‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ทำ ‘ยุโรป’ รวน พายุ-น้ำท่วม-คลื่นความร้อน-ไฟป่า มาพร้อมกัน

‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ทำ ‘ยุโรป’ รวน พายุ-น้ำท่วม-คลื่นความร้อน-ไฟป่า มาพร้อมกัน

“ยุโรป” กำลังเผชิญ “สภาพอากาศสุดขั้ว” ทางตอนเหนือของทวีปกำลังเผชิญหน้ากับฝนตกหนักและอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ในขณะที่ทางใต้ของยุโรปกำลังต่อสู้กับคลื่นความร้อนและไฟป่า

KEY

POINTS

  • “ยุโรป” กำลังเผชิญ “สภาพอากาศสุดขั้ว” ทางตอนเหนือของทวีปกำลังเผชิญหน้ากับฝนตกหนักและอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก แต่ขณะเดียวกันทางใต้ของยุโรปกำลังต่อสู้กับคลื่นความร้อนและไฟป่า
  • ระหว่างปี 2021-2023 เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 11,442 ครั้ง เป็น 16,956 ครั้งต่อปี โดยภูมิภาคยุโรปใต้มีแนวโน้มได้รับผลกระทบหนักที่สุด
  • ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเอลนีโญและลานีญาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วในยุโรป ปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเอลนีโญและลานีญา ซึ่งในเวลานี้เป็นช่วงที่เอลนีโญคงมีอิทธิพล

ยุโรป” กำลังเผชิญ “สภาพอากาศสุดขั้ว” ทางตอนเหนือของทวีปกำลังเผชิญหน้ากับฝนตกหนักและอุณหภูมิต่ำกว่าค่าเฉลี่ยมาก ในขณะที่ทางใต้ของยุโรปกำลังต่อสู้กับคลื่นความร้อนและไฟป่า

เบลเยียมเจอกับฝนตกหนักมากกว่าปรกติเป็นเดือนที่ 9 ติดต่อกัน ถือเป็นสถานการณ์ที่เลวร้ายที่สุดในรอบ 119 ปี ช่วงกลางเดือนมิถุนายนเกิดฝนตกหนักติดต่อกันนานเป็นสัปดาห์ จนทำให้มีปริมาณน้ำฝนสูงกว่าค่าเฉลี่ยในรอบเดือน ส่งผลให้เกิดน้ำท่วมในหลายภูมิภาค

เดือนมิถุนายน 2024 กลายเป็นเดือนที่แดดออกน้อยกว่าปรกติทั่วทั้งโซนยุโรปเหนือ โดยอุณหภูมิยังคงทะลุ 20 องศาเซลเซียสในหลาย ๆ พื้นที่ แต่ในขณะเดียวกันประเทศทางใต้และตะวันออกกลับเจอกับปัญหาอากาศร้อนอบอ้าว

รายงานล่าสุดของสถาบันการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศโคเปอร์นิคัสของสหภาพยุโรป หรือ C3S แสดงให้เห็นอย่างชัดเจนว่า

เดือนมิถุนายน 2024 ทั่วโลกเผชิญกับอากาศร้อนกว่าเดือนมิถุนายนในปีก่อน ๆ นับเป็นเดือนที่ 13 ติดต่อกันอุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติอย่างต่อเนื่อง อีกทั้งอุณหภูมิผิวน้ำทะเลในมหาสมุทรแอตแลนติกเหนือก็เพิ่มสูงขึ้นถึงระดับสูงสุดในรอบกว่า 40 ปีเช่นกัน

ตั้งแต่ กรกฎาคม 2566-มิถุนายน 2567 ถือเป็นช่วงที่มีอุณหภูมิร้อนที่สุดเป็นประวัติการณ์ ซึ่งสูงกว่าค่าเฉลี่ยระหว่างปี 1991-2020 อยู่ที่ 0.76 องศาเซลเซียส และสูงกว่าค่าเฉลี่ยก่อนยุคอุตสาหกรรมอีก 1.64 องศาเซลเซียส

ยุโรปใต้เจอคลื่นความร้อนและไฟป่า

สเปน อิตาลี และกรีซยังคงเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมสำหรับวันหยุดฤดูร้อนของชาวยุโรป แต่จากข้อมูลของคณะกรรมาธิการการท่องเที่ยวยุโรป หรือ ETC กล่าวว่า จำนวนนักท่องเที่ยวที่มุ่งหน้าไปยุโรปตอนใต้ลดลง 10% ตั้งแต่ปี 2022 เนื่องจากกลัวปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

76% ของผู้ตอบแบบสอบถาม ระบุว่าพวกเขาเปลี่ยนพฤติกรรมการเดินทางของตนเองตามการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่เปลี่ยนแปลงไป ขณะที่อีก 17% กล่าวว่าพวกเขาจะหลีกเลี่ยงไปสถานที่ที่มีอุณหภูมิสูงจัด โดยตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นเป็น 32% ในกลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 55 ปี ซึ่งบ่งชี้ว่านักเดินทางสูงวัยมีความกังวลเกี่ยวกับการรับมือกับอุณหภูมิที่เพิ่มสูงขึ้นมากที่สุด

ในปีนี้ “คลื่นความร้อน” มาเยือนยุโรปเร็วกว่าที่เคย ภูมิภาคต่าง ๆ ของกรีซ ไซปรัส ตุรกี และอิตาลี กำลังเผชิญกับความร้อนจัด โดยบางพื้นที่มีอุณหภูมิสูงกว่าค่าเฉลี่ยตามฤดูกาลถึง 10 องศาเซลเซียส ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายราย มีนักท่องเที่ยวต่างชาติ 6 คนถูกพบว่าเสียชีวิตในกรีซหลังจากออกไปเดินป่าในช่วงอากาศร้อนจัด และยังมีอีกหลายคนหายตัวไป

เมื่ออุณหภูมิที่ร้อนจัดเจอกับลมแรงทำให้เกิดไฟป่าใกล้กรุงเอเธนส์ เมืองหลวงของกรีซ และในเขตอิซมีร์ของตุรกี ชาวบ้านและนักท่องเที่ยวจำเป็นต้องอพยพออกจากที่อยู่อาศัยของตน

อีกเพียงไม่กี่สัปดาห์ก่อนการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก 2024 ที่กรุงปารีส ฝรั่งเศสจะเริ่มต้นขึ้น เกิดความกังวลด้านความปลอดภัยของนักกีฬา จากอุณหภูมิสูงเป็นประวัติการณ์ ทำให้ผู้จัดงานอนุญาตให้ประเทศต่าง ๆ สั่งซื้อเครื่องปรับอากาศแบบพกพาไว้ใช้ในหมู่บ้านนักกีฬา แต่จะต้องออกเงินจ่ายกันเอง เพื่อให้แน่ใจว่าสภาพแวดล้อมของตนจะเย็นอยู่เสมอ

ขณะที่ เจ้าหน้าที่ในสเปนเปิดตัวแผนที่ใหม่ สำหรับช่วยคาดการณ์คลื่นความร้อนได้แม่นยำยิ่งขึ้น และป้องกันการเจ็บป่วยและการเสียชีวิต

 

ยุโรปเหนือเจอพายุและน้ำท่วม

พายุพัดถล่มสวิตเซอร์แลนด์ ฝรั่งเศส และทางตอนเหนือของอิตาลี ส่งผลให้มีผู้เสียชีวิตอย่างน้อย 7 ราย เมืองเซอร์แมตต์ ที่ขึ้นชื่อว่าเป็นเมืองแห่งสกีรีสอร์ต ในสวิตเซอร์แลนด์ เผชิญฝนตกหนักจนหิมะในหุบเขาละลาย ส่งผลให้น้ำในแม่น้ำของเมืองเอ่อล้น และเกิดน้ำท่วม ดินถล่มในหลายพื้นที่ จนปิดเส้นทางการเข้าถึงเมือง  

ขณะที่ ทางตอนเหนือของอิตาลี เกิดน้ำท่วม พายุฝนฟ้าคะนอง และดินถล่ม สร้างความเสียหายแก่ชีวิตและทรัพย์สิน นักดับเพลิงชาวอิตาลีในแคว้นปีเยมอนเต  ทางตอนเหนือของประเทศ เปิดเผยว่าตั้งแต่เข้าฤดูร้อนเป็นต้นมา พวกเขาได้ให้ความช่วยเหลือประชาชนไปแล้วประมาณ 80 ครั้ง โดยสามารถอพยพผู้คนได้หลายสิบคน

ชาวบ้านในแคว้นวัลเลดาออสตา ของอิตาลีที่มีพรมแดนติดับฝรั่งเศสและสวิตเซอร์แลนด์ จำเป็นต้องอพยพย้ายออกจากหมู่บ้าน เนื่องจากน้ำป่าไหลหลาก ขณะที่จังหวัดโอบ ในฝรั่งเศส เกิดลมกระโชกแรง จนต้นไม้หักโค่นทับรถ ทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย 

 

ยุโรปเจอวิกฤติสภาพอากาศสุดขั้ว เพราะ “เอลนีโญ-ลานีญา”

จากการวิจัยของ Inverto ที่ปรึกษาด้านการจัดการระดับสากล พบว่าระหว่างปี 2021-2023 เกิดเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้วในยุโรปเพิ่มขึ้นจาก 11,442 ครั้ง เป็น 16,956 ครั้งต่อปี ในที่นี้รวมถึงการเกิดพายุลูกเห็บขนาดใหญ่ ฝนตกหนักหรือหิมะตก ฟ้าผ่าที่สร้างความเสียหาย ตลอดจนความแห้งแล้งที่เกิดจากอากาศร้อน และแม้กระทั่งพายุทอร์นาโด

เหตุการณ์เหล่านี้ไม่ได้ส่งผลเพียงแต่ความเสียหายทางทรัพย์สินเท่านั้น แต่ยังส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจและการดำรงชีวิตอีกด้วย พายุลูกเห็บเพียงครั้งเดียวที่ใกล้เมืองบาเลนเซียทางตะวันออกเฉียงใต้ของสเปน เมื่อปี 2566 ทำให้เกิดความเสียหายประมาณ 40 ล้านยูโร

‘เอลนีโญ-ลานีญา’ ทำ ‘ยุโรป’ รวน พายุ-น้ำท่วม-คลื่นความร้อน-ไฟป่า มาพร้อมกัน ตารางการเกิดสภาพอากาศสุดขั้วในยุโรปในช่วงปี 2021-2023
เครดิตภาพ: การวิจัยของ Inverto

ปรากฏการณ์สภาพภูมิอากาศเอลนีโญและลานีญาเป็นปัจจัยหลักที่ทำให้เกิดสภาพอากาศสุดขั้วในยุโรป ปัจจุบันโลกอยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านระหว่างเอลนีโญและลานีญา ซึ่งในเวลานี้เป็นช่วงที่เอลนีโญคงมีอิทธิพล และทำให้อุณหภูมิสูงในมหาสมุทรและอากาศ ปรากฏการณ์ทั้งสองนี้สัมพันธ์กันและเกิด “โดมิโนเอฟเฟกต์” กล่าวคือ สภาพอากาศในที่หนึ่งสามารถเปลี่ยนสภาพอากาศในอีกที่หนึ่งได้ ในบางพื้นที่อาจจะมีฝนลดน้อยลง แต่อีกที่อาจจะมีฝนมากกว่าเดิม

นอกจากนี้ ยุโรปยังได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในฐานะ “ทวีปที่ร้อนขึ้นเร็วที่สุด” สังเกตได้จากข้อมูลล่าสุดจากองค์การอุตุนิยมวิทยาโลก (WMO) และ C3S พบว่าอุณหภูมิดังกล่าวเพิ่มขึ้นเป็นสองเท่าของค่าเฉลี่ยทั่วโลกนับตั้งแต่ปี 1991 

ภูมิภาคที่มีแนวโน้มจะได้รับผลกระทบหนักขึ้นจากสภาพอากาศสุดขั้วจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศมากที่สุดคือ ยุโรปใต้ เช่น สเปน อิตาลี กรีซ ที่ถือว่าเป็นแหล่งผลิตอาหารของยุโรป ซึ่งอาจทำให้เกิดปัญหาด้านราคาอาหารและความพร้อมจำหน่ายมากขึ้น 

ทั้ง WMO และ C3S ต่างเตือนว่า ยุโรปจำเป็นต้องดำเนินการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกและดำเนินการเปลี่ยนผ่านจากเชื้อเพลิงฟอสซิลให้รวดเร็วกว่านี้


ที่มา: Euro News