ประวัติวันอาสาฬหบูชา 2567 ทำบุญ วันพระ ขึ้น 15 ค่ำ วิธีเวียนเทียน บทสวดมนต์
ประวัติวันอาสาฬหบูชา 2567 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร แก่ปัญจวัคคีย์ - พระรัตนตรัยครบองค์ 3 พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์ วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันไหน ความสำคัญ วิธีเวียนเทียน บทสวดมนต์เวียนเทียน เข้าวัดทำบุญทำยังไง "ขั้นตอน - เวลาถวายเพล"
"กรุงเทพธุรกิจออนไลน์" พามาเปิด ประวัติวันอาสาฬหบูชา 2567 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 วันที่พระพุทธเจ้าแสดงปฐมเทศนา "ธัมมจักกัปปวัตตนสูตร" แก่ปัญจวัคคีย์ - พระรัตนตรัยครบองค์ 3 "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์"
วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันไหน? วันสําคัญทางพระพุทธศาสนา ส่อง วิธีเวียนเทียนที่ถูกต้อง บทสวดมนต์เวียนเทียนวันอาสาฬหบูชา ชาวพุทธเข้าวัดทำบุญทำยังไง "ขั้นตอน - เวลาถวายเพล" พระสงฆ์รับฉันอาหารได้ถึงกี่โมง?
วันอาสาฬหบูชา 2567 วันอาสาฬหบูชาตรงกับวันไหน?
- วันอาสาฬหบูชา 2567 ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8
เปิดประวัติวันอาสาฬหบูชา 2567 ความสำคัญ วันสําคัญทางพระพุทธศาสนา
วันอาสาฬหบูชา ตรงกับ วันเพ็ญ เดือน 8 ก่อนปุริมพรรษา (ปุริมพรรษาเริ่ม ตั้งแต่วันแรม 1 ค่ำ เดือน 8 ในปีที่ไม่มีอธิกมาสเป็นต้นไป ถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11) 1 วัน เป็นวันคล้ายวันที่พระพุทธเจ้าทรงแสดงปฐมเทศนา คือ เทศน์กัณฑ์แรก ชื่อว่าธัมมจักกัปปวัตตนสูตร
โปรดพระปัญจวัคคีย์ ที่ป่าอิสิปตนมฤคทายวัน แขวงเมือง พาราณสี ในปีแรกที่ทรงตรัสรู้และเพราะผลของพระธรรมเทศนากัณฑ์นี้เป็นเหตุให้ท่าน "พระโกณฑัญญะ" ในจำนวนพระปัญจวัคคีย์ทั้ง 5 ได้ธรรมจักษุ (โสดาปัตติมรรค หรือ โสดาปัตติมรรคญาณ คือญาณที่ทำให้สำเร็จเป็นโสดาบัน) ดวงตาเห็นธรรม คือ ปัญญา
รู้เห็นความจริงว่า สิ่งใดก็ตามมีความเกิดขึ้นเป็นธรรมดา สิ่งนั้นทั้งปวงล้วนมีความดับไป เป็นธรรมดา แล้วขอบรรพชาอุปสมบทต่อพระองค์ เป็นพระอริยสงฆ์องค์แรกของ พระพุทธศาสนา และทำให้พระรัตนตรัยครบองค์ 3 คือ "พระพุทธ พระธรรม พระสงฆ์"
"วันธรรมสวนะ" หรือ วันฟังธรรม มักจัดขึ้นในวันพระใหญ่
คำว่า วันธรรมสวนะ (อ่านว่า ทำ-มะ-สะ-วะ-นะ) หมายถึง วันประชุมของพุทธศาสนิกชนเพื่อปฏิบัติกิจกรรมทางศาสนา อันได้แก่ ถือศีล ฟังธรรม
โดยเป็นวันที่มีกำหนดตามปฏิทินจันทรคติ มีเดือนละ 4 วัน ได้แก่ วันขึ้น 8 ค่ำ, วันขึ้น 15 ค่ำ (วันเพ็ญ), วันแรม 8 ค่ำ และวันแรม 15 ค่ำ โดยวันอาสาฬหบูชาก็เป็นหนึ่งในวันพระใหญ่ ที่พุทธศาสนิกชนควรถือศีลและฟังธรรมเพื่อเป็นสิริมงคลแก่ชีวิต
ในสมัยต้นพุทธกาล พระพุทธเจ้ายังไม่ได้ทรงวางระเบียบเรื่องนี้ไว้ ต่อมาพระเจ้าพิมพิสาร ได้เข้าเฝ้าพระสัมมาสัมพุทธเจ้า และกราบทูลพระราชดำริของพระองค์ว่านักบวชศาสนาอื่น มีวันประชุมสนทนาเกี่ยวกับหลักธรรมคำสั่งสอนในศาสนาของเขา
แต่ว่าพุทธศาสนายังไม่มี พระพุทธองค์จึงทรงอนุญาตให้มีการประชุมพระสงฆ์ในวัน 8 ค่ำ, วัน 15 ค่ำ และอนุญาตให้พระภิกษุสงฆ์แสดงธรรมเทศนาแก่ประชาชนในวันดังกล่าวได้
จากนั้นพุทธศาสนิกชนจึงถือเอาวันดังกล่าวเป็นวันธรรมสวนะสืบมา โดยจะเป็น วันสำคัญทางพระพุทธศาสนา ที่พุทธศาสนิกชนจะไปพบปะชุมนุมกันเพื่อฟังพระธรรมเทศนาจากพระสงฆ์ที่วัด ในประเทศไทยปรากฏหลักฐานว่าได้มีประเพณีวันฟังพระธรรมมาตั้งแต่สมัยสุโขทัย
ย้อนประวิติศาสตร์ "วันอาสาฬหบูชา" เกิดขึ้นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อใด?
เดิมนั้นไม่มีการประกอบ "พิธีบูชาในเดือน 8" หรือ "วันอาสาฬหบูชา" ในประเทศที่ประชาชนนับถือพุทธเถรวาทมาก่อน จนกระทั่งมาในปี พ.ศ. 2501 วันอาสาฬหบูชาจึงได้เริ่มมีขึ้นในประเทศไทย ตามที่คณะสงฆมนตรี ได้กำหนดให้วันนี้เป็นวันสำคัญทางพระพุทธศาสนาของประเทศไทยอย่างเป็นทางการเมื่อ พ.ศ. 2501
โดยคณะสังฆมนตรีได้มีมติให้เพิ่ม "วันอาสาฬหบูชา" เป็นวันสำคัญทางศาสนาพุทธในประเทศไทย ตามคำแนะนำของพระธรรมโกศาจารย์ (ชอบ อนุจารี) โดยได้ออกเป็นประกาศสำนักสังฆนายกเมื่อวันที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2501 กำหนดให้วันอาสาฬหบูชาเป็นวันสำคัญทางพุทธศาสนา
พร้อมทั้งกำหนดพิธีกรรมทางศาสนาขึ้นอย่างเป็นทางการเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยให้มีพิธีปฏิบัติเทียบเท่ากับ “วันวิสาขบูชา” นั่นเอง
กิจกรรมวันอาสาฬหบูชา 2567 วิธีเวียนเทียน บทสวดมนต์เวียนเทียน
"วันอาสาฬหบูชา" พุทธศาสนิกชนชาวไทยนิยมทำบุญตักบาตรในตอนเช้า และตลอดวันจะมีการบำเพ็ญบุญกุศลความดีอื่น ๆ เช่น ไปวัดรับศีล งดเว้นการทำบาปทั้งปวง ถวายสังฆทาน ให้อิสระทาน ปล่อยนก ปล่อยปลา เป็นสิริมงคลชีวิต ฟังพระธรรมเทศนา และไปเวียนเทียนรอบโบสถ์ในเวลาเย็น
โดยก่อนทำการเวียนเทียนพุทธศาสนิกชนควรร่วมกันกล่าวคำสวดมนต์และคำบูชาในวันอาสาฬหบูชา โดยปกติตามวัดต่าง ๆ จะจัดให้มีการทำวัตรสวดมนต์ก่อนทำการเวียนเทียน ซึ่งส่วนใหญ่นิยมทำการเวียนเทียนอย่างเป็นทางการ โดยมีพระภิกษุสงฆ์นำเวียนเทียน ในเวลาประมาณ 20.00 น.
วิธีเวียนเทียน บทสวดมนต์เวียนเทียน
พุทธศาสนิกชนที่จะไปเวียนเทียนในวันอาสาฬหบูชานั้น ต้องรู้วิธีปฏิบัติตนให้ถูกต้องเหมาะสม ดังนี้
ชำระร่างกายและจิตใจ
- ควรอาบน้ำชำระร่างกายให้สะอาด ทำจิตใจเบิกบาน แต่งกายให้สุภาพ เรียบร้อย เหมาะสมกับสถานที่
เตรียม 3 ของไหว้สำคัญ
- ของไหว้หรือของบูชาที่เราจะนำไปเวียนเทียนเพื่อสักการะพระพุทธเจ้าตามความเชื่อของชาวพุทธ ได้แก่ ดอกไม้ 1 คู่ , ธูป 3 ดอก, เทียน 1 เล่ม
ไหว้พระประธานก่อน
- เมื่อไปถึงวัดให้เข้าไปสักการะพระพุทธรูปที่เป็นพระประธานหลักด้านในโบสถ์ก่อน แล้วค่อยออกมาตั้งแถวเตรียมตัวเวียนเทียนด้านนอก
เวียนประทักษิณ
- จากนั้นจุดธูป เทียน นำมาถือไว้ในมือพร้อมดอกไม้ พนมมือขึ้น แล้วเดินวนรอบโบสถ์ไปทางด้านขวามือพร้อมสวดมนต์
ระวังอันตรายจากธูปเทียน
- ขณะเดินเวียนเทียนต้องสำรวมกาย วาจา ใจ และควรรักษาระยะห่างจากคนข้างหน้า เพื่อไม่ให้ธูปเทียนโดนผู้อื่น อาจทำให้บาดเจ็บได้
การวางดอกไม้ธูปเทียน
- หลังจากเวียนเทียนจนครบ 3 รอบ ให้นำดอกไม้ธูปเทียนไปปักบูชาตามจุดที่เตรียมไว้
บทสวดมนต์เวียนเทียน วันอาสาฬหบูชา
เวียนเทียน รอบที่ 1 (บทสวดเพื่อระลึกถึงพระพุทธ)
- อิติปิ โส ภะคะวา อะระหัง สัมมาสัมพุทโธ วิชชาจะระณะสัมปันโน สุคะโต โลกะวิทู อะนุตตะโร ปุริสสะทัมมะสาระถิ สัตถา เทวะมนุสสานัง พุทโธ ภะคะวาติ
เวียนเทียน รอบที่ 2 (บทสวดระลึกถึงพระธรรม)
- สวากขาโต ภะคะวะตา ธัมโม สันทิฏฐิโก อะกาลิโก เอหิปัสสิโก โอปะนะยิโก ปัจจัตตัง เวทิตัพโพ วิญญูฮีติ
เวียนเทียน รอบที่ 3 (บทสวดระลึกถึงพระสงฆ์)
- สุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อุชุปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ญายะปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ สามีจิปะฏิปันโน ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ ยะทิทัง จัตตาริ ปุริสะยุคานิ อัฏฐะ ปุริสะปุคคะลา เอสะ ภะคะวะโต สาวะกะสังโฆ อาหุเนยโย ปาหุเนยโย ทักขิเณยโย อัญชะลีกะระณีโย อะนุตตะรัง ปุญญักเขตตัง โลกัสสาติ
เข้าวัด ทำบุญต้องปฏิบัติตนอย่างไร? ขั้นตอนและเวลาถวายเพลวันอาสาฬหบูชา 2567 พระสงฆ์รับฉันอาหารได้ถึงกี่โมง?
วันอาสาฬหบูชา 2567 ตรงกับวันเสาร์ที่ 20 กรกฎาคม 2567 ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ชาวพุทธมักจะใช้ช่วงเวลาตอนเช้าเข้าวัดทำบุญกันกับครอบครัวภายในวัดใกล้บ้าน หรือวัดที่ตามแต่ละบุคคลสะดวก ตามที่ศรัทธา ก่อนช่วงเย็นจะออกจากบ้านมาเวียนเทียนที่วัดกัน
เข้าวัดทำบุญต้องปฏิบัติตนอย่างไร? ในวันอาสาฬหบูชา 2567 "ขั้นตอน - เวลาถวายเพล"
- ช่วงเช้าพระภิกษุจะออกบิณฑบาตตามกิจของสงฆ์
- พระภิกษุจะฉันภัตตาหารเช้า ระหว่างเวลา 07.00 - 08.00 น.
- พระภิกษุฉันภัตตาหารเพล อาหารกลางวัน ระหว่างเวลา 11.00 - 12.00 น. โดยกิจของสงฆ์จะฉันอาหารในเวลาล่วงเลยเกินเที่ยงไม่ได้