จับตา! สถานการณ์ฝนทั่วประเทศ ยกระดับการจัดการน้ำ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

จับตา! สถานการณ์ฝนทั่วประเทศ ยกระดับการจัดการน้ำ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม

กรมชลประทาน เกาะติดสถานการณ์ฝนทั่วประเทศ ยกระดับบริหารจัดการน้ำ เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ลดผลกระทบประชาชนให้มากที่สุด

วันนี้ (19 ส.ค. 67) ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยถึง สถานการณ์น้ำปัจจุบัน (19 ส.ค. 67) ว่า อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 44,803 ล้าน ลบ.ม. (59% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 31,534 ล้าน ลบ.ม.

เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 12,059 ล้าน ลบ.ม. (48% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 12,800 ล้าน ลบ.ม.

ด้านสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำสายหลักส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะปกติ  
 

โดยที่สถานีวัดน้ำ  C2. อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์ ปริมาณน้ำมีแนวโน้มลดลง กรมชลประทาน ได้ปรับลดการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาให้สอดคล้องกับสถานการณ์น้ำทางตอนบน โดยจะรักษาระดับน้ำหน้าเขื่อนให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม เพื่อทดน้ำเข้าระบบชลประทานทั้งสองฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยา ให้เกษตรกรได้เพาะปลูกจนกว่าจะเก็บเกี่ยวแล้วเสร็จ

ส่วนสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำชี-มูล ปัจจุบันมีแนวโน้มทรงตัว กรมชลประทาน ได้บริหารจัดการน้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ควบคู่ไปกับการเก็บกัก พร้อมเฝ้าระวังสถานการณ์ฝนอย่างใกล้ชิดจนกว่าจะสิ้นสุดฤดูฝน  
 

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ระหว่างวันที่ 19 -25 ส.ค. 67 ร่องมรสุมพาดผ่านตอนบนภาคเหนือ และประเทศลาว ประกอบกับมรสุมตะวันตกเฉียงใต้พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย ลักษณะเช่นนี้ทำให้มีฝนตกหนักบางแห่งในภาคเหนือ ส่วนในช่วงวันที่ 21 - 24 ส.ค. 67 จะมีแนวพัดสอบของลมตะวันออกเฉียงใต้และลมตะวันตกเฉียงใต้ในระดับบน ปกคลุมภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับในช่วงวันที่ 23 - 25 ส.ค. 67 มรสุมตะวันตกเฉียงใต้ที่พัดปกคลุมทะเลอันดามัน ประเทศไทย และอ่าวไทย จะเริ่มมีกำลังแรงขึ้น ทำให้ประเทศไทยมีฝนเพิ่มขึ้น และมีฝนตกหนักบางแห่ง นั้น

เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูฝนนี้ เกิดประสิทธิภาพสูงสุด กรมชลประทาน ได้กำชับไปยังโครงการชลประทานทั่วประเทศ ให้เฝ้าระวังติดตามสถานการณ์น้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ รวมไปถึงสถานีโทรมาตรและพื้นที่เสี่ยงอุทกภัย ล่วงหน้า 3-7 วัน เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์วางแผนบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ฝนและการคาดการณ์ พิจารณาพร่องน้ำในลำน้ำและอ่างเก็บน้ำ โดยไม่ส่งผลกระทบต่อการผลิตน้ำประปา การประมง และพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณฝนที่จะเพิ่มขึ้นในระยะต่อไป รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือประจำจุดเสี่ยงเพื่อให้สามารถเข้าช่วยเหลือพื้นที่ประสบภัยได้ทันที  ตามนโนบายของร้อยเอก ธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์