“สมุทรสาครโมเดล” ชู 5 มาตรการพิชิตปลาหมอคางดำลดลง 70%
ประมงจังหวัดฯ แชร์ สมุทรสาครโมเดล สามารถกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำได้แล้วมากกว่า 1.3 ล้านตัน ส่งผลให้วันนี้จำนวนปลาหมอคางดำในสมุทรสาครลดลงแล้ว 70%
สมุทรสาครโมเดล จังหวัดสมุทรสาครเป็นหนึ่งในจังหวัดที่พบการระบาดของปลาหมอคางดำ สามารถพบปลาไปทั่วทั้งในคลอง แม่น้ำและอ่าวตัว ก. ทางจังหวัดฯ พยายามดำเนินการทุกวิถีทางมีการจัดการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำอย่างเป็นระบบและทำมาอย่างต่อเนื่อง
เพื่อเอาชนะความอึด ทน สามารถขยายพันธุ์ได้รวดเร็วของปลาชนิดนี้ ผ่านการดำเนินการ 5 มาตรการและได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วนทั้งหน่วยงานภาครัฐ ผู้นำชุมชน ชาวประมงพื้นบ้าน เกษตรกร แพปลา จนถึงภาคเอกชน
วันนี้สมุทรสาครสามารถ กำจัดปลาหมอคางดำ ได้1,378,803 กิโลกรัม ทำให้ปลาหมอคางดำหายไปถึง 70% เห็นได้จากกองเรืออวนรุนทีมนักล่าปลาหมอคางดำในคลองต่างๆ จับปลาได้ลดลงจากที่เคยได้ 10 ตัน
แต่ทุกวันนี้ชาวประมงใช้อวนรุนจับปลาได้เพียง 100 - 500 กิโลกรัมเท่านั้น เตรียมย้ายไปจับปลาในจังหวัดอื่นที่ผ่อนผันให้ใช้อวนรุน
สมุทรสาครได้ริเริ่มการกำจัดปลาหมอคางดำอย่างจริงจังตั้งแต่ปี 2566 เริ่มต้นจากทำกันเองในจังหวัดเมื่อมีชาวบ้านร้องเรียน โดยผู้ว่าราชการจังหวัดในสมัยนั้นได้จัดตั้ง คณะทำงานแก้ไขปัญหาการแพร่ระบาดของสัตว์น้ำต่างถิ่นของจังหวัดสมุทรสาคร& ขึ้นเพื่อติดตามและกำหนดนโยบายจัดการปัญหาอย่างเป็นระบบ
ถือเป็นจังหวัดแรกและจังหวัดเดียวที่จัดตั้งคณะทำงานนี้ สะท้อนให้เห็นว่าจังหวัดไม่นิ่งนอนใจกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้น คณะทำงานชุดที่ตั้งขึ้นเปรียบเป็นยาสามัญประจำบ้านที่ช่วยพิจารณาหาทางแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำไม่ให้แพร่กระจาย
ต่อมายกระดับการแก้ปัญหาในจังหวัด สู่กรม กระทรวง และในที่สุดปลาหมอคางดำเป็นวาระแห่งชาติแล้ว
สมุทรสาคร มีการขับเคลื่อนการแก้ปัญหาปลาหมอคางดำของคณะทำงานฯ ในช่วงแรกยังไม่มีงบประมาณ จังหวัดกระตุ้นให้ทุกคนช่วยกันจับปลาหมอคางดำด้วยการจัดกิจกรรมแข่งขันจับปลาและกินปลา
ต่อมาการแก้ปัญหาเริ่มเป็นรูปธรรมชัดเจนขึ้นในปี 2567 กำหนด 5 มาตรการขับเคลื่อนการกำจัดปัญหาอย่างเป็นระบบ ดังนี้
มาตรการแรก คือ การกำจัดปลาหมอคางดำออกจากแหล่งน้ำ การขับเคลื่อนมาตรการนี้ตามแนวทาง “เจอ แจ้ง จับ จบ”
จังหวัดได้รับการผ่อนผันให้ใช้เรืออวนรุนซึ่งนับเป็นปฐมบทของสมุทรสาครในการพิชิตปลาหมอคางดำอย่างจริงจัง โดยมีกองเรืออวนรุนที่ปรับจากอวนรุนเคย เป็นอวนรุนปลาขนาด 3 ตันกรอสจำนวน 33 ลำสมัครเข้าร่วมมาโครงการเป็นทีมไล่ล่าขจัดปลาในทุกแหล่งน้ำให้หมดไปแบบสิ้นซาก
อวนรุน เป็นเครื่องมือจับปลาหมอคางดำที่มีประสิทธิภาพสูงสุด และต้องพึ่งพาทักษะของชาวประมงพื้นบ้านในการใช้อวนรุนในลำคลองที่แคบและคดไปมา ตอนแรกทีมอวนรุนสามารถจับปลาได้ลำละ 1-2 ตัน ส่งผลให้ปลาในหลายคลองหายไป
เดือนสิงหาคมที่ผ่านมาบางคลองสามารถจับได้เพียง 200-300 กิโลกรัมแทบไม่คุ้มค่าน้ำมัน ประมงจังหวัดจึงสำรวจพื้นที่ใหม่ในแม่น้ำหรือคลองน้ำจืด รวมถึงคลองชลประทาน
นอกจากทีมเรืออวนรุนแล้ว สมุทรสาครยังจัดกิจกรรมลงแขกลงคลอง สองครั้งแรกปลาหมอคางดำหนีหมดจับปลาไม่ได้ พอจัดครั้งที่ 3 ประมงสมุทรสาครมีประสบการณ์มากขึ้น และยังได้รับการสนับสนุนจากชาวประมงจากจังหวัดสุพรรณบุรี ที่นำ “อวนล้อม” มาช่วยจับปลาทำให้ “ลงแขกลงคลอง”
สองครั้งล่าสุดได้ปลามากกว่า 1 ตัน และจังหวัดยังเดินหน้าจับปลาในคลองต่างๆ อย่างต่อเนื่อง
มาตรการที่ 2 การใช้ประโยชน์จากปลาหมอคางดำ
เป็นกลไกที่สำคัญช่วยกระตุ้นให้เกิดการล่าเพิ่มขึ้น นอกจากโครงการทำน้ำหมักชีวภาพของการยางแห่งประเทศไทยแล้ว
จังหวัดยังได้รับความร่วมมืออย่างดีจากแพปลา โรงงานปลาป่นท่าจีน โรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพี และซีพีเอฟที่ช่วยกันรับซื้อปลาเพื่อนำไปผลิตปลาป่นตั้งแต่เดือนมีนาคม และในเดือนสิงหาคมได้ประกาศรับซื้อในราคา 15 บาทต่อกิโลกรัม
เร็วๆ นี้ โรงงานปลาป่นศิริแสงอารำพีสามารถรับซื้อปลาหมอคางดำได้แล้ว 1 ล้านกิโลกรัมแล้ว นอกจากนี้ยังขยายผลร่วมมือกับสำนักงานพัฒนาที่ดินการผลิตน้ำหมักชีวภาพเพื่อแจกฟรีให้กับเกษตรกรในจังหวัดต่อไป
การขับเคลื่อนของทั้ง 2 มาตรการ ช่วยให้จังหวัดสมุทรสาครสามารถกำจัดปลาได้แล้ว 1,378,803 กิโลกรัม โดยจังหวัดจะมีการรายงานความคืบหน้าผลการกำจัดปลาทุกวัน ส่งผลให้ทีมเรืออวนรุนจับปลาได้ลดลง
ประมงจังหวัดประเมินว่าปลาหมอคางดำในแหล่งน้ำสมุทรสาครน่าจะหายไปประมาณ 70% อีก 30% พบลูกปลาตัวเล็กๆ
มาตรการที่ 3 การปล่อยผู้ล่า
หลังจากการไล่จับปลาออกจากแหล่งน้ำแล้ว ประมงปล่อยปลาผู้ล่า อย่างกะพงขนาด 4-5 เซนติเมตรขึ้นไปเพื่อจับกินลูกปลาหมอคางดำได้ การปล่อยปลาผู้ล่าจะทำในแหล่งที่มีปลาเบาบาง พบแต่ปลาตัวเล็กๆ หรือหลังจากจัดกิจกรรมลงแขกลงคลองจนปลาตัวใหญ่หายไป
ประมงสมุทรสาครปล่อยปลาครั้งแรก เป็นปลากะพงที่ได้จากผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร คุณผล ดำธรรม จำนวน 90,000 ตัวปล่อยในแหล่งน้ำ 3 จุด ต่อมาได้รับการสนับสนุนจากซีพีเอฟมาเสริมอีก 16,000 ตัว
ล่าสุดเพิ่งปล่อยลงแม่น้ำท่าจีน บริเวณหน้าศาลหลักเมืองสมุทรสาคร 6,000 ตัว ซึ่งประมงจะติดตามผลการปล่อยปลาผู้ล่าอีก 2-3 เดือนหลังจากนี้ นอกจากนี้ อาจจะนำเป็ดไล่ทุ่งลงไปช่วยจับกินลูกปลาอีกทางหนึ่งด้วย
มาตรการที่ 4 การควบคุมพื้นที่
ประมงจังหวัด และศูนย์วิจัยและพัฒนาการเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำชายฝั่งได้ดำเนินการสำรวจปลาทั่วทั้งจังหวัด 38 จุด เพื่อกำหนดโซนแหล่งน้ำที่ยังพบปลาอยู่มาก และปลาเบาบาง เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการปลาได้ดีขึ้น
มาตรการที่ 5 การประชาสัมพันธ์เพื่อสร้างการรับรู้ให้กับประชาชน
ประมงสมุทรสาครมองว่าจังหวัดเป็นต้นแบบการประชาสัมพันธ์เรื่องนี้ จากการจับปลาครั้งแรกที่แม้ว่าจับปลาไม่ได้แต่คนไทยทั่วประเทศได้รู้จักปลาหมอคางดำกันมากขึ้น
ผลสำเร็จการปราบปลาหมอคางดำของจังหวัดสมุทรสาคร ขอยกให้ ประมงพื้นบ้านถือเป็นวีรบุรุษมือล่าปลาหมอคางดำ เป็นกำลังสำคัญในการไล่จับปลาตามลำคลองต่างๆ ได้มาก
ต่อจากนี้ จังหวัดจะพยายามส่งเสริมให้มีการจับปลาในบ่อร้างให้มากขึ้น และที่สำคัญการได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน และขอขอบคุณ นายผล ดำธรรม ผู้ว่าราชการจังหวัดสมุทรสาคร นายบัญชา สุขแก้ว อธิบดีกรมประมง ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า อดีต รมว.เกษตรและสหกรณ์ ที่ช่วยสนับสนุนการดำเนินมาตรการต่างๆ ทำได้อย่างรวดเร็วทันสถานการณ์
และขอขอบคุณคณะทำงานแก้ปัญหาปลาหมอคางดำในพื้นที่จังหวัดสมุทรสาครประชาชนชาวสมุทรสาครทุกคน ที่ร่วมกันขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำในจังหวัดสมุทรสาคร จนประสบผลสำเร็จเป็นรูปธรรมจนเป็นต้นแบบในการแก้ไขปัญหาปลาหมอคางดำในขณะนี้.