มาตรการที่เหมาะสมสำหรับบริบทประเทศไทยเกี่ยวกับ บุหรี่ไฟฟ้า
กรรมาธิการวิสามัญ พิจารณาศึกษากฎหมายและมาตรการควบคุมกำกับบุหรี่ไฟฟ้าในประเทศไทย สภาผู้แทนราษฎร ได้เตรียมเสนอร่าง 3 แนวทางต่อรัฐสภาในการอภิปราย เพื่อนำไปสู่การปรับแก้ไขกฎหมาย
แนวทางที่ 1 คือ “ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นสิ่งที่ผิดกฎหมาย”
มีข้อดี คือเป็นมาตรการทางกฎหมายที่เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และปัจจุบันปัจจุบันมี 41 ประเทศทั่วโลกที่ใช้มาตรการนี้ ซึ่งสามารถป้องกันการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนได้ดีกว่าประเทศที่อนุญาตให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมายอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ
และสอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลในการปราบปรามยาเสพติด ซึ่งนิโคตินเป็นสารเสพติดที่นำไปสู่การใช้สารเสพติดอื่นๆ ทั้งนี้ เด็กและเยาวชนต้องได้รับการปกป้องตามอนุสัญญาว่าด้วยสิทธิเด็กขององค์การสหประชาชาติ และพระราชบัญญัติคุ้มครองเด็ก พ.ศ. 2546
ข้อเสียของแนวทางนี้คือ กลไกการบังคับใช้กฎหมายยังไม่มีประสิทธิภาพ และการบูรณาการระหว่างหน่วยงานต่างๆ ของรัฐ ยังไม่เกิดประสิทธิผลเท่าที่ควร
อีกทั้งการภาคยานุวัตรในภาคีพิธีสารขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย โดยองค์การอนามัยโลก เป็นสิ่งซึ่งต้องเร่งรัดดำเนินการเพื่อการปราบปรามผลิตภัณฑ์นิโคตินในตลาดมืดอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อการบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด เช่น สิงคโปร์ ฮ่องกง และบราซิล
แนวทางที่ 2 คืออนุญาตให้ผลิตภัณฑ์ประเภทให้ความร้อน (Heated Tobacco Product - HTP) เป็นผลิตภัณฑ์ควบคุม ซึ่งผู้ผลิตยอมรับต่อสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาของสหรัฐอเมริกาว่า เป็นอันตรายต่อสุขภาพ มีสารเสพติด นิโคติน และยังไม่มีหลักฐานว่าลดความเสี่ยงจากการเกิดโรคที่มีสาเหตุจากการสูบบุหรี่
ข้อเสีย คือผู้ผลิตสามารถเพิ่มความเข้มข้นของนิโคติน ทำให้เสพติดได้ง่ายถึงแม้จะใช้เป็นครั้งแรกในกลุ่มผู้ที่ไม่เคยสูบบุหรี่มวนมาก่อน สาเหตุสำคัญของการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนอเมริกันอย่างกว้างขวางคือความเข้มข้นถึงร้อยละ 5 ของนิโคติน
ในขณะที่สหภาพยุโรปมีกฎหมายกำหนดให้ความเข้มข้นของนิโคตินไม่เกิน ร้อยละ 2 ก็ยังมีการแพร่ระบาดในกลุ่มเด็กและเยาวชนยุโรป รัฐบาลสหราชอาณาจักรจึงทบทวนนโยบาย เพื่อจำกัดให้ขายบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในร้านขายยา ภายใต้ใบสั่งจากแพทย์เพื่อการเลิกสูบบุหรี่มวนเท่านั้น
แนวทางที่ 3 คือการยกเลิกกฎหมายห้ามผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ โดยควบคุมภายใต้พระราชบัญญัติควบคุมผลิตภัณฑ์ยาสูบ พ.ศ. 2560 ข้อดีที่กล่าวอ้างคือ ทันสมัย เทียบเคียงได้กับประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ต้องคำนึงถึงการบังคับใช้กฎหมายของประเทศเหล่านั้น ซึ่งแตกต่างจากบริบทของประเทศไทย
ประเด็นต่อมา การอ้างว่าจะสามารถควบคุมอัตราการสูบบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ในเด็กและเยาวชนได้ ซึ่งทุกประเทศมีกฎหมายห้ามขายให้เยาวชนอายุต่ำกว่า 18 ปี แต่ยังมีการแพร่ระบาดหนักในเยาวชน เช่น สหราชอาณาจักร (25%) สหรัฐอเมริกา (15%) และแคนาดา (16%) อีกทั้งประเทศที่เคยห้าม และควบคุมได้ดี เปลี่ยนมาอนุญาตให้ขายได้ กลับมีการระบาดในเยาวชน 2-5 เท่า เช่น แคนาดาและนิวซีแลนด์
ส่วนข้ออ้างว่าจะได้รายได้จากภาษีเพิ่มขึ้นหากบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมาย ก็ไม่เป็นความจริงหากเป็นกลุ่มเดิมที่เปลี่ยนจากการสูบบุหรี่มวนเป็นบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ แต่หากเป็นกลุ่มใหม่คือเด็กและเยาวชน จึงจะได้รับภาษีเพิ่มขึ้น
ดังนั้น ความคุ้มค่าของรายได้จากการจัดเก็บภาษีบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ จะไม่คุ้มค่า คุ้มทุน ซึ่งจะต้องแลกกับการที่เยาวชนเสพติด นิโคติน และเกิดผลกระทบต่อความมั่นคงของชาติ เนื่องจากสุขภาพของเด็กและเยาวชนไทยจะได้รับผลกระทบอย่างแน่นอน และภาระโรคซึ่งรัฐบาลไทยจะต้องรับผิดชอบ
จากการศึกษาในสหรัฐอเมริกาพบว่า ค่ารักษาพยาบาลที่เกิดจากโรคที่เกี่ยวข้องกับการใช้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ มีมูลค่าสูงเป็น 1,666 เท่าของภาษีที่จัดเก็บได้
นอกจากนี้รัฐจะต้องเพิ่มงบประมาณสำหรับการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์โดยเฉพาะ เนื่องจากต้องใช้บุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญและเครื่องมืออุปกรณ์ราคาสูงในการตรวจสอบผลิตภัณฑ์ ส่วนประกอบน้ำยา อุปกรณ์ ประเภทของสารปรุงแต่งกลิ่นและรส ฯลฯ ซึ่งไม่เหมาะสมกับประเทศที่มีรายได้น้อยถึงปานกลาง เช่น ประเทศไทย
เนื่องจากยาสูบ และผลิตภัณฑ์ที่มีสาร นิโคติน ไม่ใช่สินค้าปกติ แต่เป็น 1 ใน 4 ของสินค้า ที่เป็นอุปสรรคสำคัญต่อเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ซึ่งทำให้เกิดความไม่เท่าเทียมทางเศรษฐกิจ สังคม และสุขภาพ
องค์การสหประชาชาติจึงขับเคลื่อนให้รัฐบาลของประเทศต่างๆ ตระหนักถึงหลักการ “ผู้ก่อความเสียหาย ต้องรับผิดชอบ” จึงต้องมีมาตรการลงโทษผู้ผลิต “สินค้าแห่งความตาย” เช่น เก็บค่าธรรมเนียมรายปีตามสัดส่วนของส่วนแบ่งการครองตลาดยาสูบในประเทศสหรัฐอเมริกา แล้วนำค่าธรรมเนียมรายปีมาเยียวยารักษาผู้ได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ที่มีสาร นิโคติน
อีกแนวทางหนึ่งคือ สมาชิกสภาผู้แทนราษฎรจากทุกพรรคการเมืองในสหราชอาณาจักร ผ่านกฎหมายจำกัดเพดานกำไรของบริษัทยาสูบ แล้วนำส่วนเกินจากที่รัฐบาลกำหนดมาใช้เยียวยารักษาผู้ได้รับผลกระทบจากผลิตภัณฑ์ที่มีสาร นิโคติน
เมื่อวันที่ 6 สิงหาคม ที่ผ่านมา กรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ แจ้งความคืบหน้าเกี่ยวกับกรอบการเจรจาการค้าเสรี ซึ่งประเด็นการค้ากับการพัฒนาอย่างยั่งยืน เป็นประเด็นสำคัญในกรอบการเจรจาทุกฉบับ
ดังนั้น สภาผู้แทนราษฎร และรัฐบาลไทย จำเป็นต้องเตรียมมาตรการ และนโยบายเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ให้เหมาะสมกับบริบทของประเทศไทย และจะต้องสอดคล้องกับเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน โดยการปกป้องเด็กและเยาวชนไทยจากภัยของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ในขณะเดียวกัน ต้องมีมาตรการลงโทษผู้ผลิต “สินค้าแห่งความตาย” โดยใช้หลักการ “ผู้ก่อความเสียหาย ต้องรับผิดชอบ”
สังคมต้องช่วยกันเฝ้าระวัง และตรวจสอบมาตรฐานทางจริยธรรม ของสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ที่เอื้อประโยชน์ให้แก่บริษัทยาสูบข้ามชาติ แทนที่จะปกป้องนโยบายสาธารณะเพื่อเป้าหมายของการพัฒนาอย่างยั่งยืน ให้สอดคล้องกับบริบทของสังคมโลก.
ผู้เขียน ::
- ศ.พญ.สุวรรณา เรืองกาญจนเศรษฐ์
- ดร.วศิน พิพัฒนฉัตร
ศูนย์วิจัยและการจัดการความรู้เพื่อการควบคุมยาสูบ (ศจย.)
คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี
มหาวิทยาลัยมหิดล