รอรับฝนใหม่ต้นเดือนหน้า เร่งระบายน้ำเหนือลงอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง

รอรับฝนใหม่ต้นเดือนหน้า เร่งระบายน้ำเหนือลงอ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง

ฝนเพิ่มตอนบน กรมชลประทาน ไม่นิ่งนอนใจ ปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยา เร่งระบายน้ำทางตอนบนลงสู่อ่าวไทยอย่างต่อเนื่อง รอรับฝนใหม่ต้นเดือนหน้า

ศูนย์ปฏิบัติการน้ำอัจฉริยะ(SWOC) กรมชลประทาน เปิดเผยถึงสถานการณ์น้ำวันนี้ (29 ส.ค.67) ว่า ฝนตกเพิ่มในพื้นที่ทางตอนบนของประเทศในขณะนี้ ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำสายหลักเพิ่มขึ้น อาทิ  ในลุ่มน้ำยมที่สถานีวัดน้ำ Y37 บ้านวังชิ้น อ.วังชิ้น จ.แพร่  และที่สถานีวัดน้ำ Y14A  อ.ศรีสัชนาลัย จ.สุโขทัย  ระดับน้ำเพิ่มสูงขึ้น แต่ยังต่ำกว่าตลิ่งประมาณ 5 เมตร  

 

กรมชลประทาน  ได้บริหารจัดการน้ำในลุ่มน้ำยม  ด้วยการผันน้ำบางส่วนลงแม่น้ำน่านและแม่น้ำยมสายเก่าเข้าไปเก็บไว้ที่พื้นที่หน่วงน้ำทุ่งบางระกำ ขณะนี้รับน้ำเข้าพื้นที่ไปแล้วประมาณ 62 ล้าน ลบ.ม.(15%)  ด้านสถานการณ์น้ำท่วมขังในพื้นที่ จ. สุโขทัย ตั้งแต่ อ.ศรีสัชนาลัย อ.สวรรค์โลก อ.ศรีสำโรง และอ.เมืองสุโขทัย  

ปัจจุบันระดับน้ำต่ำกว่าตลิ่งแล้ว แต่ยังคงมีน้ำท่วมขังในพื้นที่บางส่วนบริเวณฝั่งตะวันตกของแม่น้ำยม กรมชลประทาน ได้ติดตั้งเครื่องสูบน้ำเร่งระบายน้ำออกจากทุ่งลงแม่น้ำยมให้เร็วที่สุด เพื่อช่วยลดผลกระทบที่เกิดขึ้นและเตรียมรองรับปริมาณฝนตกในพื้นที่

ด้านสถานการณ์น้ำในแม่น้ำน่าน ที่มีปริมาณฝนตกเพิ่มเช่นเดียวกัน ส่งผลให้ระดับน้ำในแม่น้ำเพิ่มสูงขึ้นแต่ยังไม่ล้นตลิ่ง  โดยปริมาณน้ำจากแม่น้ำน่านจะไหลมารวมกับแม่น้ำยมที่สถานีวัดน้ำ C2 อ.เมือง จ.นครสวรรค์  ปัจจุบันมีปริมาณน้ำไหลผ่านในอัตรา 1,273 ลบ.ม./วินาที  ระดับน้ำเพิ่มขึ้นอย่างช้าๆ ส่งผลต่อเนื่องให้มีปริมาณน้ำไหลลงเขื่อนเจ้าพระยาเพิ่มขึ้น  

กรมชลประทาน  ได้บริหารจัดการน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยา ด้วยการรับน้ำเข้าระบบชลประทานทั้ง 2 ฝั่งของแม่น้ำเจ้าพระยาในปริมาณที่จำเป็นเท่านั้น พร้อมปรับเพิ่มการระบายน้ำผ่านเขื่อนเจ้าพระยาอยู่ในอัตรา 1,300 ลบ.ม./วินาที  เพื่อเร่งระบายน้ำทางตอนบนลงสู่อ่าวไทยให้เร็วที่สุด  ซึ่งปริมาณน้ำที่ระบายดังกล่าวจะส่งผลให้ระดับน้ำบริเวณพื้นที่ลุ่มต่ำนอกคันกั้นน้ำบริเวณคลองโผงเผง จังหวัดอ่างทอง  คลองบางบาล จังหวัดพระนครศรีอยุธยา  และตำบลหัวเวียง  อำเภอเสนา  ตำบลลาดชิด ตำบลท่าดินแดง อำเภอผักไห่  จังหวัดพระนครศรีอยุธยา (แม่น้ำน้อย) เพิ่มสูงขึ้นจากปัจจุบันอีกประมาณ 50 ซม. ถึง 1.50 เมตร  

โดยที่สถานีบางไทร จ.พระนครศรีอยุธยา มีปริมาณน้ำไหลผ่านเฉลี่ยในอัตรา 1,300 ลบ.ม./วินาที  แต่ยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำทะเลหนุนในช่วงวันที่ 30 -31 สิงหาคมนี้  ซึ่งอาจส่งผลให้ระดับน้ำในพื้นที่ลุ่มต่ำริมแม่น้ำเจ้าพระยาบริเวณจังหวัดพระนครศรีอยุธยา ปทุมธานี  นนทบุรี และกรุงเทพมหานครบางพื้นที่ ยกตัวสูงขึ้น แต่จะไม่ส่งผลกระทบต่อภาพรวมและพื้นที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานคร  อย่างไรก็ตาม กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่า ในช่วงต้นเดือนกันยายนจะมีปริมาณฝนตกหนักถึงหนักมากในพื้นที่ภาคเหนือตอนบน  ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน   ภาคกลาง  รวมถึงภาคตะวันออก  จึงยังคงต้องเฝ้าระวังสถานการณ์น้ำอย่างใกล้ชิดต่อไป