เปิดผลวิจัยใหม่ 'บุหรี่ไฟฟ้า' ทำลายดีเอ็นเอ
ผลวิจัยใหม่พบ “บุหรี่ไฟฟ้า” ทำลายดีเอ็นเอ เพิ่มความเสี่ยงมะเร็งเทียบเท่าบุหรี่ธรรมดา คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุช่องปากถูกทำลายเป็น 2.6 เท่า
เมื่อวันที่ 21 ก.พ. 2566 รศ.ดร.พญ.เริงฤดี ปธานวนิช อาจารย์ภาควิชาเวชศาสตร์ชุมชน คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล เปิดเผยผลงานวิจัยใหม่โดยคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเซาท์เทิร์น แคลิฟอร์เนีย ที่พบว่าการสูบบุหรี่ไฟฟ้าส่งผลให้ดีเอ็นเอของเซลล์ในช่องปากถูกทำลายไม่ต่างจากการสูบบุหรี่ธรรมดา ซึ่งการที่ดีเอ็นเอถูกทำลายนี้จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงต่อการเกิดโรคต่าง ๆ รวมทั้งโรคมะเร็ง โดยนักวิจัยคัดเลือกผู้ใหญ่ 72 คน แบ่งเป็น 3 กลุ่ม
- ผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้า (ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดาเลย)
- ผู้สูบบุหรี่ธรรมดา (ไม่เคยสูบบุหรี่ไฟฟ้าเลย)
- ผู้ที่ไม่มีประวัติสูบทั้งบุหรี่ไฟฟ้าและบุหรี่ธรรมดา
เก็บข้อมูลประวัติการสูบ ความถี่ ชนิดของบุหรี่ที่สูบ และความเสี่ยงอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างละเอียด และเก็บตัวอย่างเซลล์เยื่อบุช่องปากทุกคนเพื่อนำมาตรวจลักษณะของดีเอ็นเอ
ผลวิจัย 'บุหรี่ไฟฟ้า' ทำลายดีเอ็นเอ พบว่า
- คนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบดีเอ็นเอของเซลล์เยื่อบุช่องปากถูกทำลายเป็น 2.6 เท่า ส่วนคนที่สูบบุหรี่ธรรมดาพบดีเอ็นเอถูกทำลายเป็น 2.2 เท่าเมื่อเทียบกันคนที่ไม่มีประวัติสูบบุหรี่ใด ๆ
- ในกลุ่มที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าพบว่ายิ่งสูบมากขึ้น ดีเอ็นเอยิ่งถูกทำลายมาก
- หากพิจารณาตามชนิดบุหรี่ไฟฟ้าที่สูบ พบว่าผู้ที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าแบบพอด ดีเอ็นเอถูกทำลายมากที่สุด
- หากพิจารณาตามรสชาติบุหรี่ไฟฟ้าที่สูบ เช่น รสผลไม้ รสเมนทอล พบดีเอ็นเอถูกทำลายมากขึ้นทั้งนี้ไม่เกี่ยวกับระดับนิโคตินในบุหรี่ไฟฟ้า คือไม่ว่าจะมีนิโคตินมากหรือน้อยก็ส่งผลให้ดีเอ็นเอถูกทำลายเช่นกัน
งานวิจัยชิ้นนี้ขจัดข้อสงสัยของกลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าที่มักออกมาโต้แย้งงานวิจัยที่แสดงถึงอันตรายของบุหรี่ไฟฟ้า โดยมักอ้างว่าเป็นเพราะคนสูบบุหรี่ไฟฟ้าเคยสูบบุหรี่ธรรมดามาก่อน เพราะงานวิจัยชิ้นนี้คัดเลือกคนที่สูบบุหรี่ไฟฟ้าที่ไม่เคยสูบบุหรี่ธรรมดาเลย
"ผลการศึกษาจึงบอกได้อย่างชัดเจนว่า การที่เซลล์ดีเอ็นเอถูกทำลายซึ่งเพิ่มความเสี่ยงของการเกิดมะเร็งนี้เป็นผลจากการสูบบุหรี่ไฟฟ้าจริง ๆ” รศ.ดร.พญ.เริงฤดี
ที่สำคัญงานวิจัยในหนูทดลอง พบว่า หนู 9 ตัว จาก 40 ตัวที่ได้รับไอบุหรี่เป็นเวลาหนึ่งปีเศษ เป็นมะเร็งปอด และ 22 ตัวมีการเปลี่ยนแปลงของเยื่อบุกระเพาะปัสสาวะที่เหมือนเนื้อมะเร็งระยะแรก
รศ.ดร.พญ.เริงฤดี กล่าวอีกว่า การที่กลุ่มสนับสนุนบุหรี่ไฟฟ้าพยายามให้ข้อมูลกับสังคมว่า บุหรี่ไฟฟ้ามีสารพิษน้อยกว่า ทำให้มีอันตรายน้อยกว่าบุหรี่ธรรมดา เชื่อถือไม่ได้แล้วเพราะสารพิษน้อยกว่าไม่ได้หมายความว่า อันตรายน้อยกว่า นอกจากนี้บุหรี่ไฟฟ้ายังมีสารเคมีอีกกว่า 2,000 ชนิดที่ไม่พบมาก่อนในบุหรี่ธรรมดา
ส่วนกรณีบุหรี่ไฟฟ้าที่กำลังเป็นประเด็นดราม่าในสังคมไทย และมีนักการเมืองหลายพรรคกำลังมีความคิดว่าจะทำให้บุหรี่ไฟฟ้าถูกกฎหมาย อยากให้พิจารณาผลการศึกษาวิจัยบุหรี่ไฟฟ้าอย่างรอบคอบ คิดถึงผลกระทบที่จะเกิดกับสังคมโดยเฉพาะเด็กและเยาวชนที่จะหลงเข้าไปเสพติดบุหรี่ไฟฟ้าให้มากๆ
ข้ออ้างที่ว่าทำบุหรี่ไฟฟ้าให้ถูกกฎหมายเพื่อลดปัญหาคอรัปชั่นของเจ้าหน้าที่ ไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ถูกจุด ที่ถูกต้องคือแก้ที่เจ้าหน้าที่ให้บังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจัง ซึ่งจะส่งผลดีต่อเด็กและเยาวชนมากกว่า
อ้างอิง
Vaping Dose, Device Type, and E-Liquid Flavor are Determinants of DNA Damage in Electronic Cigarette Users: https://pubmed.ncbi.nlm.nih.gov/36780924/
DNA damage levels similar in vapers and smokers, study finds: https://keck.usc.edu/dna-damage-levels-similar-in-vapers-and-smokers-study-finds/