เฝ้าระวังสถานการณ์ฝน 24 ชม. วางแผนระบายน้ำ ไม่ให้กระทบท่าจีน-เจ้าพระยา

เฝ้าระวังสถานการณ์ฝน 24 ชม. วางแผนระบายน้ำ ไม่ให้กระทบท่าจีน-เจ้าพระยา

สทนช. ระดมหน่วยงานเร่งเพิ่มประสิทธิภาพระบบเตือนภัยฤดูฝน จัดเจ้าหน้าที่เฝ้าระวัง 24 ชม. คาดปลายปีนี้ลานีญากำลังอ่อนลง เร่งวางแผนกักเก็บน้ำทุกอ่างให้เพียงพอสำหรับใช้หน้าแล้ง และวางแผนระบายน้ำลุ่มเจ้าพระยาตอนบนไม่ให้กระทบท้ายน้ำ

วันนี้ (7 ส.ค. 67) นายไพฑูรย์ เก่งการช่าง รองเลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ (ทน.) กรมทรัพยากรธรณี (ทธ.) กรมชลประทาน (ชป.) การประปานครหลวง (กปน.) สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น เป็นต้น เข้าร่วมการประชุม ณ สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ 

รองเลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า การประชุมวันนี้ได้แจ้งที่ประชุมรับทราบนโยบายและข้อสั่งการของนายกรัฐมนตรี ขอให้ทุกหน่วยเร่งเพิ่มประสิทธิภาพการแจ้งเตือนข้อมูลล่วงหน้า โดยมีเป้าหมายคือพี่น้องประชาชนในพื้นที่จะต้องได้รับข้อมูลที่ถูกต้องล่วงหน้าเพื่อการเตรียมตัวได้ทันและเกิดผลกระทบและความเสียหายน้อยที่สุด ซึ่งในวันที่ 8 ส.ค. นี้ นายกรัฐมนตรีจะลงพื้นที่ จ.ภูเก็ต และหารือกับกรมทรัพยากรธรณี ในเรื่องการแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงดินถล่มด้วย  และจากการที่ สทนช. ลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ฝนและน้ำท่วมและดินโคลนถล่มที่ จ.น่าน พร้อมกับได้ถอดบทเรียนการทำงานของหน่วยงานและหารือกันเพื่อปรับปรุงระบบการแจ้งเตือนในพื้นที่ซึ่งก็ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดี

การประชุมวันนี้จึงได้เน้นย้ำทุกหน่วยงาน ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา สสน. ปภ. และหน่วยงานท้องถิ่น ในการให้ความร่วมมือส่งต่อการแจ้งเตือนให้แม่นยำและรวดเร็ว โดยทุกหน่วยงานควรมีเจ้าหน้าที่ทำงานในพื้นที่ตลอดเวลา เพื่อเตรียมพร้อมรับทุกสถานการณ์และเข้าช่วยเหลือประชาชนได้ทันที นอกจากนี้ ในการเฝ้าระวังในพื้นที่เสี่ยงและแหล่งน้ำต่างๆ ได้ขอความร่วมมือทุกหน่วย ได้แก่ ชป. กฟผ. ทน. ทธ. เป็นต้น เร่งปรับปรุงสถานีตรวจวัดระดับน้ำที่ชำรุดให้สามารถทำงานได้และแจ้งเตือนประชาชนอย่างมีประสิทธิภาพให้ครอบคลุมทั่วทุกพื้นที่ 

รองเลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า สำหรับสถานการณ์น้ำในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา เกิดร่่องมรสุมพาดผ่านประเทศเมียนมาและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามและอ่าวตังเกี๋ย ประกอบกับเกิดลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังปานกลาง ส่งผลกระทบให้ประเทศไทยเกิดอุทกภัยในหลายพื้นที่ 

ณ ปัจจุบันทั่วประเทศยังคงเหลือจังหวัดที่ประสบอุทกภัย 6 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เชียงราย พะเยา น่าน เพชรบูรณ์และปราจีนบุรี และที่ประชุมได้คาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจากฝนตกสะสมและฝนคาดการณ์ล่วงหน้า 3 วัน ช่วงวันที่ 7-9 ส.ค. 67 พบที่ภาคใต้ จ.สุราษฎร์ธานี และ จ.นราธิวาส จึงขอให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่เตรียมพร้อมรับสถานการณ์ล่วงหน้าด้วย

“จากการวิเคราะห์คาดการณ์ ณ วันนี้ พบว่าในช่วงปลายปีแนวโน้มสภาวะลานีญาจะลดลง ทำให้ปริมาณฝนไม่มากอย่างที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งส่งผลต่อแผนการกักเก็บน้ำสำหรับใช้ในฤดูแล้งของ 2 เขื่อนหลัก ได้แก่ เขื่อนภูมิพล และเขื่อนสิริกิติ์ สทนช. จึงจะนัดหารือ 4 หน่วยงาน ได้แก่ กรมอุตุนิยมวิทยา  ชป. กฟผ. และ สสน. ร่วมประเมินสถานการณ์และวางแผนการบริหารจัดการน้ำในเขื่อนต่างๆ ให้มีน้ำเพียงพอในฤดูแล้งที่จะถึงนี้ รวมถึงสามารถให้เกษตรกรสามารถทำนาปรังในปีนี้ได้ด้วย นอกจากนี้ ปริมาณฝนที่จะตกหนักในช่วงเดือน ส.ค.-ก.ย. ที่บริเวณภาคกลางและภาคตะวันตกทำให้ปริมาณน้ำไหลเข้าแม่น้ำท่าจีนและแม่น้ำเจ้าพระยาเป็นจำนวนมาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องมาวางแผนการระบายน้ำร่วมกันไม่ให้เกิดผลกระทบด้านท้ายน้ำ และยังต้องเฝ้าระวังติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป” รองเลขาธิการ สทนช.กล่าวในตอนท้าย