ทางเลือกในการทำ 'พินัยกรรม' | ภาณุศ์ อภิบาลเกียรติกุล

ทางเลือกในการทำ 'พินัยกรรม' | ภาณุศ์ อภิบาลเกียรติกุล

เพื่อให้เจ้ามรดกคลายความกังวลส่วนที่ว่า เมื่อถึงแก่ความตายไปแล้วกองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทคนใด และบุคคลใดจะเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกของตน กฎหมายจึงบัญญัติให้เจ้ามรดกมีสิทธิเลือกทำ 'พินัยกรรม' กำหนดการเผื่อตาย ในเรื่องทรัพย์สินและการต่าง ๆ ของตนเองได้

ชีวิตของมนุษย์ไม่ว่าผ่านประสบการณ์ดีหรือร้ายมากน้อยเพียงใดก็ตาม ท้ายที่สุดแล้วทุกคนล้วนต้องพบกับสัจธรรมของชีวิตข้อหนึ่งที่ว่าความตายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ไม่มีมนุษย์คนใดบนโลกใบนี้สักคนที่จะหลีกหนีความจริงข้อนี้ไปได้ 

จากความจริงข้อนี้ จึงทำให้หลายคนรู้สึกวิตกกังวลต่อเหตุการณ์ในอนาคตว่า ตนเองจะถึงแก่ความตายเมื่อใด และหลังจากที่ถึงแก่ความตายไปแล้วจะมีบุคคลใดเข้ามาช่วยจัดการมรดกของตน เพื่อแบ่งปันให้แก่บรรดาทายาทผู้ที่มีสิทธิตามกฎหมาย 

ดังนั้น เพื่อให้เจ้ามรดกคลายความกังวลส่วนที่ว่าเมื่อถึงแก่ความตายไปแล้วกองมรดกจะตกทอดแก่ทายาทคนใดและบุคคลใดจะเข้ามาเป็นผู้จัดการมรดกของตน กฎหมายจึงบัญญัติให้เจ้ามรดกมีสิทธิเลือกทำพินัยกรรมกำหนดการเผื่อตายในเรื่องทรัพย์สินและการต่าง ๆ ของตนเองได้

    ในเรื่องของแบบพินัยกรรมนั้น ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ได้กำหนดแบบของพินัยกรรมไว้เป็นทางเลือกทั้งหมด 5 แบบ ได้แก่ พินัยกรรมแบบธรรมดา พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ พินัยกรรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง พินัยกรรมแบบเอกสารลับ และพินัยกรรมแบบพฤติการณ์พิเศษหรือพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา

ทางเลือกในการทำ \'พินัยกรรม\' | ภาณุศ์ อภิบาลเกียรติกุล

ลักษณะเด่นของพินัยกรรมแบบธรรมดา คือ ผู้ทำพินัยกรรมเลือกพิมพ์หรือเขียนเอง หรือให้บุคคลอื่นเป็นผู้พิมพ์หรือเขียนก็ได้ แต่ต้องมีพยานอย่างน้อยสองคนลงลายมือชื่อรับรองลายมือชื่อของผู้ทำพินัยกรรม 

นอกจากนี้ยังมีลักษณะเด่นอีกประการหนึ่ง คือ ผู้ทำพินัยกรรมไม่ต้องไปทำพินัยกรรมที่ที่ว่าการอำเภอหรือสำนักงานเขต ดังนั้น พินัยกรรมแบบที่ 1 นี้ จึงไม่มีเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องแต่ประการใด ผู้ทำพินัยกรรม  มีสิทธิที่จะเลือกทำพินัยกรรม ณ สถานที่แห่งใดหรือเวลาใดก็ได้

พินัยกรรมแบบที่ 2 คือ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับ มีลักษณะเด่นที่สำคัญซึ่งแตกต่างจากพินัยกรรมแบบอื่น ๆ  คือ พินัยกรรมแบบเขียนเองทั้งฉบับไม่ต้องการพยานในพินัยกรรม เพียงแต่ว่าผู้ทำพินัยกรรมต้องเป็นผู้ที่มีความสามารถในการเขียนพินัยกรรมได้ด้วยลายมือของตนเองทั้งฉบับ

กฎหมายไม่อนุญาตให้ผู้ทำพินัยกรรมใช้วิธีการพิมพ์ รวมทั้งไม่อนุญาตให้บุคคลอื่นพิมพ์หรือเขียนแทน ข้อดีของพินัยกรรมแบบที่ 2 นี้ มีลักษณะเหมือนกับพินัยกรรมแบบที่  1 คือ ผู้ทำพินัยกรรมสามารถเลือกทำพินัยกรรมที่บ้านตนเองหรือ ณ สถานที่แห่งใดก็ได้ โดยไม่มีข้อจำกัดเรื่องสถานที่และเวลา 

พินัยกรรมแบบที่ 3 คือ พินัยกรมแบบเอกสารฝ่ายเมือง มีลักษณะเด่นประการสำคัญ คือ ต้องมีนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐเข้ามาเกี่ยวข้องในการทำพินัยกรรมและมีพยานในพินัยกรรมซึ่งรู้เห็นการทำพินัยกรรมอย่างน้อยสองคน

พินัยกรรมแบบที่ 4 พินัยกรรมแบบเอกสารลับ มีลักษณะเด่นที่สำคัญ คือ ไม่มีผู้ใดล่วงรู้ข้อความในพินัยกรรมนอกจากผู้ทำพินัยกรรมเพียงผู้เดียวเท่านั้นที่ทราบข้อความในพินัยกรรม เนื่องจากผู้ทำพินัยกรรมต้องลงลายมือชื่อในพินัยกรรม และปิดผนึกพินัยกรรมนั้นแล้วลงลายมือชื่อคาบรอยผนึกนั้น

ก่อนที่จะนำไปแสดงต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต และพยานอย่างน้อยอีกสองคน และให้ถ้อยคำต่อบุคคลทั้งหมดเหล่านั้นว่าเป็นพินัยกรรมของตน นอกจากนี้ พินัยกรรมแบบที่ 4 มีลักษณะเด่นที่เหมือนกับแบบที่ 3 คือ มีนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตเข้ามามีส่วนร่วมและรับรู้ในการทำทำพินัยกรรมซึ่งมีผลให้พินัยกรรมมีโอกาสผิดพลาดน้อย

    พินัยกรรมแบบที่ 5 คือ พินัยกรรมแบบพฤติการณ์พิเศษหรือแบบทำด้วยวาจา การทำพินัยกรรมแบบที่ 5 นี้ต้องปรากฏว่ามีพฤติการณ์พิเศษ เช่น ผู้ทำพินัยกรรมตกอยู่ในอันตรายใกล้ความตายหรือเวลามีโรคระบาดหรือสงครามซึ่งผู้ทำพินัยกรรมไม่สามารถทำพินัยกรรมแบบที่ 1 – 4 ตามที่กฎหมายกำหนดไว้ได้

ด้วยเหตุนี้ กฎหมายจึงเปิดโอกาสให้ผู้ทำพินัยกรรมมีสิทธิทำพินัยกรรมด้วยวาจาได้ โดยผู้ทำพินัยกรรมต้องแสดงเจตนากำหนดข้อพินัยกรรมต่อหน้าพยานอย่างน้อยสองคนซึ่งอยู่พร้อมกัน ณ ที่นั้น

พยานสองคนนั้นต้องไปแสดงต่อนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขตโดยไม่ชักช้าและแจ้งข้อความที่ผู้ทำพินัยกรรมได้สั่งไว้ด้วยวาจานั้น

ดังนั้น จะเห็นได้พินัยกรรมแบบที่ 5 นี้ มีข้อดีที่แตกต่างจากพินัยกรรมแบบที่ 1 – 4  คือ ผู้ทำพินัยกรรมสามารถแสดงเจตนากำหนดการเผื่อตายของตนด้วยวาจาได้ แต่อย่างไรก็ตาม พินัยกรรมแบบที่ 5 นี้ มิใช่มีเพียงการกล่าวด้วยวาจาของผู้ทำพินัยกรรมเท่านั้น เนื่องจากในท้ายที่สุดนายอำเภอหรือผู้อำนวยการเขต ต้องจดข้อความที่พยานแจ้งไว้นั้น และพยานสองคนนั้นต้องลงลายมือชื่อไว้

ทางเลือกในการทำ \'พินัยกรรม\' | ภาณุศ์ อภิบาลเกียรติกุล

    เมื่อพิจารณาพินัยกรรมแบบต่าง ๆ ตามที่กล่าวมาข้างต้นนี้ พบว่าพินัยกรรมทั้ง 5 แบบ มีจุดร่วมที่สำคัญ ประการหนึ่ง คือ พินัยกรรมต้องปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร แม้กระทั่งพินัยกรรมแบบพฤติการณ์พิเศษหรือพินัยกรรมแบบทำด้วยวาจา

ในขั้นตอนสุดท้ายของการทำพินัยกรรม เจ้าหน้าที่ของรัฐต้องจดข้อความที่พยานได้นำมาแจ้งนั้นให้ปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษรตามที่กฎหมายกำหนดขั้นตอนไว้ หากไม่ทำตามแบบที่กฎหมายกำหนดไว้ พินัยกรรมย่อมตกเป็นโมฆะไม่สามารถใช้บังคับได้

หากวิเคราะห์แบบของพินัยกรรมตามที่กฎหมายไทยกำหนดไว้นั้น จึงยังไม่ปรากฏว่า กฎหมายไทยยอมรับการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงของผู้ทำพินัยกรรมว่าเป็นแบบของพินัยกรรม

ทั้งที่ความเป็นจริง การบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงเป็นเครื่องชี้ชัดว่าได้มีการทำพินัยกรรมเกิดขึ้นจริง อีกทั้งอาจจะดีกว่ากรณีที่มีข้อความที่ปรากฏเป็นลายลักษณ์อักษรเพียงอย่างเดียว โดยไม่มีการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงนั้น อาจต้องรอดูต่อไปว่า ในอนาคตจะมีการแก้ไขเพิ่มเติมเรื่องของแบบของพินัยกรรมหรือไม่ 

ในความคิดเห็นของผู้เขียนเห็นว่า การบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงควรถูกกำหนดให้กำหนดเป็นพินัยกรรมแบบที่ 6 หรืออาจจะกำหนดเงื่อนไขการบันทึกภาพเคลื่อนไหวและเสียงเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของขั้นตอนการทำพินัยกรรมแบบที่ 1 – 5 น่าจะทำให้พิสูจน์ได้ง่ายขึ้นว่าผู้ทำพินัยกรรมได้ทำพินัยกรรมฉบับนั้นจริง 

    ผู้เขียนหวังเป็นอย่างยิ่งว่าประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ในส่วนของพินัยกรรมจะมีการปรับปรุงแก้ไขครั้งสำคัญ เพื่อให้ทันสมัยกับโลกยุคใหม่ที่ก้าวไปไกลอย่างไม่หยุดยั้ง.