เฝ้าระวัง น้ำป่าหลาก - ดินโคลนถล่ม กรมอุทยานฯ เตรียมพร้อมช่วยประชาชน 24 ชม.

เฝ้าระวัง น้ำป่าหลาก - ดินโคลนถล่ม กรมอุทยานฯ เตรียมพร้อมช่วยประชาชน 24 ชม.

พายุฝนถล่ม! เตือนหลายพื้นที่เสี่ยง ดินโคลนถล่ม - น้ำป่าไหลหลาก รมว.ทส. สั่งด่วน กรมอุทยานฯ เตรียมพร้อมช่วยเหลือประชาชนประสบภัยพิบัติ 24 ชั่วโมง

วันที่ 23 กรกฎาคม 2567 พล.ต.อ.พัชรวาท วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ห่วงใยพี่น้องประชาชนที่ประสบปัญหาภัยพิบัติจากพายุฝนและดินโคลนถล่ม จึงสั่งการให้ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช และหน่วยงานในสังกัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เตรียมพร้อมให้การช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติ

 

นอกจากนี้ยังได้กำชับ กรมอุทยานแห่งชาติฯ ที่มีแหล่งท่องเที่ยวประเภท น้ำตก และแหล่งท่องเที่ยวทางน้ำ ที่อยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติ วนอุทยาน เขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า เขตห้ามล่าสัตว์ป่าทั่วประเทศ ให้เจ้าหน้าที่เตรียมความพร้อมเฝ้าระวังเหตุน้ำป่าไหลหลาก และดินโคลนถล่ม โดยให้ประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากเห็นว่ามีความสุ่มเสี่ยงต่อการสูญเสียชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวให้ประกาศปิดแหล่งท่องเที่ยวทันที และได้มีการจัดเจ้าหน้าที่ชุดเฝ้าระวัง ชุดกู้ภัย เพื่อสามารถเข้าระงับยับยั้งเหตุการณ์วิกฤตที่อาจเกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที โดยขณะนี้ยังไม่มีอุทยานแห่งชาติและเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าปิดให้บริการ

 

ด้าน นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้สั่งการผู้อำนวยการสำนักบริหารพื้นที่อนุรักษ์ ทั้ง 16 สำนัก และ 5 สาขา เตรียมพร้อมให้ความช่วยเหลือประชาชน โดยให้จัดเตรียมกำลังพล อุปกรณ์ในการช่วยเหลือประชาชน ตลอด 24 ชั่วโมง เช่น เหตุน้ำท่วม ดินถล่ม ต้นไม้หักล้มทับบ้านเรือนประชาชน ซึ่งหากประชาชนที่ได้รับความเดือดร้อนสามารถประสานหน่วยงานในพื้นที่ และสายด่วนพิทักษ์ป่า 1362 ได้ตลอด 24 ชั่วโมง

เฝ้าระวัง น้ำป่าหลาก - ดินโคลนถล่ม กรมอุทยานฯ เตรียมพร้อมช่วยประชาชน 24 ชม.

ขณะที่ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) รายงานสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ จังหวัดจันทบุรี - จังหวัดตราด รวม 5 อำเภอ 7 ตำบล บ้านเรือนประชาชนได้รับผลกระทบรวม 1,594 ครัวเรือน ดังนี้

1. จันทบุรี เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 4 อำเภอ ได้แก่ อำเภอเมืองฯ (ต.บางกะจะ และ ต.ท่าช้าง) อ.ขลุง (ต.ซึ้ง และ ต.บ่อ) อ.เขาคิชฌกูฐ (ต.พลวง) อ.ท่าใหม่ (ต.สองพี่น้อง) บ้านเรือนได้รับผลกระทบรวม 656 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

2. ตราด เกิดน้ำท่วมในพื้นที่ 1 อำเภอ คือ อำเภอเมืองฯ (ต.กระแจะ) บ้านเรือนได้รับผลกระทบรวม 938 ครัวเรือน ระดับน้ำลดลง

เฝ้าระวัง น้ำป่าหลาก - ดินโคลนถล่ม กรมอุทยานฯ เตรียมพร้อมช่วยประชาชน 24 ชม.

กรมอุตุนิยมวิทยา พยากรณ์อากาศสำหรับประเทศไทย 18:00 น. วันนี้ ถึง 18:00 น. วันพรุ่งนี้

ภาคเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 40 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดน่าน ตาก และอุตรดิตถ์ อุณหภูมิต่ำสุด 24-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. 

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักบางแห่งบริเวณจังหวัดหนองคาย บึงกาฬ สกลนคร นครพนม และมุกดาหาร อุณหภูมิต่ำสุด 23-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.

ภาคกลาง

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดนครสวรรค์ อุทัยธานี กาญจนบุรี ราชบุรี นครปฐม และสมุทรสาคร อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 33-35 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม. 

ภาคตะวันออก

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ และมีฝนตกหนักถึงหนักมากบางแห่งบริเวณจังหวัดนครนายก ปราจีนบุรี สระแก้ว จันทบุรี และตราด อุณหภูมิต่ำสุด 23-28 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 29-33 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันออก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดเพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร และสุราษฎร์ธานี อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 34-36 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดสุราษฎร์ธานี ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดนครศรีธรรมราช ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-30 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 1 เมตร ห่างฝั่งและบริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 1 เมตร

ภาคใต้(ฝั่งตะวันตก)

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 30 ของพื้นที่ ส่วนมากบริเวณจังหวัดระนอง พังงา และภูเก็ต อุณหภูมิต่ำสุด 24-26 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 31-34 องศาเซลเซียส ตั้งแต่จังหวัดพังงา ขึ้นมา: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 20-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูงประมาณ 2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร ตั้งแต่จังหวัดภูเก็ต ลงไป: ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 15-35 กม./ชม. ทะเลมีคลื่นสูง 1-2 เมตร บริเวณที่มีฝนฟ้าคะนองคลื่นสูงมากกว่า 2 เมตร

กรุงเทพและปริมณฑล

มีฝนฟ้าคะนอง ร้อยละ 60 ของพื้นที่ อุณหภูมิต่ำสุด 26-27 องศาเซลเซียส อุณหภูมิสูงสุด 32-34 องศาเซลเซียส ลมตะวันตกเฉียงใต้ ความเร็ว 10-20 กม./ชม.