สถานการณ์น้ำท่วม จ.แพร่ เริ่มดีขึ้น สุโขทัย รับช่วงต่อ กรมชลฯ เร่งป้องกันเมือง

สถานการณ์น้ำท่วม จ.แพร่ เริ่มดีขึ้น สุโขทัย รับช่วงต่อ กรมชลฯ เร่งป้องกันเมือง

อัปเดตสถานการณ์น้ำท่วม ล่าสุด พื้นที่ จ.แพร่ เริ่มดีขึ้น สุโขทัยรับช่วงต่อ กรมชลฯ เร่งบริหารจัดการน้ำป้องกันเมือง

วันนี้ (26 ส.ค. 67) ที่ห้องประชุมศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ (swoc) อาคาร 99 ปี หม่อมหลวงชูชาติ กำภู กรมชลประทาน ถนนสามเสน นายวิทยา  แก้วมี  รองอธิบดีกรมชลประทาน   เป็นประธานการประชุมคณะอนุกรรมการติดตามและวิเคราะห์แนวโน้มสถานการณ์น้ำ ผ่านระบบ Video Conference ไปยังสำนักงานชลประทานที่ 1-17 และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อติดตามและวิเคราะห์สถานการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำ แหล่งน้ำ และแม่น้ำสายหลักต่าง ๆ สำหรับเป็นข้อมูลในการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องและเหมาะสมในแต่ละพื้นที่

ปัจจุบัน (26 ส.ค. 67) อ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่และขนาดกลางทั่วประเทศ มีปริมาณน้ำรวมกันทั้งสิ้นประมาณ 46,418 ล้าน ลบ.ม. (61% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 29,919 ล้าน ลบ.ม. เฉพาะลุ่มน้ำเจ้าพระยา 4 เขื่อนหลัก (เขื่อนภูมิพล เขื่อนสิริกิติ์ เขื่อนแควน้อยบำรุงแดน และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์) มีปริมาณน้ำรวมกันประมาณ 13,244 ล้าน ลบ.ม. (53% ของความจุอ่างฯ รวมกัน) ยังสามารถรองรับน้ำได้รวมกันอีกกว่า 11,627 ล้าน ลบ.ม. 

สถานการณ์น้ำท่วม จ.แพร่ เริ่มดีขึ้น สุโขทัย รับช่วงต่อ กรมชลฯ เร่งป้องกันเมือง
 

ด้านสถานการณ์น้ำท่าในลุ่มน้ำสายหลักส่วนใหญ่อยู่ในสภาวะปกติ   ยังคงเหลือลุ่มน้ำแม่ยมที่ระดับน้ำยังสูงกว่าตลิ่งจึงต้องเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิดต่อไป

สำหรับสถานการณ์อุทกภัยในพื้นที่ภาคเหนือตอนบนจากอิทธิพลร่องมรสุมที่พาดผ่าน ส่งผลให้มีพื้นที่ได้รับผลกระทบในหลายจังหวัด อาทิ ที่จังหวัดเชียงราย มีพื้นที่ได้รับผลกระทบจากปริมาณน้ำแม่น้ำอิงเอ่อล้นเข้าท่วมพื้นที่ 7 อำเภอ ได้แก่ อ.พญาเม็งราย อ.เชียงแสน อ.เทิง อ.เวียงชัย อ.ป่าแดด อ.ขุนตาล และ อ.เมือง กรมชลประทาน  ได้เร่งระบายน้ำลงแม่น้ำโขง ซึ่งปัจจุบันระดับน้ำในแม่น้ำโขงต่ำกว่าระดับน้ำในแม่น้ำอิง การระบายน้ำจึงยังทำได้ดี

สถานการณ์น้ำท่วม จ.แพร่ เริ่มดีขึ้น สุโขทัย รับช่วงต่อ กรมชลฯ เร่งป้องกันเมือง

ส่วนในพื้นที่จังหวัดพะเยาและจังหวัดแพร่ ปริมาณน้ำจากแม่น้ำยมได้ทยอยไหลลงสู่พื้นที่ตอนล่างแล้ว  ส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่เริ่มทรงตัวและมีแนวโน้มลดลง  ในขณะที่จังหวัดสุโขทัย ซึ่งรับมวลน้ำต่อจากทางตอนบนปริมาณน้ำเริ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน ได้ผันน้ำผ่านประตูระบายน้ำคลองหกบาท ลงแม่น้ำยมสายเก่าก่อนที่จะผันเข้าไปเก็บไว้ในพื้นที่หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ จ.พิษณุโลก  ปัจจุบันได้รับน้ำเข้าทุ่งไปแล้วกว่า 10% หรือประมาณ 50 ล้าน ลบ.ม.  ปริมาณน้ำส่วนหนึ่งจะผันลงแม่น้ำน่านไปตามคลองสาขาต่างๆ โดยที่เขื่อนนเรศวรได้ปรับลดการระบายน้ำหน้าเขื่อนลง  เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำที่ผันมาจากแม่น้ำยม 
 

ด้านสถานการณ์น้ำในลุ่มน้ำเจ้าพระยา ปัจจุบันมวลน้ำจากทางตอนบนเริ่มไหลลงมาสมทบ ทำให้ระดับน้ำมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง กรมชลประทาน  ได้ทยอยปรับเพิ่มการระบายน้ำแบบขั้นบันไดผ่านเขื่อนเจ้าพระยา ให้สอดคล้องกับปริมาณน้ำทางตอนบนและปริมาณฝนที่ตกในพื้นที่  เพื่อลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนที่อาศัยอยู่ริมสองฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาให้ได้มากที่สุด 

สถานการณ์น้ำท่วม จ.แพร่ เริ่มดีขึ้น สุโขทัย รับช่วงต่อ กรมชลฯ เร่งป้องกันเมือง

ทั้งนี้ กรมอุตุนิยมวิทยา คาดการณ์ว่า ในช่วงปลายเดือนนี้จนถึงต้นเดือนหน้า พื้นที่ภาคเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคกลาง รวมถึงภาคตะวันออก จะมีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมาก จึงได้กำชับไปยังโครงการชลประทานในพื้นที่ให้เฝ้าระวังติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำท่าอย่างใกล้ชิด พร้อมพิจารณาพร่องน้ำในอ่างเก็บน้ำ และลำน้ำสาขา โดยไม่ส่งผลกระทบต่อพื้นที่ท้ายน้ำ เพื่อเตรียมรองรับปริมาณน้ำที่จะเพิ่มขึ้น รวมทั้งจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือประจำจุดเสี่ยง พร้อมเข้าแก้ไขสถานการณ์ได้ทันที ตลอดจนบูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทำการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนสถานการณ์น้ำให้ประชาชนรับรู้รับทราบอย่างต่อเนื่องและทั่วถึง  เพื่อช่วยลดผลกระทบที่จะเกิดกับประชาชนให้ได้มากที่สุดตามนโยบายของรัฐบาล