เตือน 7 จังหวัด ริมแม่น้ำโขง เฝ้าระวัง ระดับน้ำเพิ่มสูง ช่วงวันที่ 25-31 ส.ค.
สทนช. เตือน 7 จังหวัด ริมแม่น้ำโขง เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มสูง ช่วงวันที่ 25-31 ส.ค.นี้ คาดสถานการณ์น้ำท่วม จ.แพร่ กลับสู่ภาวะปกติใน 2 วัน
ประกาศจาก สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เตือน 7 จังหวัด เฝ้าระวังผลกระทบจากระดับน้ำแม่น้ำโขงเพิ่มขึ้น ในช่วงวันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2567
สทนช. ติดตามสถานการณ์น้ำในแม่น้ำโขง เนื่องจากฝนตกหนักในพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน และ สปป.ลาว ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำโขงเพิ่มสูงขึ้น ในช่วงวันที่ 25 - 31 สิงหาคม 2567 บริเวณจังหวัดเลย, หนองคาย, บึงกาฬ, นครพนม, มุกดาหาร, อำนาจเจริญ และอุบลราชธานี ประมาณ 0.5 - 1.0 ม.
จึงขอให้เฝ้าระวังระดับน้ำเพิ่มขึ้นและเตรียมรับมือจากสถานการณ์น้ำล้นตลิ่งและน้ำท่วมขังบริเวณริมแม่น้ำโขง และริมลำน้ำบางสาขาของประเทศไทยที่ไม่สามารถระบายน้ำลงสู่แม่น้ำโขงได้โดยสะดวก
สทนช. เคาะแนวทางจัดการ ลุ่มน้ำยม - น่าน คาด น้ำท่วมแพร่ กลับเข้าสู่สภาวะปกติใน 2 วัน
วันนี้ (23 ส.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) ลงพื้นที่ตรวจราชการและติดตามสถานการณ์น้ำภาคเหนือ โดยได้มีการหารือเกี่ยวกับการบริหารจัดการน้ำลุ่มน้ำยม - น่าน เพื่อป้องกันและลดผลกระทบจากอุทกภัยในพื้นที่ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย โดยเฉพาะพื้นที่เศรษฐกิจบริเวณตัวเมืองสุโขทัย เนื่องจากมีมวลน้ำที่กำลังไหลลงมาจาก จ.แพร่ ซึ่งจะมีการบริหารจัดการน้ำด้วยการผันน้ำไปยังลุ่มน้ำน่าน ในกรณีมวลน้ำมาเหนือประตูระบายน้ำแม่น้ำยม (บ้านหาดสะพานจันทร์) จะระบายน้ำไปทางฝั่งขวา คลองน้ำโจน ในอัตราสูงสุด 30 ลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ต่อวินาที ระบายน้ำไปทางฝั่งซ้าย ทางคลองยม - น่าน ในอัตราสูงสุด 300 ลบ.ม.ต่อวินาที และจะระบายน้ำผ่านทางคลองยมสายเก่า ในอัตราสูงสุด 200 ลบ.ม. ต่อวินาที
ทั้งนี้ สทนช. จะประสานไปยัง การรถไฟแห่งประเทศไทย กระทรวงคมนาคม เพื่อแก้ปัญหาทางรถไฟกีดขวางทางน้ำ ซึ่งเป็นอุปสรรคต่อการระบายน้ำทางคลองยม - น่าน โดยการขุดเจาะขยายทางรถไฟเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการระบายน้ำให้ดียิ่งขึ้น พร้อมกันนี้ได้เน้นย้ำให้มีการตรวจสอบสภาพความพร้อมของคันกั้นน้ำต่างๆ ตลอดแนวแม่น้ำยมอย่างเคร่งครัด และหากพบจุดเสี่ยงให้เร่งเสริมความมั่นคงแข็งแรงโดยเร็วที่สุด
ในส่วนของพื้นที่การเกษตร ได้มอบหมายให้ จ.พิษณุโลก และ จ.สุโขทัย เป็นเจ้าภาพหลักในการบูรณาการร่วมกับกรมชลประทานและหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งประชาสัมพันธ์พื้นที่เสี่ยงได้รับผลกระทบจากอุทกภัยให้เกษตรกรได้รับทราบ เพื่อให้สามารถเร่งเก็บเกี่ยวได้ทันเวลา ลดความเสียหายที่จะเกิดขึ้น และให้เร่งสนับสนุนกำลังคนและเครื่องจักรเครื่องมือในการเก็บเกี่ยวผลผลิตเข้าให้ความช่วยเหลือด้วย ในส่วนของการการผันน้ำเข้าสู่พื้นที่ทุ่งบางระกำ ได้มีการประเมินเบื้องต้นว่าจะมีการผันน้ำเข้าทุ่งในระยะนี้เพียงประมาณ 30-40 % ของพื้นที่ เพื่อเตรียมพื้นที่สำหรับรองรับมวลน้ำกรณีมีฝนตกหนักในช่วงหลังจากนี้
สำหรับสถานการณ์น้ำใน จ.แพร่ ขณะนี้ระดับน้ำในหลายพื้นที่เริ่มทยอยลดลง โดยจะเร่งระบายน้ำให้ระดับน้ำลดลงโดยเร็วที่สุด คาดว่าสถานการณ์น้ำจะเริ่มกลับสู่สภาวะปกติใน 2 วัน และเมื่อสถานการณ์คลี่คลายแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ กรมชลประทาน กรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จะระดมเครื่องจักรเครื่องมือเพื่อเร่งสูบน้ำที่ยังท่วมขังอยู่ในพื้นที่ เพื่อให้ประชาชนสามารถกลับมาดำเนินชีวิตได้ตามปกติ และจะมีการบูรณาการร่วมกับหน่วยทหารเร่งฟื้นฟูบ้านเรือนประชาชน โรงเรียน และพื้นที่ที่ได้รับความเสียหาย รวมทั้งสนับสนุนน้ำดื่มให้กับประชาชนด้วย
ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา ได้คาดการณ์ว่าในช่วงเดือน ก.ย. 67 มีแนวโน้มที่จะมีปริมาณฝนตกหนักมากกว่าค่าปกติ จึงได้มอบหมายให้กรมชลประทานเร่งพร่องน้ำจากอ่างเก็บน้ำแม่สองในระยะหลังจากนี้ เพื่อเตรียมรองรับมวลน้ำในช่วงเวลาดังกล่าว โดยพิจารณาปรับแผนการบริหารจัดการน้ำให้มีความเหมาะสมไม่ให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ สำหรับประชาชนผู้อยู่อาศัยบริเวณริมน้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำขอให้ยังคงยกของขึ้นที่สูงไว้จนถึงช่วงกลางเดือน ก.ย. 67 โดยหน่วยงานภาครัฐจะมีการประเมินสถานการณ์เพื่อให้ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง