แง่คิดเรื่องการปฏิรูปสังคมจากอังกฤษ
เราสามารถเรียนรู้บทเรียนประวัติศาสตร์สังคมจากวรรณกรรมชั้นดีได้ นวนิยาย มิดเดิล มารช – ศึกษาชีวิตคนในหัวเมือง (1871-1872) เล่าเรื่องชีวิตของคนชั้นกลางชาวอังกฤษในหัวเมืองยุคร้อยกว่าปีที่แล้ว
โดย วิเคราะห์เจาะลึกในเชิงจิตวิทยา สะท้อนภาพประวัติศาสตร์สังคม (รวมเศรษฐกิจการเมือง) ในยุคพัฒนาอุตสาหกรรมสมัยศตวรรษแรก (คริสตศักราชที่ 19) ของอังกฤษได้อย่างมีศิลปะการประพันธ์อย่างน่าเรียนรู้
จอร์จ อีเลียต (ค.ศ. 1819-1880) นามแฝงของนักเขียนหญิง มาจากครอบครัวคนชั้นกลางระดับล่างในหัวเมืองภาคกลางของอังกฤษ ได้เรียนถึงชั้นมัธยม เป็นคนรักการอ่านหนังสือ ช่างคิด ช่างสังเกต
เป็นนักแปล นักเขียนบทความ และนวนิยายหลายเล่มที่มีเนื้อหาสาระทางสังคมมากกว่าเรื่องแบบโรแมนติกพาฝันที่เป็นที่นิยมเขียนกันในยุคนั้น
มิดเดิล มารช มีทั้งเรื่องราวรักใคร่ ความใฝ่ฝัน การแต่งงาน ชีวิตด้านต่างๆ และเรื่องที่เชื่อมโยงการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจ การเมือง สังคม ของประเทศอังกฤษในยุคศตวรรษที่ 19 (ยุคเดียวกันกับชาร์ลส์ ดิกกิ้น)
เช่น เรื่องปัญหาชาวนาเช่า เรื่องมีการเดินรถไฟเข้าไปในบางจังหวัดเป็นครั้งแรก การเลือกตั้ง ส.ส. ฯลฯ
เรามักจะได้ยินว่าอังกฤษเป็นประเทศประชาธิปไตย ที่มีระบอบรัฐสภาและการเลือกตั้งผู้แทนมาอย่างน้อย 300 ปีแล้ว
แต่ความจริงอังกฤษเป็นประเทศกึ่งศักดินากึ่งประชาธิปไตย ที่เริ่มจากการที่ชนชั้นขุนนางเจ้าที่ดินสามารถต่อรองกับกษัตริย์ จนจัดตั้งสภาคนชั้นสูงเพื่อแบ่งปันอำนาจกับกษัตริย์ได้
ในยุคที่มีรัฐสภายุคแรกๆ มีเฉพาะคนชั้นสูง เช่น ขุนนาง เจ้าที่ดินใหญ่ และคนชั้นกลาง เช่น พ่อค้า นักอุตสาหกรรมบางส่วนเท่านั้นที่จะมีโอกาสสมัครได้เข้าไปเป็นผู้แทนในสภา
ถึงยุคเมื่อร้อยกว่าปีที่แล้ว ผู้มีสิทธิเลือกตั้งมีเฉพาะผู้ชายที่มีทรัพย์สิน (เช่นที่ดิน) ระดับหนึ่งเท่านั้นที่การแบ่งเขตเลือกตั้งนั้นทางฝ่ายรัฐบาลใช้อำนาจแบ่งเขตเพื่อพรรคพวกของตน การหาเสียงเลือกตั้งมีทั้งการปราศรัย การจัดตั้งหน้าม้าและการกลั่นแกล้ง ล้อเลียนแบบทำให้คู่แข่งเป็นตัวตลก มีการซื้อเสียง การเลี้ยงเหล้า ฯลฯ
สังคมอังกฤษที่จอร์ช อีเลียต สะท้อนออกมาได้อย่างดีเยี่ยม มีการแบ่งชนชั้น มีความเหลื่อมล้ำต่ำสูง มีปัญหาคนส่วนใหญ่ยังยากจนอยู่ การศึกษาต่ำมาก
แนวคิดของชนชั้นสูงและชนชั้นกลาง ว่าจะพัฒนาประเทศไปทางไหนก็มีความคิดแตกต่างกัน ถกเถียงกันหลายแนวทาง มีทั้งพวกจารีตนิยม เสรีนิยม พวกพูดอย่างกับทำจริงเป็นอีกอย่าง พวกที่มีความเชื่อทางศาสนานิกายที่แตกต่างกันมาก
โดยเปรียบเทียบ รัฐบาลอังกฤษตั้งแต่ยุค 100-200 ปีที่แล้ว มีความอดกลั้น ใจกว้างมากกว่าประเทศในยุโรปอื่นๆ นักปฏิรูปฝ่ายซ้ายจากยุโรปหลายคนรวมทั้งคาร์ล มาร์กซ์, โครพอตกิ้น ฯลฯ ลี้ภัยไปใช้ชีวิตและเคลื่อนไหวในอังกฤษ
อังกฤษใช้เวลาหลังจากยุคของจอร์จ อีเลียต, เมื่อร้อยกว่าปีที่แล้วค่อยๆ ปฏิรูปให้ประชาชนทั่วไป รวมทั้งผู้หญิง มีสิทธิเลือกตั้งผู้แทน การปฏิรูปด้านสาธารณสุข การศึกษา การขนส่ง การพัฒนาเกษตรกรรม อุตสาหกรรม สวัสดิการการทำงานและอื่นๆ
การปฏิรูปที่อังกฤษได้มาเพราะประชาชนโดยเฉพาะคนจน แรงงานทั้งภาคเกษตรและภาคอุตสาหกรรม ต่างต่อสู้กับฝ่ายชนชั้นสูงมาหลายยุคหลายสมัย
บางยุคปัญญาชนและประชาชนฝ่ายก้าวหน้าถูกรัฐบาลใช้กำลังปราบรุนแรง แต่บางยุครัฐบาลก็ผ่อนปรนกับฝ่ายคนงานเพื่อที่จะปรับตัวให้ระบบทุนนิยมพัฒนาได้ดีกว่าประเทศอื่นๆ
อังกฤษนั้นพัฒนาทุนนิยมอุตสาหกรรม รวมทั้งเป็นจักรวรรดินิยมมีอาณานิคมมาก เป็นทุนนิยมประเทศแรกๆ ความมั่งคั่งรวมทั้งความรู้ค่อยๆ กระจายไปสู่ประชาชน เกิดคนชั้นกลางรุ่นใหม่ ปัญญาชน ช่างฝีมือ เกษตรกรรายใหญ่ พ่อค้า นักอุตสาหกรรมที่พยายามอ่าน เรียนหนังสือ พัฒนาความรู้ ความสามารถ รวมทั้งวัฒนธรรมแบบใหม่เพื่อที่จะแข่งขันกับชนชั้นเจ้าขุนมูลนาย
อังกฤษเกิดนักคิด นักเขียน นักเคลื่อนไหวปฏิรูปทั้งทางศาสนาและทางสังคมเศรษฐกิจ
ความคิดในการปฏิรูปของอังกฤษนั้นรวมถึงการปฏิรูปตนเอง ให้เป็นคนที่ขยันขันแข็ง มีระเบียบวินัย มีศีลธรรม มีความเป็นธรรม มีจิตสำนึกเพื่อส่วนรวมเพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งนับเป็นเรื่องประวัติศาสตร์ทางสังคมที่น่าสนใจ ศึกษา เรียนรู้
ความคิดแบบคอนเชอเวทีฟ จารีตนิยมคงมีอิทธิพลอยู่มากในอังกฤษ และความคิดแบบจักรวรรดินิยม (ลัทธิล่าอาณานิคม), ทุนนิยมกอบโกยก็มีอิทธิพลควบคู่กันไปด้วย แต่ต่อมาก็มีความคิดแบบเสรีนิยม
และในบางยุคสมัยก็มีความคิดแบบก้าวหน้าของขบวนการแรงงาน พวกสังคมนิยม สหกรณ์นิยมขึ้นมาท้าทาย ทำให้อังกฤษในปัจจุบันพัฒนาเป็นประเทศที่มีเสรีประชาธิปไตยและความเป็นธรรมในระดับหนึ่งที่สูงกว่าของไทย
ประเทศไทยนั้น แนวคิดจารีตนิยม ศักดินานิยม อำนาจนิยม ชาติศาสนา กษัตริย์นิยม มีอิทธิพลมากจนไม่เปิดให้พื้นที่แนวก้าวหน้าพัฒนาได้
การปฏิวัติ 2475 สร้างประชาธิปไตยแบบรัฐสภา/ทุนนิยมได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็ถูกทหารฝ่ายหัวเก่าทำรัฐประหารยึดอำนาจไปตั้งแต่ พ.ศ. 2490 พวกปัญญาชนฝ่ายก้าวหน้าของไทยในยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ถึงปี 2501 ก็ถูกทหารและฝ่ายขวาปราบอย่างรุนแรง
การปฏิวัติ 14 ตุลาคม 2516 สร้างกระแสประชาธิปไตยแบบรัฐสภาได้อีกครั้ง แต่อยู่ได้แค่ 3 ปี ก็ถูกฝ่ายหัวเก่าขวาจัดปราบตอน 6 ตุลาคม 2519 อย่างรุนแรงเช่นกัน
ปัญหาคือ ไทยเป็นทุนนิยมที่มาทีหลังจากอังกฤษ สหรัฐฯ และญี่ปุ่น เป็นทุนนิยมที่ผสมกับศักดินาและเป็นแบบบริวารที่เน้นการพึ่งพาประเทศทุนนิยมที่ใหญ่กว่า
ไทยมีชนชั้นสูงกับชนชั้นล่างที่ต่างกันมาก มีปัญญาชนชนชั้นกลางที่อิสระและเข้มแข็งน้อย ไทยพัฒนาทุนนิยมได้โดยการพึ่งพาทุนต่างชาติเป็นหลัก ในปี พ.ศ. นี้ ไทยอาจพัฒนาทุนนิยมเพิ่มขึ้น มีคนระดับกลางมากขึ้นบ้าง
แต่คนชั้นกลางมักจะมีผลประโยชน์ร่วม และเลือกข้างชนชั้นสูงมากกว่า ที่จะมีแนวคิดที่จะปฏิรูปประเทศเพื่อคนส่วนใหญ่ในแนวเสรีนิยมก้าวหน้า ทำให้ชนชั้นนำไทยยังคงเป็นพวกจารีตนิยม ที่ความขัดแย้งทางชนชั้นในไทยถูกผ่อนคลายด้วยการพัฒนาแบบกอบโกยล้างผลาญทรัพยากรธรรมชาติมาก
และการมอมเมาทางความคิดให้ประชาชนเลือกเชียร์ผู้นำกลุ่มต่างๆ ประชาชนจะต้องตื่นตัวทางการเมือง, สังคม ฉลาดและเข้มแข็ง เป็นตัวของตัวเองมากขึ้น จึงจะมีทางผลักดันการปฏิรูปประเทศไทยได้จริง.