สธ. จับตา 'ฝีดาษวานร' ทวีปแอฟริกา หลัง WHO จ่อยกระดับภาวะฉุกเฉินระหว่าง ปท.

สธ. จับตา 'ฝีดาษวานร' ทวีปแอฟริกา หลัง WHO จ่อยกระดับภาวะฉุกเฉินระหว่าง ปท.

สธ. จับตา "ฝีดาษวานร" ทวีปแอฟริกา หลัง WHO เตรียมยกระดับภาวะฉุกเฉินระหว่างประเทศ ปลัด สธ. เผย สถานการณ์โรคฝีดาษวานรที่เพิ่มขึ้นในทวีปแอฟริกา ร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยเด็ก อัตราป่วยเสียชีวิตประมาณ ร้อยละ 5

วันนี้ (11 ส.ค. 67) นายแพทย์โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวถึงกรณี องค์การอนามัยโลกรายงานการระบาด โรคฝีดาษวานร ที่พบผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นในทวีปแอฟริกา ว่า มี 15 ประเทศที่รายงานพบผู้ป่วยฝีดาษวานรในปีนี้ จำนวนผู้ป่วยมากกว่าร้อยละ 90 อยู่ในประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยคองโก หรือ DR Congo ในจำนวนนี้ ร้อยละ 70 เป็นผู้ป่วยเด็ก มีอัตราป่วยเสียชีวิตประมาณ ร้อยละ 5

โดยประเทศที่พบผู้ป่วยล่าสุด ได้แก่ อูกันดา เคนยา รวันดา ซึ่งมีที่ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของ DR Congo แต่ที่น่าเป็นห่วงและต้องจับตา คือ ผู้ป่วยฝีดาษวานรมีจำนวนเพิ่มจากปีที่แล้วมาก และจากเดิมที่ระบาดในวัยผู้ใหญ่ แต่ขณะนี้มีผู้ป่วยเด็กเพิ่มจำนวนรวดเร็ว หลังตรวจพบสายพันธุ์ย่อย Clade Ib ที่ติดต่อได้ง่ายขึ้น จากการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่มีตุ่มหนองหรือสารคัดหลั่งที่มีเชื้อไวรัส หรือการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ป่วยที่มีเชื้อไวรัส

 

ลักษณะผู้ติดเชื้อฝีดาษวานร จะมีที่สังเกตได้ คือ มีตุ่มน้ำ หรือ ตุ่มหนอง นอกจากมีไข้ เจ็บคอ แนะนำให้หลีกเลี่ยงการสัมผัสคลุกคลีใกล้ชิดกับผู้ป่วย ล้างมือบ่อยๆ ไม่ใช้สิ่งของเครื่องใช้ร่วมกับผู้อื่น

นายแพทย์โอภาส กล่าวต่อว่า ผู้อำนวยการใหญ่องค์การอนามัยโลก กำลังเชิญประชุมคณะผู้เชี่ยวชาญ เพื่อพิจารณาว่าสมควรที่จะประกาศให้การระบาดของโรคฝีดาษวานรในรอบใหม่นี้ เป็นภาวะฉุกเฉินทางสาธารณสุขระหว่างประเทศ (Public Health Emergency of International Concern) หรือไม่ เพื่อจะได้เพิ่มการระดมทรัพยากรให้การช่วยเหลือประเทศที่ประสบกับการระบาดรุนแรงได้เหมาะสม

ในส่วนของประเทศไทย กระทรวงสาธารณสุขได้มอบหมายกรมควบคุมโรค ยกระดับมาตรการเฝ้าระวังคัดกรองโรค ทั้งที่ด่านควบคุมโรคติดต่อระหว่างประเทศ และโรงพยาบาลทุกแห่ง ประสานแจ้งให้คนไทยและชาวต่างชาติที่เดินทางมาจากประเทศที่ระบาดสังเกตและแจ้งอาการต่อเจ้าพนักงานควบคุมโรคติดต่อ และหากสงสัยว่าป่วยภายหลังกลับมาถึงแล้วให้รีบพบแพทย์เพื่อตรวจวินิจฉัยโรคและรักษาทันที

สำหรับประชาชนทั่วไป ขออย่าได้วิตกกังวล เนื่องจากประเทศไทยมีประสบการณ์รับมือกับโรคฝีดาษวานรที่เป็นโรคติดต่ออุบัติใหม่ในช่วงปี 2565-2566 ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นกลุ่มที่มีพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ และมีระบบเฝ้าระวังคัดกรองและป้องกันควบคุมโรคที่เป็นมาตรฐานและได้รับการยอมรับในระดับโลก