จับตา! พายุเข้าไทย 1-2 ลูก เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ เร่งพร่องน้ำเพิ่มพื้นที่รับน้ำฝน

จับตา! พายุเข้าไทย 1-2 ลูก เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ เร่งพร่องน้ำเพิ่มพื้นที่รับน้ำฝน

สทนช. เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำที่มีปริมาณน้ำมาก เร่งพร่องน้ำเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำรองรับฝน พร้อมจับตาพายุเข้าไทย 1-2 ลูก ย้ำทุกหน่วยติดตามประเมินสภาพอากาศแบบเรียลไทม์ ปรับแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ แจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่องรับมือทันท่วงที

วันนี้ (14 ส.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เปิดภายหลังเป็นประธานการประชุมติดตามและประเมินสถานการณ์น้ำประจำสัปดาห์ ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมอุตุนิยมวิทยา สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรธรณี กรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย กรมชลประทาน สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) (GISTDA) กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น กรุงเทพมหานคร กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กรมฝนหลวงและการบินเกษตร เป็นต้น ณ ห้องประชุมน้ำปิง สทนช. และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์

ดร.สุรสีห์ กล่าวว่า จากสถานการณ์ฝนตกหนักในช่วงวันที่ 5-14 ส.ค. 67 ที่ผ่านมา ส่งผลให้เกิดอุทกภัยใน 16 จังหวัด ได้แก่ ภาคเหนือ 7 จังหวัด ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ 2 จังหวัด ภาคกลาง 2 จังหวัด ภาคตะวันออก 2 จังหวัด และภาคใต้ 3 จังหวัด ซึ่งปัจจุบันยังคงมีพื้นที่ประสบอุทกภัย 4 จังหวัด ได้แก่ จ.แม่ฮ่องสอน เชียงราย ลำปาง และปราจีนบุรี

จับตา! พายุเข้าไทย 1-2 ลูก เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ เร่งพร่องน้ำเพิ่มพื้นที่รับน้ำฝน

 

สำหรับการคาดการณ์พื้นที่เสี่ยงอุทกภัยจากปริมาณฝนตกสะสมสูงสุดรายอำเภอ มากกว่า 200 มิลลิเมตร ช่วงวันที่ 14-16 ส.ค. 67 ได้แก่ อ.ชะอวด อ.ทุ่งสง จ.นครศรีธรรมราช , อ.รัษฎา จ.ตรัง และ อ.เบตง จ.ยะลา โดย สทนช. ยังคงเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เนื่องจากคาดการณ์ว่าในช่วงวันที่ 16–22 ส.ค. 67 จะมีปริมาณฝนเพิ่มขึ้นและมีฝนตกหนักบางแห่ง จึงได้ออกประกาศ สทนช. ฉบับที่ 10/2567 แจ้งเตือนเฝ้าระวังน้ำท่วมฉับพลันและน้ำป่าไหลหลาก บริเวณภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และภาคตะวันออก เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เตรียมความพร้อมรับมือเป็นการล่วงหน้า 

จับตา! พายุเข้าไทย 1-2 ลูก เฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ เร่งพร่องน้ำเพิ่มพื้นที่รับน้ำฝน

นอกจากนี้ ข้อห่วงใยของรองนายกรัฐมนตรี (นายภูมิธรรม เวชยชัย) และรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี (นายจักรพงษ์ แสงมณี) ต่อสถานการณ์ฝนในพื้นที่ภาคเหนือที่ผ่านมา ได้สั่งการให้ สทนช. ตั้งศูนย์อำนวยการบริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยลุ่มน้ำยม-น่าน ที่ จ.สุโขทัย เพื่อบูรณาการบริหารจัดการน้ำร่วมกันระหว่าง 2 ลุ่มน้ำ ส่วนพื้นที่ทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก จะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จในวันพรุ่งนี้ (15 ส.ค.67) ซึ่งพร้อมเป็นพื้นที่หน่วงน้ำเพื่อรับน้ำหลากจากลุ่มน้ำยมตอนบนตลอดช่วงฤดูฝนนี้ คาดว่าจะช่วยหน่วงน้ำได้กว่า 400 ล้าน ลบ.ม. ลดผลกระทบน้ำท่วมในพื้นที่เศรษฐกิจและชุมชนเมืองของ จ.สุโขทัย และ จ.พิษณุโลก รวมถึงผลกระทบบริเวณพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างด้วย 

“สำหรับแนวโน้มของพายุ ที่จะเข้าสู่ประเทศไทย กรมอุตุนิยมวิทยาได้คาดการณ์ว่า อาจมีพายุ 1-2 ลูก แต่ด้วยดัชนีสมุทรศาสตร์ คือ ค่าระดับการเปลี่ยนแปลงของอุณหภูมิผิวน้ำทะเลบริเวณมหาสมุทรแปซิฟิกฝั่งประเทศไทย ลดลงไปจากค่าปกติ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศของโลก ส่งผลให้การคาดการณ์สภาวะลานีญามีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ในวันนี้จึงได้กำชับให้ กรมอุตุนิยมวิทยา และ สสน. ประเมินสภาพอากาศและสภาวะลานีญาให้มีความสอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น เพื่อให้สามารถวางแผนบริหารจัดการน้ำได้อย่างสมดุล 

นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ทุกหน่วยงานปฏิบัติตาม 10 มาตรการฤดูฝน ปี 67 อย่างเคร่งครัด เร่งสำรวจจุดเปราะบางแนวคันกั้นน้ำ ซ่อมแซมอาคารชลศาสตร์และเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือให้มีความพร้อมใช้งาน พร้อมเฝ้าระวังอ่างเก็บน้ำ 64 แห่ง ที่ปริมาณน้ำสูงกว่าเกณฑ์เก็บกักสูงสุด เร่งพร่องน้ำเพิ่มพื้นที่กักเก็บน้ำรองรับสถานการณ์ฝนในช่วงปลาย ส.ค.-ก.ย.นี้ และเตรียมกักเก็บน้ำไว้เพื่อเป็นน้ำต้นทุนในช่วงฤดูแล้งที่จะถึงด้วย รวมทั้งแจ้งเตือนข้อมูลสถานการณ์น้ำให้ประชาชนได้รับทราบอย่างต่อเนื่อง มั่นใจว่า การบูรณาการตามมาตรการรับมือฤดูฝน จะช่วยป้องกันและลดผลกระทบจากสถานการณ์อุทกภัยปีนี้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย