ขึ้นทะเบียนเพิ่ม 5 อุทยานแห่งชาติ เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย

ขึ้นทะเบียนเพิ่ม 5 อุทยานแห่งชาติ เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย

ขึ้นทะเบียนเพิ่ม 5 อุทยานแห่งชาติ เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 ส่งเสริมท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ ร่วมแก้ปัญหามลภาวะทางแสง

วันที่ 1 สิงหาคม 2567 กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช โดยสำนักอุทยานแห่งชาติ เข้าร่วมในงานรับมอบโล่ และขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย ประจำปี 2567 “Amazing Dark Sky in Thailand 2024” แสดงความยินดีกับอุทยานแห่งชาติ 5 แห่ง ที่ได้ขึ้นทะเบียนเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดประจำปี 2567 จากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ณ ห้องประชุมจารุวัสตร์ ชั้น 10 อาคารการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) กรุงเทพมหานคร

 

โดยในปี 2567 สถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (องค์การมหาชน) ร่วมกับการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ประกาศรายชื่อเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืด หรือ Dark Sky แห่งใหม่อีก 18 แห่ง โดยเป็นพื้นที่อุทยานท้องฟ้ามืด (Dark Sky Park) 5 แห่ง ได้แก่

  1. อุทยานแห่งชาติถ้ำปลา - น้ำตกผาเสื่อ จังหวัดแม่ฮ่องสอน
  2. อุทยานแห่งชาติตาดโตน
  3. อุทยานแห่งชาติไทรทอง จังหวัดชัยภูมิ
  4. อุทยานแห่งชาติภูผายล จังหวัดสกลนคร
  5. อุทยานแห่งภูเวียง จังหวัดขอนแก่น

ขึ้นทะเบียนเพิ่ม 5 อุทยานแห่งชาติ เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย

 

สำหรับอุทยานท้องฟ้ามืดที่เป็นพื้นที่อนุรักษ์ในความรับผิดชอบของ กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้รับการขึ้นทะเบียนเป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดแล้วเมื่อปี 2565 และ 2566 จำนวน 10 แห่ง ดังนี้

ปี 2565 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติห้วยน้ำดัง จังหวัดเชียงใหม่, อุทยานแห่งชาติผาแต้ม จังหวัดอุบลราชธานี, อุทยานแห่งชาติป่าหินงาม จังหวัดชัยภูมิ, อุทยานแห่งชาติภูแลนคา จังหวัดชัยภูมิ และเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าภูเขียว จังหวัดชัยภูมิ

ปี 2566 จำนวน 5 แห่ง ได้แก่ อุทยานแห่งชาติแม่วงก์ จังหวัดกำแพงเพชร, อุทยานแห่งชาติตาพระยา จังหวัดสระแก้ว, อุทยานแห่งชาติเขาใหญ่ จังหวัดนครราชสีมา, อุทยานแห่งชาติศรีน่าน จังหวัดน่าน และวนอุทยานน้ำตกผาหลวง จังหวัดอุบลราชธานี

กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช ได้ตระหนักถึงมลภาวะทางแสง (Light Pollution) ที่เป็นอุปสรรคต่อการท่องเที่ยวเรียนรู้เชิงดาราศาสตร์ ทั้งยังส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ จึงส่งเสริมและสนับสนุนให้พื้นที่อนุรักษ์ในความรับผิดชอบ มีการบริหารจัดการแสงสว่างในพื้นที่ให้มีความมืดอยู่ในระดับที่สามารถสังเกตวัตถุบนท้องฟ้า เช่น ดาวเคราะห์ ดาวฤกษ์ กลุ่มดาว หรือทางช้างเผือก ได้ด้วยตาเปล่าหรืออุปกรณ์อื่นๆ และต้องปรับปรุงและพัฒนาภูมิทัศน์และสภาพสิ่งแวดล้อมให้เหมาะกับการสังเกตการณ์ทางดาราศาสตร์ ซึ่งเป็นการแก้ไขปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมอีกทางหนึ่ง จนได้รับการรับรองจากสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ

นอกจากนี้ กรมอุทยานฯ ยังให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากรเพื่อรองรับการท่องเที่ยวเชิงดาราศาสตร์ ด้วยการจัดฝึกอบรมให้ความรู้และทักษะการจัดกิจกรรมนันทนาการที่เกี่ยวข้องกับดาราศาสตร์ให้แก่เจ้าหน้าที่อุทยานแห่งชาติ รวมถึงการพิจารณาจัดสรรงบประมาณเพื่อจัดหาอุปกรณ์ทางดาราศาสตร์สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวหรือผู้ที่สนใจทั่วไปด้วย

ขึ้นทะเบียนเพิ่ม 5 อุทยานแห่งชาติ เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย

ขึ้นทะเบียนเพิ่ม 5 อุทยานแห่งชาติ เป็นเขตอนุรักษ์ท้องฟ้ามืดในประเทศไทย