เร่งถก ศูนย์ส่วนหน้าภาคตะวันออก รับฝนตกหนักเดือน ก.ย. แจ้งเตือนพื้นที่น้ำท่วม
สทนช. เร่งประชุมศูนย์ส่วนหน้าพื้นที่ภาคตะวันออกตั้งรับสถานการณ์ฝนตกหนักเดือน ก.ย. วางแผนพร่องน้ำอ่างเตรียมรองรับฝน สร้างเครือข่าย ตร.แจ้งเตือนเส้นทางพื้นที่ท่วมบ่อย
วันนี้ (7 ก.ย. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมคณะทำงานอำนวยการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ใน พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม ลุ่มน้ำชายฝั่งทะเลตะวันออก และลุ่มน้ำบางปะกง ครั้งที่ 9/2567 โดยมี หัวหน้าสำนักงานป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย จ.ตราด กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย ผู้เข้าร่วมประชุมประกอบด้วย ผู้แทนส่วนราชการและผู้บริหารองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ของจังหวัดในพื้นที่ภาคตะวันออก พร้อมด้วยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้าร่วมประชุม ณ ห้องประชุมพลอยแดง ศาลากลางจังหวัดตราด
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยภายหลังการประชุมว่า สืบเนื่องจากมีการคาดการณ์ว่าปริมาณฝนในช่วงสัปดาห์นี้มีแนวโน้มจะมากกว่าค่าเฉลี่ยของช่วงฤดูฝนทำให้เกิดฝนตกหนักขึ้นในหลายพื้นที่ ประกอบกับอยู่ในช่วงเฝ้าระวังพายุไต้ฝุ่น “ยางิ” ซึ่งขณะนี้ได้เคลื่อนตัวขึ้นฝั่งบริเวณเมืองกว๋างนินท์ ประเทศเวียดนาม หลังจากนั้นจะอ่อนกำลังลงเป็นพายุโซนร้อยและพายุดีเปรสชั่นตามลำดับ ส่งผลให้ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบนมีฝนตกหนักถึงหนักมาก ในช่วงวันที่ 7-8 ก.ย.67 ประกอบกับลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้กำลังค่อนข้างแรงปกคลุมทะเลอันดามัน ภาคใต้ และอ่าวไทย ทำให้ประเทศไทยมีฝนตกหนักมากบางพื้นที่ในภาคตะวันออกและภาคใต้ฝั่งตะวันตก โดยเฉพาะที่ จ.จันทบุรี และ จ.ตราด โดยมีการคาดการณ์ฝนจะตกหนักต่อเนื่องอีก 3 วัน (7–9 ก.ย. 67)
นอกจากนี้ ที่ประชุมยังมีการคาดการณ์ว่าพื้นที่ภาคตะวันออกจะมีฝนต่อเนื่องไปจนถึงวันที่ 16 ก.ย. 67 ในวันนี้ จึงได้ขอให้คณะทำงานฯ ร่วมกันวางแผนรองรับสถานการณ์ฝนที่จะเกิดขึ้นเพื่อให้เกิดผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่น้อยที่สุด
จากการประชุม สทนช. ได้รายงานสถานการณ์แหล่งน้ำภาคตะวันออก พบว่าขณะนี้มีปริมาณน้ำในภาพรวม 1661 ล้าน ลบ.ม. (54%) โดยมีแหล่งน้ำเฝ้าระวังน้ำมาก ประกอบด้วย แหล่งน้ำขนาดใหญ่ ได้แก่ เขื่อนบดินทรจินดา ปริมาณน้ำ 65% แหล่งน้ำขนาดกลางซึ่งมีปริมาณน้ำสูงกว่า 80% จำนวน 11 แห่ง และแหล่งน้ำขนาดเล็ก ได้แก่ อ่างเก็บน้ำคลองสีเสียดนครนายก ปริมาณน้ำ 101% และยังได้คาดการณ์น้ำในอ่างเก็บน้ำขนาดใหญ่ที่ต้องเฝ้าระวังน้ำมาก ณ วันที่ 1 พ.ย.67 จะมีปริมาณน้ำเกิน 100% ประกอบด้วย อ่างเก็บน้ำหนองปลาไหล ประแสร์ และนฤบดินทรจินดา สำหรับระดับน้ำในแม่น้ำตราดปัจจุบันต่ำกว่าตลิ่ง 6.22 ม. และจากการคาดการณ์สถานการณ์ฝนตกเพิ่มคาดว่าระดับน้ำจะสูงขึ้นแต่ยังคงต่ำกว่าตลิ่ง 3.86 ม.
เลขาธิการ สทนช. กล่าวต่อว่า จากการคาดการณ์สถานการณ์น้ำดังกล่าว ที่ประชุมซึ่งเป็นผู้แทนหน่วยงานของจังหวัดต่างๆ จึงนำเสนอแนวทางรองรับสถานการณ์เบื้องต้นเป็นไปตาม 10 มาตรการรองรับฤดูฝน ปี 67 อาทิ กรมชลประทานและกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงานได้วางแผนทยอยพร่องระบายน้ำในอ่างที่มีปริมาณน้ำมากอยู่แล้วเพื่อรองรับฝนที่จะตกมาเพิ่มโดยแจ้งให้ประชาชนทราบล่วงหน้าผ่านช่องทางต่างๆ กรมประชาสัมพันธ์ได้นำเสนอแผนสร้างการรับรู้และการเตือนภัยผ่านช่องทางต่างๆ
กรมทรัพยากรน้ำได้รายงานแผนการติดตั้งเครื่องมือแจ้งเตือนรวมถึงสร้างเครือข่ายการแจ้งเหตุเตือนภัยให้ครอบคลุมพื้นที่และเข้าถึง กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยได้เตรียมแนวทางการแจ้งเตือนภัยและการให้ความช่วยเหลือและจัดเตรียมสถานที่พักพิง รวมไปถึงการเยียวยาฟื้นฟูให้กับประชาชนที่รับผลกระทบ และภายหลังเสร็จสิ้นการประชุม คณะทำงานฯ ได้ร่วมลงพื้นที่ในจุดต่างๆ ได้แก่ จุดคันดินกั้นทางน้ำไหล (คลองเพชร) อ่างเก็บน้ำเขาระกำขยาย (สระสีเสียด) และจุดติดตั้งเครื่องสูบน้ำไฮโดรโฟร์ ปากคลองส่งน้ำสายใหญ่ เพื่อสำรวจความพร้อมและการเตรียมการรองรับสถานการณ์ทั้งในส่วนของการป้องกันน้ำท่วม และการบริหารจัดการน้ำในแหล่งน้ำต่างๆ ด้วย
“จากการรับฟังแนวทางการเตรียมความพร้อมของที่ประชุมในวันนี้ ซึ่งเป็นไปตาม 10 มาตรการรองรับฤดูฝน ปี 67 อยู่แล้ว จึงได้เสนอแนวทางเพิ่มเติมในหลายประเด็น ได้แก่ หน่วยงานที่รับผิดชอบดูแลอ่างเก็บน้ำต่างๆ ในพื้นที่ภาคตะวันออกควรพิจารณาปรับปรุงเกณฑ์ควบคุมระดับน้ำ (rule curve) ให้เหมาะสมกับพฤติกรรมของฝนในปัจจุบัน และพัฒนาแบบจำลองการคาดการณ์เป็นรายวันเพื่อเสริมประสิทธิภาพ โดยต้องบริหารจัดการในระดับลุ่มน้ำและระหว่างลุ่มน้ำด้วยเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด ในเรื่องของการประชาสัมพันธ์แจ้งเตือนควรพัฒนาช่องทางการสื่อสารแจ้งเตือนสถานการณ์ฝนหรือระดับน้ำให้ประชาชนได้รับทราบล่วงหน้าได้โดยเร็วยิ่งขึ้นโดย สทนช.จะประสานสำนักงานตำรวจแห่งชาติขอความร่วมมือตำรวจจราจรเพื่อช่วยสื่อสารแจ้งเตือนระดับน้ำในเส้นทางเดินรถต่างๆ ในพื้นที่เสี่ยงที่เกิดน้ำท่วมบ่อยครั้งเช่น เมืองพัทยา ระยอง ซึ่งที่ผ่านมาเกิดกรณีรถจมน้ำบ่อยๆ จึงควรพัฒนามีการประเมินล่วงหน้าและแจ้งเตือนได้อย่างแม่นยำเพื่อประชาชนเตรียมตัวได้ทัน” เลขาธิการ สทนช. กล่าวในตอนท้าย