้รับจำนองย่อมไม่สามารถฟ้องบังคับจำนองได้

ถ้าเป็นกรณีผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระ ผู้รับจำนองต้องส่งหนังสือบอกกล่าวให้ผู้จำนองทราบภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่ส่งหนังสือแจ้งให้ลูกหนี้ทราบ ถ้าผู้รับจำนองมิได้ดำเนินการภายในกำหนดเวลาสิบห้าวัน

ผู้จำนองซึ่งจำนองทรัพย์สินของตนไว้เพื่อประกันหนี้อันบุคคลอื่นต้องชำระหลุดพ้นจากความรับผิดในดอกเบี้ยและค่าสินไหมทดแทนซึ่งลูกหนี้ค้างชำระ ตลอดจนค่าภาระติดพันอันเป็นอุปกรณ์แห่งหนี้ที่เกิดขึ้นนับแต่วันที่พ้นกำหนดเวลาสิบห้าวันดังกล่าว

ส่วนกรณีของการบังคับจำนำ ผู้รับจำนำต้องบอกกล่าวเป็นหนังสือไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้และอุปกรณ์ภายในเวลาอันควรซึ่งกำหนดให้ในคำบอกกล่าวนั้น ถ้าลูกหนี้ละเลยไม่ปฏิบัติตามคำบอกกล่าว ผู้รับจำนำชอบที่จะเอาทรัพย์สินซึ่งจำนำออกขายทอดตลาดได้

มีข้อสังเกตว่า กฎหมายว่าด้วยจำนำมิได้กำหนดเวลาขั้นต่ำไว้ว่าผู้รับจำนำต้องให้เวลาลูกหนี้ชำระหนี้ภายในกำหนดเวลากี่วัน เพียงแต่เขียนระบุว่าให้ลูกหนี้ชำระหนี้ “ภายในเวลาอันควร” ซึ่งขึ้นอยู่กับหนี้แต่ละรายไป ทั้งที่สาระสำคัญของสัญญาจำนำก็มีลักษณะที่เหมือนกับสัญญาจำนอง คือ เป็นการประกันการชำระหนี้ประธาน

เพราะฉะนั้น กฎหมายจึงควรบัญญัติเรื่องกำหนดระยะเวลาในคำบอกกล่าวบังคับจำนำและคำบอกกล่าวบังคับจำนองให้มีลักษณะที่ใกล้เคียงกัน

อีกทั้งเมื่อเปรียบเทียบกับสัญญาจำนอง กฎหมายกำหนดให้ผู้รับจำนองต้องมีหนังสือบอกกล่าวไปยังลูกหนี้ก่อนว่าให้ชำระหนี้ภายในเวลาอันสมควรซึ่งต้องไม่น้อยกว่าหกสิบวันนับแต่วันที่ลูกหนี้ได้รับคำบอกกล่าว แต่ในสัญญาจำนำกลับไม่มีกล่าวถึงประเด็นดังกล่าวไว้

ดังนั้น หากในอนาคตมีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายเแพ่งและพาณิชย์ ผู้เขียนเห็นว่าบทบัญญัติในเรื่องสัญญาจำนำก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ควรหยิบยกขึ้นมาวิเคราะห์ปรับปรุงให้ดียิ่งขึ้น

โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องกำหนดระยะเวลาในคำบอกกล่าวบังคับจำนำ ควรจะต้องกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำไว้เพื่อให้ลูกหนี้ได้ขวนขวายหาเงินมาชำระหนี้และเพื่อไม่ให้เกิดการโต้แย้งว่าระยะเวลาเพียงใด จึงจะเรียกว่าระยะเวลาอันสมควรซึ่งในปัจจุบันนี้ยังคงต้องพิจารณาจากหนี้ตามสัญญาจำนำแต่ละรายกรณีไป.