นโยบายพรรคการเมืองเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์: จำเป็นหรือไม่? (1)
ปัญหาการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ว่าควบคุมไม่ได้ และเสนอว่าควรให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมาย เพื่อเก็บภาษีเข้ารัฐ แก้ปัญหาส่วย พร้อมหนุนเป็นนโยบายพรรคพลังประชารัฐ นั้น มีประเด็นที่น่าสนใจหลายประเด็น
คณะกรรมาธิการการพาณิชย์และทรัพย์สินทางปัญญา สภาผู้แทนราษฎร ได้จัดทำรายงานผลการพิจารณาศึกษา เรื่อง ยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ และเสนอต่อท่านประธานสภาผู้แทนราษฎร เมื่อเดือนก.พ. 2565
ข้อมูลรายละเอียดประเด็นข้อโต้แย้งต่างๆ จากทั้งฝ่ายที่สนับสนุน และฝ่ายที่ไม่สนับสนุนบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เป็นที่ปรากฎอยู่ในรายงานฉบับ ในฐานะนักวิชาการด้านสาธารณสุขที่ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมาธิการ
เพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ ขอให้ข้อเท็จจริงเพื่อให้สังคมในวงกว้างได้พิจารณา ดังต่อไปนี้
ประเด็นแรก ผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) กระทรวงสาธารณสุข ให้ข้อมูลต่ออนุกรรมาธิการฯ ว่า อย. มีหน้าที่ในการขึ้นทะเบียน และควบคุม กำกับ ดูแลผลิตภัณฑ์ทุกชนิดที่เกี่ยวข้องกับสารนิโคติน เพื่อช่วยในการเลิกสูบบุหรี่มวน แต่ยังไม่มีผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์รายใดมาขอขึ้นทะเบียนกับ อย.
ดังนั้น ข้อเท็จจริงนี้เป็นสิ่งบ่งชี้ว่า ผู้ผลิตบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ปลอดภัยกว่าบุหรี่มวน และไม่สามารถพิสูจน์ได้ว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์เป็นผลิตภัณฑ์ช่วยในการเลิกสูบบุหรี่มวนได้
ประเด็นที่สอง ไม่มีส่วนใดในรายงานของกรรมาธิการฯ ที่เสนอให้ยกเลิกการห้ามนำเข้าผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เนื่องจากยังไม่มีงานวิจัยที่สามารถยืนยันได้อย่างแน่ชัดว่าบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่มวน อีกทั้งยังไม่ทราบถึงผลกระทบต่อสุขภาพในระยะยาว
รายงานฉบับนี้จึงเสนอให้หน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง เช่น สภาวิจัยแห่งชาติ รวบรวมงานวิจัยทั้งจากในประเทศและจากต่างประเทศ เพื่อให้ข้อมูลที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบัน จากหลักฐานเชิงประจักษ์เกี่ยวกับผลกระทบต่อสุขภาพของบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์
ประเด็นที่สาม วิธีการที่มีประสิทธิผลในการควบคุมการจำหน่ายผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ที่ผิดกฎหมายนั้น คือ การที่รัฐบาลไทยควรเข้าร่วมเป็นภาคีในพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย (Protocol to Eliminate Illicit Trade in Tobacco Products) โดยเร็ว
ซึ่งมีข้อเสนอแนะและการตั้งข้อสังเกตอยู่ในรายงานของคณะกรรมาธิการฯ ทั้งนี้ มีผู้แทนจากทั้งกรมสรรพสามิตและกรมศุลกากรได้เข้าร่วมในคณะทำงานเตรียมความพร้อมเพื่อการเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารฯ
ประเด็นเหล่านี้ ท่านรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) มิได้กล่าวถึง จึงไม่ทราบว่า ท่านได้อ่านรายงานผลการพิจารณาศึกษา หรือไม่ อย่างไรก็ตาม ทางกระทรวงดิจิทัลฯ มีการแต่งตั้งคณะทำงานศึกษา กรณีจำหน่ายบุหรี่ไฟฟ้าในสื่อสังคม ออนไลน์ และกรณีอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
ซึ่งคณะทำงานผู้หนึ่ง ได้รับการแต่งตั้งเป็นอนุกรรมาธิการเพื่อพิจารณาศึกษาเรื่องยาสูบและบุหรี่ไฟฟ้าในเชิงพาณิชย์ ดังนั้น คณะทำงานฯ คงจะมีรายละเอียดของรายงานดังกล่าว และรายงานให้ท่านรัฐมนตรีกระทรวง ดีอีเอส ได้ทราบในรายละเอียดอย่างครบถ้วน
ในการประชุมที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดิน เมื่อวันที่ 27 ก.ย. 2565 ซึ่งอ้างอิงจากรายงานของกรรมาธิการฯ สภาผู้แทนราษฎร มีมติว่า ให้หน่วยงานต่างๆ จัดตั้งคณะทำงานเกี่ยวกับการควบคุมบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ เพื่อบูรณาการความร่วมมือในทุกมิติ
และเสนอให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้การภาคยานุวัตร หรือการเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย ภายใต้กรอบอนุสัญญาว่าด้วยการควบคุมยาสูบขององค์การอนามัยโลก
เพื่อเป็นแนวทางปฏิบัติของรัฐในการป้องกันการลักลอบ การค้า และการทุจริตและประพฤติมิชอบ ที่เกี่ยวกับการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบและบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมาย
ข่าวที่เกี่ยวข้อง:
- หาก 'บุหรี่ไฟฟ้า'ถูกกฎหมาย กับ 7 คำอ้างที่ไม่จริง
- “บุหรี่ไฟฟ้า” เช็กความผิด! นำเข้า-ครอบครอง-สูบในที่สาธารณะ
- นโยบายพรรคการเมืองเกี่ยวกับบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์: จำเป็นหรือไม่? (2)
การประชุมที่สำนักงานคณะกรรมการคุ้มครองผู้บริโภค เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 สอดคล้องกับมติของการประชุมที่สำนักงานผู้ตรวจการแผ่นดินว่า การปราบปรามผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมายที่มีประสิทธิผลคือ การเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารว่าด้วยการขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย
จะเห็นได้ว่า หน่วยงานต่างๆ พยายามให้ความร่วมมือและหาแนวทางที่จะช่วยให้การปราบปรามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายของประเทศไทย ประสบความสำเร็จอย่างมีประสิทธิผล
ดังนั้น กระทรวง ดีอีเอส ไม่ได้ทำงานในการปราบปรามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายอย่างโดดเดี่ยว การบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานของรัฐ จะช่วยให้การแก้ไขปัญหาต่างๆ ในระดับชาติประสบความสำเร็จในระดับหนึ่ง
นอกจากนี้แล้ว ความร่วมมือจากระดับนานาชาติ เช่น การเข้าร่วมเป็นภาคีพิธีสารขจัดการค้าผลิตภัณฑ์ยาสูบผิดกฎหมาย จะช่วยให้การปราบปรามบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน
แต่การที่จะทำให้ผลิตภัณฑ์บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมาย เพียงเพราะกระทรวง ดีอีเอส ยังควบคุมไม่ได้นั้น ไม่ใช่เหตุผลที่สังคมจะยอมรับได้
บุหรี่ซิกาแรต หรือบุหรี่มวน ซึ่งเป็นผลิตภัณฑ์ยาสูบที่ถูกกฎหมาย ก็ยังมีบุหรี่เถื่อน บุหรี่ลักลอบหนีภาษี อยู่ทุกวันนี้ ดังนั้น เหตุผลที่ว่า หากทำให้บุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ถูกกฎหมายแล้ว จะไม่มีบุหรี่อิเล็กทรอนิกส์ผิดกฎหมายอยู่ในตลาดมืดอีกต่อไปนั้น ไม่เป็นความจริง เพราะตัวการที่อยู่เบื้องหลังบุหรี่เถื่อน คืออุตสาหกรรมยาสูบข้ามชาติ และเครือข่ายบริวาร
ประเด็นที่ท่านรัฐมนตรีกล่าวว่า “….ในหลายประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น ในยุโรป ในอเมริกา หรือแม้แต่ประเทศญี่ปุ่น ประเทศเพื่อนบ้าน เช่น มาเลเซีย สิงคโปร์ ก็มีหลายประเทศที่ทำถูกกฎหมายก็สามารถบริโภคได้” นั้น
คงต้องพิจารณาในรายละเอียดว่าประเทศเหล่านั้น มีบริบทที่แตกต่างจากประเทศไทยอย่างไร ตัวอย่างเช่น ประเทศที่พัฒนาแล้วหลายประเทศ รัฐมนตรีของประเทศนั้นๆ จะลาออกจากตำแหน่งเมื่อบริหารงานล้มเหลว
เพราะเขามีความรับผิดชอบ (accountability) ต่อสังคม แต่สำหรับประเทศไทย คงจะหารัฐมนตรีที่ลาออกจากตำแหน่งเพราะมีความรับผิดชอบต่อสังคมยากมาก