สิทธิผู้สืบสันดานสืบมรดก กรณีทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดก ถึงเวลาแก้ไข?

สิทธิผู้สืบสันดานสืบมรดก กรณีทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดก ถึงเวลาแก้ไข?

เมื่อบุคคลใดตาย มรดกของบุคคลนั้นตกทอดแก่ทายาททันทีโดยผลของกฎหมาย แต่ถึงอย่างไรก็ตามบางกรณีทายาทอาจเสียไปซึ่งสิทธิในมรดกได้แต่โดยบทบัญญัติแห่งประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ได้แก่

กรณีถูกกำจัดมิให้รับมรดกซึ่งเป็นการเสียสิทธิในการรับมรดกโดยผลของกฎหมาย

กรณีถูกตัดมิให้รับมรดกซึ่งเป็นการเสียสิทธิในการรับมรดกโดยการแสดงเจตนาของเจ้ามรดก

กรณีสละมรดกซึ่งเป็นการเสียสิทธิในการรับมรดกโดยการแสดงเจตนาของทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดก

กรณีอายุความมรดกซึ่งเป็นการเสียสิทธิในการรับมรดกโดยผลของกฎหมาย

สำหรับคอลัมน์นี้ผู้เขียนกล่าวถึงเรื่องการเสียสิทธิในการรับมรดก เพราะเหตุถูกกำจัดมิให้รับมรดก ภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายโดยแบ่งแยกออกเป็น 2 กรณี ดังต่อไปนี้

กรณีที่หนึ่ง การถูกกำจัดมิให้รับมรดกฐานยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก ในกรณีนี้กฎหมายแบ่งเป็นกรณียักย้ายหรือปิดบังเท่ากับหรือมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ และกรณียักย้ายหรือปิดบังน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้

มีข้อสังเกตว่าการยักย้ายหรือปิดบังเท่ากับหรือมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ กฎหมายวางหลักว่า “เหมือนหนึ่งว่าทายาทที่ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกนั้นตายแล้ว” หากทายาทที่ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกมีผู้สืบสันดานยังมีชีวิตอยู่ ก็ให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไป

กรณีการยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ทายาทต้องถูกกำจัดมิให้ได้มรดกเฉพาะส่วนที่ได้ยักย้ายหรือปิดบังไว้เท่านั้น ส่วนทรัพย์มรดกอื่นซึ่งทายาทมีสิทธิได้รับตามกฎหมายและมิได้ยักย้ายหรือปิดบัง

ทายาทคนนั้นยังคงได้รับมรดก ผู้สืบสันดานของทายาทที่การยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดกน้อยกว่าส่วนที่ตนจะได้ ไม่มีสิทธิอ้างว่าตนเองมีสิทธิสืบมรดก

กรณีที่สอง การถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฐานเป็นผู้ไม่สมควร มีกรณีดังต่อไปนี้

(1) ผู้ที่ต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่าได้เจตนากระทำ หรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย

(2) ผู้ที่ได้ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและตนเองกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ

(3) ผู้ที่แล้วว่าเจ้ามรดกถูกฆ่าโดยเจตนา แต่มิได้นำข้อความนั้นขึ้นร้องเรียนเพื่อเป็นทางที่จะเอาตัวผู้กระทำผิดมาลงโทษ

(4) ผู้ที่ปลอม ทำลาย หรือปิดบังพินัยกรรม

การถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย ฐานเป็นผู้ไม่สมควร กรณีต่าง ๆ ข้างต้นนั้นกฎหมายวางหลักเกณฑ์เกี่ยวกับกรณีทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตาย

ให้เป็นเรื่องเฉพาะตัวของทายาทที่ถูกกำจัดและให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดมิให้รับมรดกหลังเจ้ามรดกตายมีสิทธิสืบมรดกได้ต่อไปเหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว ทั้งที่ความเป็นจริงทายาทนั้นยังคงมีสภาพบุคคล

ดังนั้น เห็นได้ว่าการที่ทายาทยักย้าย หรือปิดบังเท่ากับหรือมากกว่าส่วนที่ตนจะได้ รวมทั้งกรณีทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตาย เกิดผลบังคับในทางกฎหมายที่เหมือนกัน คือ

เหมือนหนึ่งว่าทายาทนั้นตายแล้ว หากทายาทที่ยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก หรือทายาทถูกกำจัดมิให้รับมรดกภายหลังเจ้ามรดกถึงแก่ความตายมีผู้สืบสันดาน ก็ให้ผู้สืบสันดานของทายาทที่ถูกกำจัดสืบมรดกต่อไป

เมื่อวิเคราะห์จากข้อกฎหมายที่ใช้บังคับในปัจจุบันนี้ มีข้อชวนคิดหาคำตอบว่าการกระทำของทายาทที่มีพฤติกรรมไม่เหมาะสม สมควรให้ผู้สืบสันดานของทายาทนั้นสืบมรดกได้ต่อไปหรือไม่ 

เนื่องจากหากยังคงบัญญัติให้ผู้สืบสันดานสืบมรดกได้อาจส่งผลให้ทายาทที่มีสิทธิได้รับมรดกเลือกประพฤติตัวไม่เหมาะสม เพราะเหตุว่าในท้ายที่สุดแล้ว ผู้สืบสันดานของทายาทนั้นยังคงมีสิทธิมรดกได้ ทรัพย์มรดกมิได้รั่วไหลไปยังสายของทายาทอื่น

ผู้เขียนมีความเห็นว่า หากทายาทยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก หรือกระทำฐานเป็นผู้ไม่สมควร ต้องนำทรัพย์มรดกที่ทายาทนั้นควรจะได้รับไปแบ่งให้แก่ทายาทอื่นของเจ้ามรดกที่มิได้เสียสิทธิในการรับมรดก

 โดยกำหนดให้ผลของการเสียสิทธิในการรับมรดกเพราะเหตุยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก และกรณีการกระทำของทายาทที่ไม่สมควร เหมือนกับผลของการเสียสิทธิเพราะถูกตัดมิให้รับมรดก กล่าวคือ ทำให้ผู้สืบสันดานสืบมรดกไม่ได้

นอกจากนี้ ผู้เขียนยังเห็นว่าการกระทำของทายาทที่เกิดขึ้นโดยฉ้อฉล หรือรู้อยู่ว่าตนทำให้เสื่อมประโยชน์ของทายาทคนอื่น หรือการกระทำฐานเป็นผู้ไม่สมสมควรนั้นเป็นการกระทำที่มีการคิดวางแผนไว้เพื่อยักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก และบางกรณีถึงขั้นที่ทายาทต้องรับผิดทางอาญา

 เช่น ทายาทเจตนากระทำหรือพยายามกระทำให้เจ้ามรดก หรือผู้มีสิทธิได้รับมรดกก่อนตนถึงแก่ความตายโดยมิชอบด้วยกฎหมาย หรือกรณีผู้ที่ฟ้องเจ้ามรดกหาว่าทำความผิดโทษประหารชีวิตและทายาทนั้นกลับต้องคำพิพากษาถึงที่สุดว่ามีความผิดฐานฟ้องเท็จหรือทำพยานเท็จ เป็นต้น

ย่อมมีเหตุผลสมควรที่จะแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ให้มีความทันสมัยและเกิดความเป็นธรรม 

ดังนั้น หากมีการพัฒนากฎหมายไทยในประเด็นเหล่านี้ อาจทำให้ทายาทไม่กล้ายักย้ายหรือปิดบังทรัพย์มรดก หรือทายาทอาจปรับเปลี่ยนประพฤติของตนให้เป็นทายาทที่ดีก็ได้.