เกาะติดน้ำท่วม นครพนม พบน้ำท่วมขังริมตลิ่ง 2,500 ไร่ เฝ้าระวังฝนระลอกใหม่

เกาะติดน้ำท่วม นครพนม พบน้ำท่วมขังริมตลิ่ง 2,500 ไร่ เฝ้าระวังฝนระลอกใหม่

สทนช. ติดตามสถานการณ์อุทกภัย จ.นครพนม พบพื้นที่น้ำท่วมขังริมตลิ่ง 2,500 ไร่ ยังไม่กระทบบ้านเรือนและพื้นที่เกษตร ยังต้องเฝ้าระวังฝนระลอกใหม่ เร่งบูรณาการหน่วยงานและประเทศสมาชิก MRC เฝ้าจับตาสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

วันนี้ (13 ส.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยถึงสถานการณ์อุทกภัยจังหวัดนครพนมว่า ตามที่ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือและ สปป.ลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ส่งผลให้มีฝนตกหนักใน สปป.ลาว และในประเทศไทยเองก็มีฝนตกสะสมตั้งแต่วันที่ 5 ส.ค. 67 จนถึงปัจจุบัน

ประกอบกับบริเวณที่ประสบอุทกภัยเป็นบริเวณที่เคยเกิดน้ำท่วมซ้ำซากตามธรรมชาติของระบบนิเวศของในพื้นที่ เนื่องจากเป็นพื้นที่ลุ่มน้ำต่ำ/ป่าบุ่งป่าทาม เป็นจุดบรรจบของลำน้ำอูนและแม่น้ำสงคราม ทำให้เกิดสภาวะน้ำแม่น้ำสงครามหนุนและเอ่อท่วมพื้นที่บริเวณ บ้านปากอูน หมู่ 4 และหมู่ 6 ต.ศรีสงคราม และบ้านท่าบ่อ หมู่ที่ 9 ต.ท่าบ่อสงคราม อ.ศรีสงคราม จ.นครพนม

ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมขังพื้นที่ริมตลิ่งประมาณ 2,500 ไร่ และจากการสำรวจไม่พบพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่การเกษตรได้รับผลกระทบ เนื่องจากขณะนี้ ระดับในแม่น้ำโขงยังสูงอยู่ ทำให้น้ำในลำน้ำอูนและแม่น้ำสงครามไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขงได้ ระดับน้ำ ณ วันที่ 13 ส.ค.67 เวลา 07.00 น. อยู่ที่ 9.07 ม. ต่ำกว่าตลิ่ง 2.93 ม. 

เกาะติดน้ำท่วม นครพนม พบน้ำท่วมขังริมตลิ่ง 2,500 ไร่ เฝ้าระวังฝนระลอกใหม่

จากการติดตามตรวจวัดระดับน้ำในแม่น้ำโขงที่สถานีนครพนมฝั่งประเทศไทย ปริมาณน้ำไหลผ่าน 19,447 ลบ.ม.ต่อวินาที ซึ่งอยู่ในเกณฑ์ปกติ และระดับน้ำมีแนวโน้มทรงตัวจนถึงวันที่ 16 ส.ค.67 และ ในวันที่ 17 ส.ค.67 ระดับน้ำจะเพิ่มสูงขึ้นประมาณ 10 - 20 เซนติเมตร ประกอบกับ ในวันที่ 16 -19 ส.ค.67 ประเทศไทยจะได้รับอิทธิพลของร่องมรสุมกำลังปานกลางพาดผ่านตอนบนของภาคเหนือ และประเทศลาวตอนบน เข้าสู่หย่อมความกดอากาศต่ำบริเวณประเทศเวียดนามตอนบน ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้จะมีลมฝ่ายตะวันออกพัดปกคลุมอ่าวไทยและภาคใต้ ส่งผลให้ภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักบางแห่ง ซึ่งจะทำให้เพิ่มปริมาณน้ำในลำน้ำสาขารวมถึงแม่น้ำโขง ซึ่งอาจเกิดภาวะน้ำท่วมขังและไม่สามารถระบายลงสู่แม่น้ำโขง ในลักษณะเช่นเดียวกันนี้ได้อีก รวมทั้งจะทำให้ระดับน้ำแม่น้ำโขง ตั้งแต่ จ.เชียงรายจนถึง จ.อุบลราชธานี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ดังนั้นต้องเฝ้าระวัง น้ำท่วมขังในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำโขง และแม่น้ำสาขาที่เคยเกิดน้ำท่วมขังเป็นประจำด้วย ซึ่ง สทนช. จะบูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งส่วนกลางและในพื้นที่เฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด และมีประกาศแจ้งเตือนพื้นที่เสี่ยงและประชาสัมพันธ์เผยแพร่ให้หน่วยงานและประชาชนในพื้นที่ได้มีการเตรียมการตั้งรับสถานการณ์ด้วย
 

“ในช่วงเวลาที่ผ่านมา สทนช. ได้ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขงทุกพื้นที่อย่างใกล้ชิด นอกจากนี้ยังได้ดำเนินการในฐานะสำนักเลขาธิการแม่น้ำโขงแห่งชาติไทย โดยเมื่อวันที่ 9 สิงหาคม 2567 สทนช. ได้มีหนังสือด่วนที่สุดไปยังสำนักงานเลขาธิการคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง (MRCS) ให้ประสานงานกับประเทศสมาชิก MRC ช่วยเหลือในการบริหารจัดการน้ำของเขื่อน เพื่อหลีกเลี่ยงอุทกภัยจากปริมาณน้ำที่ล้นตลิ่งของแม่น้ำโขง และติดตามสถานการณ์ ตลอดจนการแจ้งเตือน เพื่อบรรเทาสถานการณ์ที่อาจจะส่งผลกระทบต่อประชาชนริมโขงให้มากที่สุด” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย