เพิ่มความรู้เรื่องคุณภาพมาตรฐานข้าวไทยให้ชาวนา
เมื่อวันที่ 12-13 กรกฎาคม มีกิจกรรมเล็กๆ ที่จัดอบรมให้ความรู้แก่ชาวนาและโรงสีชุมชนในจังหวัดสุรินทร์ โดยกรมการค้าภายใน คือโครงการพัฒนาการพัฒนาตลาดข้าวเกษตรกร ปีงบประมาณ 2567
หัวข้อคือ “การพัฒนาคุณภาพข้าวสารตามมาตรฐานกระทรวงพาณิชย์" แบ่งกลุ่มปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร วิทยากรจากสำนักงานคณะกรรมการตรวจข้าว สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และหัวข้อ "การเพิ่มประสิทธิภาพโรงสีข้าวและลดต้นทุนโดยการปฏิบัติตามมาตรฐาน GHPs" วิทยากรจากสถาบันรับรองมาตรฐานไอเอสโอ (MASCI)
ชาวนาที่เข้ารับการอบรม มีทั้งชายและหญิง อายุวัยกลาง จนถึงระดับอาวุโส ในหัวข้อแรก ชาวนาที่เข้ารับการอบรมที่เป็นผู้อาวุโส จึง เป็นคุณลุงคุณป้าชาวนาของวิทยากรที่บรรยายและสาธิตปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร
ด้านการบรรยาย วิทยากรได้ให้ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับมาตรฐานข้าวไทยตามประกาศของกระทรวงพาณิชย์ที่ใช้บังคับอยู่ในปัจจุบัน คือมาตรฐานสินค้าข้าว พ.ศ.2559 มาตรฐานสินค้าข้าวหอมไทย พ.ศ.2559 และมาตรฐานสินค้าข้าวสีไทย พ.ศ.2562
วิทยากรได้บรรยายหลักการพื้นฐานองค์ประกอบหลักในการกำหนดมาตรฐานสินค้าข้าว ซึ่งมี 4 องค์ประกอบคือ
“พื้นข้าว” คือ สภาพข้าวโดยรวมที่ประกอบด้วยข้าวเต็มเมล็ดที่มีความยาวเป็นหน่วยการวัดความยาว (มิลลิเมตร)ในระดับต่างๆ ที่ผสมปนอยู่
“ส่วนผสม” คือ ส่วนประกอบของข้าวเต็มเมล็ด ต้นข้าว ข้าวหัก และปลายข้าวซีวัน
“สิ่งเจือปน” ได้แก่ สิ่งที่อาจมีปนได้ คือข้าวด้อยคุณภาพ ข้าวประเภทอื่นและวัตถุอื่น
“ระดับการขัดสี” คือการสีเอาเปลือกข้าวออกได้ข้าวกล้อง แล้วขัดสีเอารำออกจากข้าวกล้อง โดยมีเกณฑ์พิจารณาคือได้ขัดสีเอารำออกหมดหรือยังมีรำติดอยู่มากน้อยเพียงใด
รายละเอียดของแต่ละองค์ประกอบ ซึ่งเป็นคุณลักษณะของมาตรฐานข้าวแต่ละประเภทชนิดชั้นนั้น ได้กำหนดไว้ที่มาตรฐานข้าวแต่ละประเภท ชนิดและชั้น ซึ่งมีหลักทำความเข้าใจอย่างง่ายๆ คือ
ถ้าเป็นคุณลักษณะที่ต้องการให้มี หรือมีมากจะทำให้เป็นข้าวคุณภาพดี เช่น ข้าวเต็มเมล็ด ต้นข้าว จะกำหนดเป็นข้อกำหนดขั้นต่ำ คือต้องมีไม่น้อยกว่าที่กำหนด
ถ้าเป็นคุณลักษณะที่ไม่ต้องการให้มี หรือถ้ามีมากจะทำให้คุณภาพของข้าวด้อยลง เช่น ข้าวหัก ข้าวเมล็ดเสีย ความชื้น สิ่งเจือปนจะกำหนดเป็นข้อกำหนดขั้นสูงต้องมีไม่เกินที่กำหนดไว้
การแบ่งกลุ่มปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร กรมการค้าภายในได้จัดอุปกรณ์ที่จำเป็นที่ต้องใช้ในการปฏิบัติการตรวจสอบ คือกระดานที่ใช้สำหรับการคัดข้าว คีมคีบเมล็ดข้าว และไม้บรรทัดให้ชาวนาที่เข้ารับการอบรมทุกคน
การปฏิบัติการตรวจสอบคุณภาพข้าวสาร วิทยากรได้สาธิตและแนะนำชาวนาในการคัดแยกเมล็ดข้าวที่เป็นข้าวเต็มเมล็ด ต้นข้าว ข้าวหัก โดยอธิบายเกณฑ์การพิจารณาว่าเป็นข้าวเต็มเมล็ด ต้นข้าว หรือข้าวหักให้แก่ชาวนาที่เข้ารับการฝึกอบรมด้วย คือ
ข้าวแต่ละสายพันธุ์ จะมีความยาวของเมล็ดไม่เท่ากัน แต่ไม่ว่าจะเป็นข้าวสายพันธุ์ใด ไม่ว่าเป็นข้าวพันธุ์เมล็ดสั้นหรือเมล็ดยาว ก็จะแบ่งความยาวของเมล็ดข้าวนั้นเป็นสิบส่วนและมีเกณฑ์พิจารณา ดังนี้
“ ข้าวเต็มเมล็ด” คือ ข้าวที่มีความยาวครบสิบส่วนไม่มีส่วนใดหักทั้งนี้ให้รวมถึงเมล็ดข้าวที่มีความยาวตั้งแต่เก้าส่วนขึ้นไปด้วย ในทางปฏิบัติถือว่าเมล็ดข้าวที่ส่วนของจมูกข้าวหักเป็นข้าวเต็มเมล็ดด้วย
“ต้นข้าว” เป็นข้าวที่มีบางส่วนหักไป แต่ยังมีความยาวอยู่มากที่ยังไม่เข้าเกณฑ์ที่ถือว่าเป็นข้าวหักตามมาตรฐานข้าวแต่ละชนิดและชั้นซึ่งมีเกณฑ์ความยาว(ตามสัดส่วนของเมล็ดข้าว)ที่ถือเป็นข้าวหักไม่เท่ากัน รวมทั้งข้าวที่แตกเป็นซีกแต่ยังมีเนื้อข้าวมากกว่า 80 %
“ข้าวหัก” เป็นข้าวส่วนที่หักหรือแตกออกมาจากเมล็ดข้าว ที่มีความยาวตามสัดส่วนของเมล็ดข้าวไม่ถึงเกณฑ์ที่จะถือเป็นต้นข้าวของเกณฑ์ตามมาตรฐานข้าวแต่ละชนิด หรือชั้นได้
วิทยากรได้สาธิตและแนะนำวิธีคัดข้าวและวัดความยาว เพื่อพิจารณาว่าเป็น ข้าวเต็มเมล็ด หรือต้นข้าว หรือข้าวหัก หลังจากนั้นได้ให้คัดแยกข้าวท้องไข่ สิ่งที่อาจมีปนในข้าวซึ่งจะต้องมีไม่เกินเกณฑ์ที่กำหนดคือ ข้าวที่ด้อยคุณภาพ ได้แก่ ข้าวเมล็ดแดง ข้าวเมล็ดเหลือง ข้าวเมล็ดลีบ ข้าวเมล็ดอ่อน ข้าวเมล็ดดำ ข้าวเมล็ดเสียเช่นมีตำหนิ เป็นรู หรือผุ เมล็ดพืชอื่น วัตถุอื่นเช่นกรวด หิน ข้าวเปลือกแล้วชั่งน้ำหนัก เพื่อคำนวณวนอัตราส่วน
ต่อจากนั้นได้สาธิตการตรวจวัดความชื้นของข้าว ซึ่งตามมาตรฐานข้าวกำหนดให้ต้องมีความชื้นไม่เกิน 14% โดยเครื่องวัดความชื้นสำเร็จรูป และสาธิตการย้อมสีข้าวโดยสารเคมีเพื่อการพิจารณาเบื้องต้นว่าเป็นข้าวหอมมะลิไทย ข้าวหอมไทยหรือไม่ อันเนื่องจากข้อจำกัดด้านเวลา จึงไม่ได้ให้ผู้เข้ารับการอบรมได้ลงมือวัดความชื้นและย้อมสีข้าว
หมายเหตุ
1.มีเสียงสะท้อนจากชาวนาผู้เข้ารับการอบรมบางคนว่า อยู่กับข้าวปลูกข้าวมาทั้งชีวิต เพิ่งทราบว่า คุณภาพของข้าวมีการกำหนดมาตรฐานไว้นานแล้ว และเพิ่งเรียนรู้การคัดข้าวเพื่อการตรวจสอบคุณภาพข้าวจากการเข้ารับการอบรมในครั้งนี้
ผู้เข้ารับการอบรมบางท่านแสดงความเห็น ในภาคปฏิบัติถ้ามีเวลามากกว่านี้ก็น่าจะเป็นประโยชน์มากขึ้น และอยากเรียนรู้เพิ่มเติมอีก
จากเสียงสะท้อนดังกล่าว อาจกล่าวได้ว่าที่ผ่านมาชาวนาส่วนใหญ่ยังขาดการรับรู้และความเข้าใจเรื่องคุณภาพมาตรฐานข้าว ถ้าหากได้รับรู้และเข้าใจเรื่องคุณภาพมาตรฐานข้าวมากขึ้น และให้ความรู้เรื่องปัจจัยที่มีผลต่อคุณภาพมาตรฐานข้าว เช่น พันธุ์ข้าว การเก็บเกี่ยว การลดความชื้น ฯลฯ
ก็น่าจะเป็นประโยชน์ต่อชาวนาเองที่จะต่อยอดปลูก และเก็บเกี่ยวข้าวให้ได้ข้าวคุณภาพดีถูกต้องตามมาตรฐาน และเป็นประโยชน์ต่อวงการข้าวของไทยโดยรวม
2. เรื่องการถูกตัดความชื้นของข้าว เป็นเรื่องที่ชาวนาถูกเอาเปรียบจากคนรับซื้อข้าวที่ไม่สุจริตมากที่สุด หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง น่าจะให้ความรู้และจัดหาเครื่องวัดความชื้นสำเร็จรูปให้ที่หมู่บ้านหรือกลุ่มเกษตรกร หรือสหกรณ์ของชาวนา เพื่อได้เรียนรู้ทำความเข้าใจการวัดความชื้น ก็น่าจะลดการที่ชาวนาถูกเอาเปรียบเรื่องความชื้นได้ไม่น้อย.