เกษตรกร 'ส.ป.ก.' เสียชีวิต โอนที่ดินให้ใครได้บ้าง ขั้นตอน เอกสารที่ต้องใช้
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดขั้นตอน เมื่อเกษตรกร เจ้าของที่ดิน ส.ป.ก. เสียชีวิต จะสามารถโอนกรรมสิทธิที่ดินให้ใครได้บ้าง ลำดับทายาท รับมรดกที่ดิน พร้อมช่องทางการยื่นคำขอ และเอกสารที่ต้องใช้โอนที่ดิน
สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) เปิดขั้นตอน เมื่อเกษตรกร เจ้าของที่ดิน ส.ป.ก. เสียชีวิต จะสามารถโอนกรรมสิทธิ์ที่ดินให้ใครได้บ้าง ลำดับทายาท รับมรดกที่ดิน พร้อมช่องทางการยื่นคำขอ และเอกสารที่ต้องใช้โอนที่ดิน
ที่ดิน ส.ป.ก. คืออะไร
“ที่ดิน ส.ป.ก.” หรือ “ที่ดิน ส.ป.ก. 4-01” เป็นที่ดินที่สำนักงานปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ออกให้กับประชาชนเข้าทำประโยชน์ในเขตปฏิรูปที่ดิน ตามพระราชบัญญัติการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม พ.ศ.2518
โดยที่ดิน ส.ป.ก. นั้นใช้ทำเกษตรกรรมได้อย่างเดียวเท่านั้น ทำประโยชน์อย่างอื่นไม่ได้ และผู้ครอบครองทำประโยชน์ในที่ดิน ส.ป.ก. 4-01 จะต้องมีฐานะยากจน หรือผู้จบการศึกษาทางเกษตรกรรม หรือผู้เป็นบุตรของเกษตรกร
ที่ดิน ส.ป.ก.โอนให้ใครได้บ้าง
- สามารถโอนสิทธิในขณะมีชีวิตอยู่ โดยมีเหตุผลที่จำเป็น เช่น ชราภาพ เจ็บป่วย อื่นๆ ให้แก่ทายาท
- ตกทอดทางมรดกสิทธิให้ทายาท เมื่อเกษตรกรที่ได้รับกรรมสิทธิที่ดิน ส.ป.ก. เสียชีวิตลง
ลำดับทายาทผู้มีสิทธิ รับโอนที่ดิน เมื่อเกษตรกร ส.ป.ก. เสียชีวิต
1. คู่สมรส (ลำดับแรก รวมถึงคู่สมรสที่ไม่จดทะเบียนและอยู่กินฉันสามีภริยา ขณะที่เจ้ามรดกถึงแก่ความตาย)
2. ผู้สืบสันดาน ได้แก่
2.1 บุตร (รวมถึงบุตรนอกกฎหมาย บิดาให้การรับรอง เช่น ให้ใช้นามสกุล อุปการะเลี้ยงดู เป็นต้น)
2.2 กรณีชั้นบุตร "เสียชีวิต" ไม่ว่าก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตาย หรือ "สละสิทธิ" คนที่จะรับมรดกแทนที่หรือรับสิทธิได้คือ หลาน (ลูกของบุตร) / เหลน (หลานของบุตร) ไล่ไปจนหมดสาย
2.3 บุตรบุญธรรม (ต้องจดทะเบียน ไม่น้อยกว่า 10 ปี หรือก่อนครบกำหนด 10 ปี หากผู้รับบุตรบุญธรรมตายก่อนครบกำหนด 10 ปี และหากมีเหตุสมควร)
3. บิดามารดา
4. พี่น้องร่วมบิดามารดาเดียวกัน
5. พี่น้องร่วมบิดา หรือ ร่วมมารดา เดียวกัน
ทายาทลำดับ 4 และ 5 หาก "เสียชีวิต" ไม่ว่าก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตาย หรือ "สละสิทธิ" คนที่จะรับมรดกแทนที่หรือสืบสิทธิได้คือ ลูก/หลาน/เหลน ของทายาทลำดับที่ 4, 5 ไล่ไปจนหมดสาย
6. ปู่ ย่า ตา ยาย
7. ลุง ป้า น้า อา
ทายาทลำดับ 7 หาก "เสียชีวิต" ไม่ว่าก่อนหรือหลังเจ้ามรดกตายหรือ "สละสิทธิ" คนที่จะรับมรดกแทนที่หรือสืบสิทธิได้คือ "ลูก/หลาน/เหลน" ของทายาทลำดับที่ 7 ไล่ไปจนหมดสาย
ทั้งนี้ทายาทต้องบรรลุนิติภาวะ เป็นเกษตรกร ประกอบอาชีพเกษตรกรเป็นหลัก และมีที่ดิน ส.ป.ก.4-01 และที่ดินประเภทอื่นๆ รวมกันแล้วเนื้อที่ไม่เกิน 50 ไร่ (นับรวมของคู่สมรส/ชายหรือหญิงที่อยู่กินกันฉันสามีภริยา/บุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะ)
ช่องทางยื่นคำขอ โอนที่ดินส.ป.ก.
- สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) จังหวัด ที่เป็นที่ตั้งของที่ดิน
- ศูนย์บริการประชาชนออนไลน์ ส.ป.ก. https://servicecenter.alro.go.th
เอกสารที่ต้องใช้ โอนที่ดินส.ป.ก.
เกษตรกรผู้เสียชีวิต
- ส.ป.ก. 4-01 หรือสัญญาเช่า สัญญาเช่าชื่อ (ถ้ามี)
- ใบมรณบัตรของเกษตรกรผู้เสียชีวิต
- ทะเบียนสมรสของผู้ตาย (ถ้ามี)
- ใบเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)
ทายาทผู้ขอรับมรดกสิทธิ
- บัตรประจำตัวประชาชน
- ทะเบียนบ้าน
- ทะเบียนสมรส (ถ้ามี)
- ใบหย่า (ถ้ามี)
- บัตรประชาชนและทะเบียนบ้านคู่สมรสของทายาทผู้ขอรับมรดกสิทธิ
- ใบเปลี่ยนชื่อ - สกุล (ถ้ามี)
กรณีถือว่าทายาทสละสิทธิ ไม่ขอรับมรดกที่ดินส.ป.ก.
- ให้แสดงเจตนาสละสิทธิและลงลายมือชื่อต่อเจ้าหน้าที่ หรือ ไม่ยื่นคำขอภายใน 1 ปี นับแต่วันที่ผู้ได้รับที่ดิน ถึงแก่ความตาย
ที่ดิน ส.ป.ก หรือ ส.ป.ก.4-01 ไม่สามารถซื้อ-ขาย-โอน ได้ (ยกเว้นเป็นการโอนสิทธิให้ทายาทและตกทอดทางมรดกสิทธิให้ทายาท) เป็นการครอบครองโดยได้สิทธิครอบครองทำประโยชน์ ซึ่งสิทธิอาจหมดลงเมื่อฝ่าฝืนกฎระเบียบ หรือขาดคุณสมบัติเกิน 1 ปี
สอบถามรายละเอียดได้ที่เว็บไซต์สำนักงานการปฏิรูปที่ดินเพื่อเกษตรกรรม (ส.ป.ก.) www.alro.go.th โทร. 1764