ทุบ‘บ้านป่าฯ’ ยึด‘บ้านอัมพวัน’ จับตาสอยเก้าอี้ ‘ปธ.โอลิมปิคฯ’

ทุบ‘บ้านป่าฯ’ ยึด‘บ้านอัมพวัน’  จับตาสอยเก้าอี้ ‘ปธ.โอลิมปิคฯ’

“บิ๊กป้อม” นั่งเป็นประธานบอร์ดโอลิมปิคฯ 2 สมัยติดต่อกัน โดยวาระแรก 4 ปี ได้รับเลือกเมื่อ 5 เม.ย.2560 จากนั้นได้รับเลือกสมัยที่สองปี 2564 ซึ่งกำลังจะครบวาระปีหน้าในเดือน เม.ย.2568

KEY

POINTS

  • พรรคเพื่อไทย เตรียมดาบสอง พร้อมเด็ดปีก“ทหารแก่”ไม่ยอมตาย ที่ยังแผลงฤทธิ์ไม่เลิกอย่าง “บิ๊กป้อม” 
  • ไทยถูกตัดสิทธิ์จากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย  ยกเลิกการจัดการแข่งขันเอเชียนอินดอร์ และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ครั้งที่ 6
  • เสริมศักดิ์ เชิญ 38 สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย มอบหมายนโยบายและแผนการดำเนินการต่อไป เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว

เป็นเพียงดาบแรกเท่านั้น หลังจากเพื่อไทยเขี่ยพลังประชารัฐ พ้นพรรคร่วมรัฐบาล “บิ๊กป้อม”พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ หัวหน้า พปชร.ได้เรียกประชุมคณะกรรมการบริหารพรรค เพื่อจัดทัพปรับขบวนกันใหม่ ท่ามกลางสถานการณ์ภายในพรรค ที่แตกเป็นสองก๊วน

“ก๊วนผู้กอง” ธรรมนัส พรหมเผ่า เลขาธิการพรรค ที่แม้การเดินเกมให้ถูก“บิ๊กป้อม”ขับออกยังไม่สำเร็จ แต่ก็ประกาศจุดยืน เคียงข้างพรรคเพื่อไทย การทำหน้าที่ในสภาฯ หากรัฐบาลจะเดินไปในทิศทางไหน ก็พร้อมสนับสนุนทางนั้น

ส่วน “ก๊วนบิ๊กป้อม” ก็เป็นไฟต์บังคับ ต้องกลายไปเป็นฝ่ายค้าน มีหน้าที่ตรวจสอบถ่วงดุลรัฐบาล 

สถานการณ์สองขั้วการเมือง ที่รัฐบาลกับฝ่ายค้านเสียงห่างกันชนิดขาดลอย ย่อมทำให้เกมในสภาฯ เอาชนะกันไม่ได้ แต่ที่น่าสนใจคือ เกมนอกสภาฯ ที่น่าจะเข้มข้น 

หาก ครม.“แพทองธาร 1” เริ่มปฏิบัติหน้าที่ ใครมีแผลเก่าแผลใหม่ หากกลั่นกรองตรวจสอบคุณสมบัติไม่ดี นายกฯอุ๊งอิ๊ง อาจถูกสอยตกเก้าอี้ซ้ำรอย “เศรษฐา ทวีสิน”

ทว่า พรรคเพื่อไทย ก็ใช่ว่าจะนอนเป็นหมูในอวย มีความเคลื่อนไหวเตรียมดาบสอง พร้อมเด็ดปีก“ทหารแก่”ไม่ยอมตาย ที่ยังแผลงฤทธิ์ไม่เลิกอย่าง “บิ๊กป้อม” 

โดยใช้ช่องโหว่ ที่ไทยถูกตัดสิทธิ์จากสภาโอลิมปิกแห่งเอเชีย (Olympic Council of Asia : OCA) ยกเลิกการจัดการแข่งขันเอเชียนอินดอร์ และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ (AIMAG) ครั้งที่ 6 ซึ่งไทยต้องเป็นเจ้าภาพ ระหว่างวันที่ 21-30 พ.ย.2567 ที่กรุงเทพฯ และชลบุรี

สำหรับการจัดการแข่งขันเอเชียนอินดอร์ และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ ได้ถูกเลื่อนติดต่อกัน 4 ครั้ง ตั้งแต่ปี 2564 โดยรอบล่าสุด OCA ให้เหตุผลว่า เนื่องจากไทยไม่สามารถปลดล็อกงบประมาณ กับเวลาที่เหลือกระชั้นชิดเพียง 3 เดือน จึงไม่สามารถยอมรับความเสี่ยงที่อาจส่งผลกระทบในหลายด้านได้

แต่ยังเปิดช่องให้ หากไทยมีความประสงค์จะเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขัน ก็ให้คณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ที่มี “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” เป็นประธาน ยื่นเสนอตัวได้อีกครั้ง หลังการแข่งขันเอเชียนอินดอร์ และมาร์เชียลอาร์ตเกมส์ (AIMAG) ครั้งที่ 7 Riyadh Games ของซาอุดีอาระเบีย

แน่นอนว่า ไทยได้รับผลกระทบทั้งเรื่องความเชื่อมั่น ภาพลักษณ์ อีกทั้งยังต้องเสียค่าชดเชย เช่น ค่าลิขสิทธิ์การถ่ายทอดสดที่

OCA ขายไปก่อนหน้านี้ รวมทั้ง ค่าวางระบบไอทีอีก 50 ล้านบาท ค่าตั๋วเครื่องบินบางประเทศที่มีการสำรองตั๋ว ส่วนประเทศไทยเสียงบประมาณไปกว่า 980 ล้านบาทในการเตรียมนักกีฬา

หากไทยไม่ยอมจ่ายค่าชดเชยทั้งหมดนี้ เป็นไปได้ว่า OCA จะพิจารณาตัดสิทธิ์ประเทศไทยในส่งนักกีฬาเข้าแข่งขันเอเชียนเกมส์ที่นาโกย่า หรือเอเชียนเกมส์ 2026 ซึ่งจะส่งนักกีฬาได้ภายใต้ธงโอซีไอ

เมื่อ 21 ส.ค.2567 ที่ผ่านมา “เสริมศักดิ์ พงษ์พานิช” รักษาการ รมว.การท่องเที่ยวและกีฬา ตั้งโต๊ะแถลงยอมรับว่า รัฐบาลไทยรู้สึกเสียดายที่พลาดโอกาสในการเป็นเจ้าภาพ AIMAG ครั้งที่ 6 อย่างยิ่ง แต่ยอมรับผลการตัดสินใจของ OCA และพร้อมที่จะดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องต่อไป

นอกจากนี้ “เสริมศักดิ์” ยังเตรียมเชิญสมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย 38 สมาคม มารับมอบนโยบาย และแผนการดำเนินการต่อไป เพื่อรับมือกับสถานการณ์ดังกล่าว รวมถึงเตรียมความพร้อมจัดการแข่งขันกีฬาซีเกมส์ ครั้งที่ 33 ที่ไทยเป็นเจ้าภาพในปี 2568 เพื่อให้การจัดการแข่งขันมีประสิทธิภาพ และแสดงถึงศักยภาพของประเทศไทยในระดับสากล

ทั้ง 38 สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทยมีความสำคัญ เพราะเป็นที่มาในการลงมติเลือก “บิ๊กป้อม” นั่งเป็นประธานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทยฯ แทน“ บิ๊กอ๊อด”พล.อ.ยุทธศักดิ์ ศศิประภา อดีต รมว.กลาโหม ในยุครัฐบาลยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ที่ประกาศวางมือ หลังจากดำรงตำแหน่งมา 4 สมัย 16 ปี

สำหรับกระบวนการคัดเลือก “ประธานบอร์ดโอลิมปิคฯ” ใช้วิธี ให้ 38 สมาคมกีฬาแห่งประเทศไทย ที่อยู่ใน OCA คัดให้เหลือ 23 สมาคม เพื่อมาคัดเลือกผู้ทรงคุณวุฒิ สมาคมละ 10 คน รวมเป็น 33 คน และมาจากตัวแทน OCA แห่งประเทศไทย 1 คน คือ คุณหญิง ปัทมา ลีสวัสดิ์ตระกูล นายกสมาคมกีฬาแบดมินตันแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์ และนักกีฬาที่ได้เหรียญ 1 คน รวม 35 คน มาโหวตเลือกประธานบอร์ดโอลิมปิคฯ 

สำหรับบุคคล ที่จะได้นั่งประธานบอร์ดโอลิมปิกฯ มีเงื่อนไข ต้องเป็นนายกสมาคมกีฬาประเภทใดก็ได้ หรือหลายประเภท เช่น พล.อ. ยุทธศักดิ์ ศศิประภา เคยเป็นนายกสมาคมว่ายน้ำแห่งประเทศไทย เช่นเดียวกับ บิ๊กป้อม เป็นนายกสมาคมกีฬาว่ายน้ำแห่งประเทศไทยคนปัจจุบัน

หลังจากบิ๊กป้อม ได้รับเลือกเป็นประธานบอร์ดโอลิมปิคฯ ก็ได้สั่งรีโนเวทสำนักงานคณะกรรมการโอลิมปิคแห่งประเทศไทย “บ้านอัมพวัน” ถนนศรีอยุธยา เขตดุสิต กทม. ซึ่งเป็นสถานที่ทรงคุณค่า มีอายุกว่า 100 ปี ซึ่งมีสภาพทรุดโทรม โดยได้รับการปรับปรุง ชั้นล่างใช้เป็นสถานที่ประชุม และต้อนรับแขก ส่วนชั้นสองเป็นพิพิธภัณฑ์กีฬาโอลิมปิกฯ 

บ้านอัมพวัน จึงเปรียบเป็นบ้านหลังที่สองของ“บิ๊กป้อม” ถัดจาก“บ้านป่ารอยต่อฯ”

ปัจจุบัน “บิ๊กป้อม” นั่งเป็นประธานบอร์ดโอลิมปิคฯ 2 สมัยติดต่อกัน โดยวาระแรก 4 ปี ได้รับเลือกเมื่อ 5 เม.ย.2560 จากนั้นได้รับเลือกสมัยที่สองปี 2564 ซึ่งกำลังจะครบวาระปีหน้าในเดือน เม.ย.2568

ดังนั้น จึงน่าจับตาว่า“บิ๊กป้อม”จะรักษาบ้านอัมพวัน ฐานที่มั่นแห่งที่สองไว้ได้หรือไม่ หลังจากบ้านป่าฯ ถูกเพื่อไทยเขย่าโครงสร้าง และรอให้ผุพังไปตามกาลเวลา