ฝันกรุงเทพฯ สู่เจ้าภาพโอลิมปิก ไปต่อหรือพอแค่นี้
ท่ามกลางความร้อนระอุทางการเมือง โดยเฉพาะการเปลี่ยนขั้วเปลี่ยนข้าง ไปจนถึงการเปลี่ยนค่ายแบบเซอร์ไพรส์ และปรากฏการณ์เขย่าขั้วอำนาจภายในพรรคการเมือง ไม่ว่าจะเป็น บ้านสีฟ้า หรือบ้านป่ารอยต่อฯ ผลจะออกมาอย่างไร คงได้เห็นจากรายชื่อคณะรัฐมนตรีที่ใกล้จะคลอด
เมื่อพูดถึงบ้านป่ารอยต่อ คงเลี่ยงไม่ได้ที่จะพูดถึง “บ้านอัมพวัน” เพราะเป็นบ้านโบราณที่ใช้เป็นสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทย ซึ่งพลเอกประวิตร วงษ์สุวรรณ เป็นประธาน และกำลังจะหมดวาระลงในเดือนเมษายนปีหน้า
ทำให้มีการพูดถึงอย่างมากว่าปรากฏการณ์ทางการเมืองจะมีผลต่อการเลือกประธานคนใหม่ ซึ่งกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาในการควบคุมของพรรครัฐบาล จะมีบทบาทไม่น้อยในการกำหนดทิศทาง
แต่ไม่ว่าประธานโอลิมปิกคนต่อไปจะหน้าเดิมหรือหน้าใหม่ ความพยายามที่จะให้ประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในการจัดโอลิมปิกก็น่าจะยังเป็นวาระสำคัญและความฝันอันสูงสุดของคณะกรรมการโอลิมปิกแห่งประเทศไทยอยู่ดี
บทสรุปของการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกครั้งล่าสุดของฝรั่งเศสที่เพิ่งจบไป คือ ความสร้างสรรค์และความยิ่งใหญ่ เนื่องจากการแข่งขันนี้ไม่เพียงแต่เป็นเวทีทดสอบความสามารถของนักกีฬาจากทุกสารทิศ
แต่อีกด้านหนึ่งของมหกรรมนี้ยังได้สร้างอารมณ์และความรู้สึกที่หลากหลายให้กับผู้คนทั่วโลก ตั้งแต่พิธีเปิดที่ฉีกกรอบแบบเดิม ๆ ซึ่งต้องบอกว่าทำได้อย่างน่าประทับใจ การประลองฝีมือระหว่างนักกีฬาจำนวนนับหมื่นคน ที่เข้าร่วมแข่งขันเพื่อ
ชิงชัย 329 เหรียญทอง จนถึงพิธีปิดที่หรูหราอลังการ
การเตรียมความพร้อมสำหรับมหกรรมกีฬาครั้งนี้จึงไม่ได้จำกัดแค่ในสนามแข่งขันเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมถึงการบริหารจัดการในระดับประเทศ
โดยฝรั่งเศสต้องใช้เวลาเตรียมตัวนาน 5-7 ปี และพึ่งพาฝีมือจากหลากหลายสาขาอาชีพ เพื่อให้ทุกขั้นตอนดำเนินไปอย่างราบรื่นและสร้างความทรงจำที่ดีแก่ผู้ชมทั่วโลก โดยเฉพาะรัฐบาลฝรั่งเศสที่หวังว่าการเป็นเจ้าภาพครั้งนี้จะเสริมสร้างคะแนนนิยมทางการเมืองให้สูงขึ้น
อย่างไรก็ตาม การจัดโอลิมปิกครั้งนี้ไม่ได้มีแต่ภาพที่สวยงามเท่านั้น แม้จะมีผู้ชมในสนามกว่า 10 ล้านคน แต่ข้างหลังภาพกลับมีปัญหาและความท้าทายที่หลายฝ่ายต้องเผชิญ
ไม่ว่าจะเป็นค่าใช้จ่ายที่สูงกว่า 3 แสนล้านบาท หรือการที่ชาวปารีสจำนวนมากต้องย้ายออกจากเมืองชั่วคราว เนื่องจากความแออัดและการปรับปรุงเมืองสำหรับการแข่งขัน ซึ่งสร้างความไม่สะดวกในชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก
ผลสำรวจจาก Ipsos ในเดือนมีนาคมที่ผ่านมารายงานว่า ครึ่งหนึ่งของชาวปารีสต้องวางแผนย้ายถิ่นฐานชั่วคราวก่อนโอลิมปิกจะเริ่ม โดยมีอัตราการจองที่พักนอกเมืองเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่า
นอกจากนี้ กฎเกณฑ์เฉพาะกิจในการจัดโซนพิเศษ รวมถึงการก่อสร้างสนามและปิดถนนเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้เกี่ยวข้อง ล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อการสัญจรและคุณภาพชีวิตของคนในเมือง
นอกจากปัญหาในกรุงปารีสแล้ว หากมองย้อนกลับไป การจัดโอลิมปิกในอดีตได้สร้างผลกระทบทางเศรษฐกิจที่ยืดเยื้อในบางประเทศ เช่น กรีซ (ปี 2547) บราซิล (ปี 2559) หรือญี่ปุ่น (ปี 2563-64) ซึ่งล้วนแต่ต้องเผชิญกับปัญหาหนี้สินที่เกี่ยวข้องกับมหกรรมโอลิมปิกอย่างหนักอึ้ง
ที่ผ่านมาแต่ละประเทศเจ้าภาพก็จะใช้งบใกล้เคียงกันอยู่ราว 13,000-15,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ประมาณห้าแสนล้านบาท)
อย่างกรณีของโตเกียวโอลิมปิกนั้น งบเดิมตั้งไว้เพียง 7,000 ล้านเหรียญสหรัฐ แต่สุดท้ายบานปลายไปกว่าเท่าตัว เพราะเหตุการณ์ที่ควบคุมไม่ได้ของโรคอุบัติใหม่อย่างโควิด ทำให้มีคำถามสำคัญว่า การเป็นเจ้าภาพที่หลายฝ่ายต่างปรารถนานั้น จะทำอย่างไรให้ฝันนี้ไม่ไกลเกินเอื้อม และเป็นฝันดี ไม่ใช่ฝันร้าย
สำหรับประเทศใดก็ตาม รวมทั้งไทยที่กำลังหวังจะเป็นเจ้าภาพ เพราะมองว่าการจัดโอลิมปิกสามารถสร้างประโยชน์มหาศาลในหลายด้าน รวมถึงการส่งเสริมเศรษฐกิจ การท่องเที่ยว และภาพลักษณ์ของประเทศได้ ซึ่งก็คงเป็นเรื่องจริง เพราะการเป็นเจ้าภาพนั้นสามารถสร้างรายได้จากการดึงดูดให้มีผู้มาเยือนประเทศแบบเป็นกอบเป็นกำ
โดยประเมินกันว่าการท่องเที่ยวในช่วงโอลิมปิกสามารถนำเงินเข้าประเทศหลายหมื่นล้านบาท และนอกจากนั้น ยังช่วยส่งเสริมการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การสร้างศูนย์กีฬา ที่พักนักกีฬา และระบบขนส่งสาธารณะ ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนทั่วไปในระยะยาวด้วย
และแน่นอนว่า การจัดโอลิมปิกจะเป็นแรงเสริมให้เกิดการพัฒนาการบริหารจัดการเมืองใหม่ ซึ่งสามารถสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับประเทศไทยในสายตาชาวโลก และทำให้ไทยมีโอกาสได้รับความสนใจจากนักลงทุนและนักท่องเที่ยวมากขึ้นในอนาคต
อย่างไรก็ตาม จากบทเรียนของปารีสโอลิมปิกและอีกหลายอดีตเจ้าภาพ รวมถึงการถูกตัดสิทธิ์ในการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันเอเชียนอินดอร์และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ (AIMAG) ครั้งที่ 6 ซึ่งเดิมต้องจัดที่ไทย และมีกำหนดการจัดในเดือนพฤศจิกายนนี้ แต่สภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (OCA) มีมติให้ยกเลิก
เพราะปัญหาการปลดล็อคงบประมาณของไทยเอง อันมาพร้อมกับการเรียกค่าเสียหายที่เกิดขึ้นไปแล้วจากการวางระบบสารสนเทศ ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่ OCA ขายไปล่วงหน้า การสำรองตั๋วเครื่องบิน รวมทั้งหมดราวพันล้านบาทที่ไทยต้องโดนปรับ
ทำให้มีสิ่งที่ควรคำนึงอย่างจริงจัง หากรัฐบาลไทยมองว่าการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคือหนึ่งในเป้าหมายหลัก คงต้องคิดให้ครบถ้วนกระบวนความในมุมต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น
1. งบประมาณและกระบวนการในการอนุมัติงบประมาณของไทย ในเรื่องจำนวนเม็ดเงิน มีการประมาณการว่า ต้องใช้งบประมาณราว 20,000 ล้านเหรียญสหรัฐ (ราวเจ็ดแสนล้านบาท)
โดยแบ่งเป็นค่าก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน 5-7 พันล้านเหรียญ ค่าก่อสร้างสนามกีฬา 3-5 พันล้านเหรียญ ค่าจัดการแข่งขัน 2-3 พันล้านเหรียญ ค่าที่พักนักกีฬา, ค่ารักษาความปลอดภัย, และค่าพาหนะรับส่ง ประมาณ 5 พันล้านเหรียญ ค่าประชาสัมพันธ์และค่าใช้จ่ายสำหรับพิธีเปิดและปิด อีกราว ๆ 1 พันล้านเหรียญ
ไทยจึงต้องพิจารณาอย่างรอบคอบว่า การลงทุนนี้จะสร้างผลตอบแทนในระยะยาวได้หรือไม่ หากไม่มีการวางแผนที่ดี ก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจเป็นเวลาหลายปี
2. ต้องมีการวางแผนและบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น การขนส่งสาธารณะ ระบบสาธารณูปโภค เป็นต้น และยังมีสนามกีฬา ที่พักอาศัย และบริการต่าง ๆ ทั้งหมดต้องสามารถรองรับทั้งนักกีฬา ทีมงาน และนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกได้อย่างเพียงพอและมีประสิทธิภาพมากขึ้น
3. โครงการก่อสร้างมหึมาเพื่อรองรับการจัดมหกรรมกีฬาระดับโลก อาจส่งผลกระทบต่อชุมชนในพื้นที่ ต่อสิ่งแวดล้อมที่ต้องมีการประเมินและป้องกันอย่างรอบคอบ จึงต้องมีมาตรการลดความเสี่ยงและความเดือดร้อนต่อประชาชนรอบบริเวณให้น้อยที่สุด เพื่อให้การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกคุ้มค่ามากที่สุด โดยไม่สร้างปัญหาในระยะยาว
4. การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกไม่ได้มีแต่ด้านบวกอย่างที่กล่าวไปแล้วข้างต้น เพราะอาจนำไปสู่ความขัดแย้งทางสังคม หากว่ารัฐบาลมีการบริหารจัดการที่ไม่โปร่งใส ไม่เป็นธรรม หรือประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการแข่งขันในครั้งนี้ ดังนั้น การสื่อสารกับประชาชนและการสร้างความเข้าใจเป็นสิ่งสำคัญเพื่อให้เกิดการสนับสนุนจากทุกภาคส่วน
สรุปแล้ว การเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกอาจเป็นโอกาสที่ดีของประเทศไทยในเวทีโลก แต่ก็มาพร้อมกับการลงทุนและความเสี่ยงที่ถ้าพลาดเพียงก้าวเดียว ก็อาจได้ไม่คุ้มเสีย ทำให้เราเริ่มเห็นแนวโน้มของการเสนอตัวเป็นเจ้าภาพโดยประเทศต่างๆ ลดลง จากนับสิบประเทศในอดีต เหลือเพียงไม่กี่ประเทศ
ดังนั้น หากไทยกล้าที่จะเสี่ยงก็ต้องวางแผนให้รอบคอบ เตรียมพร้อมให้รอบด้าน ส่วนผลสุดท้ายจะกำไรหรือขาดทุนนั้น ก็ขึ้นอยู่กับความสามารถของผู้นำประเทศและประธานโอลิมปิกของไทย ณ เวลานั้น จะนำพาประเทศไทยไปถึงฝั่งฝันของการเป็นเจ้าภาพได้หรือไม่.
ผู้เขียน
อิสระ เสรีวัฒนวุฒิ
พงศ์ปรีดา ลิ้มวัฒนะกุล
สถาบันพระปกเกล้า