คุก 4 ปี "เซปิง" กับพวก ไม่รอลงอาญา หลอกลวง "เฟซออฟ" ศัลยกรรมไร้รอยแผล

คุก 4 ปี "เซปิง" กับพวก ไม่รอลงอาญา หลอกลวง "เฟซออฟ" ศัลยกรรมไร้รอยแผล

ศาลอาญาพิพากษาจำคุก 4 ปี! "เซปิง" กับพวก ไม่รอลงอาญา ฐานฉ้อโกงประชาชน หลอกลวงโฆษณา "เฟซออฟ" ศัลยกรรมไร้รอยแผล

วันที่ 19 กันยายน 2567 ที่ห้องพิจารณา 801 ที่ศาลอาญา ถ.รัชดาภิเษก ศาลอาญาอ่านคำพิพากษาคดีหมายเลขดำ อ.742/2562 ที่ น.ส.กนกวรรณ โดยมี น.ส.สายชล ผู้รับมอบอำนาจ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส. เซปิง, นายบทมากร, บริษัท เอ็ม เอฟ เซอร์เจอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด และนายกมล เป็นจำเลยที่ 1 - 4 ในข้อหาร่วมกันฉ้อโกงประชาชน, ความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ พ.ศ. 2550, พ.ร.บ.วิชาชีพเวชกรรม พ.ศ. 2525, พ.ร.บ.สถานพยาบาล พ.ศ. 2541 และ พ.ร.บ.คุ้มครองผู้บริโภค พ.ศ. 2522

 

โดยโจทก์ยื่นฟ้องว่า จำเลยทั้งสี่ร่วมกันหลอกลวงโจทก์และประชาชน โฆษณาโครงการเฟซออฟศัลยกรรมอย่างปลอดภัยและต้องไร้รอยแผลเป็น ความจริงแล้วจำเลยหาได้มีความสามารถทำศัลยกรรมผ่าตัดใบหน้าให้ได้ผลลัพธ์ตามที่กล่าวอ้าง โดยหลังทำศัลยกรรมกับโครงการมีรอยแผลเป็นและบวมช้ำเกินร้อยละ 10 จากกรณีร่วมกันประกอบธุรกิจโครงการศัลยกรรม "เฟซออฟ"

 

ภายหลังฟังคำพิพากษา นายภิญโญภัทร์ ชิดตะวัน หรือ ทนายเล้ง ทนายความโจทก์ กล่าวว่า วันนี้ศาลนัดฟังคำพิพากษาในคดีที่ น.ส.กนกวรรณ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง น.ส.เซปิง กับพวกรวม 4 คน ซึ่งฟ้องไว้นานตั้งแต่ปี 2562 ล่าสุดวันนี้ศาลได้ตัดสินว่า น.ส.เซปิง และนายบทมากร จำเลยที่ 1 - 2 กระทำผิดตามฟ้องใน 3 ข้อหา คือ ฉ้อโกงประชาชน, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ การกระทำกรรมเดียวผิดกฎหมายหลายบทให้ลงโทษฐานฉ้อโกงประชาชน ลงโทษจำคุก 4 ปี ไม่รอลงอาญา

ส่วน บริษัท เอ็ม เอฟ เซอร์เจอรี่ เซ็นเตอร์ จำกัด จำเลยที่ 3 ที่เป็นสถานพยาบาล โดนปรับฐานโฆษณาเกินจริง 50,000 บาท และ จำเลยที่ 4 นายกมล ซึ่งมีอาชีพแพทย์ มีโทษจำคุก 6 เดือน ปรับ 50,000 บาท ฐานโฆษณาเกินจริง แต่ศาลให้รอลงอาญามีกำหนดโทษ 2 ปี เนื่องจากเห็นว่าโทษจำคุกเพียง 6 เดือนถือเป็นโทษน้อย และนายกมลมีอาชีพแพทย์ที่มีความน่าเชื่อถือและน่าจะทำประโยชน์กับสังคมได้ดีกว่านำไปจำคุกระยะสั้นจึงให้โอกาสกลับตัว

ทนายเล้ง ทนายความโจทก์ กล่าวต่อว่า คดีนี้ได้ต่อสู้มาอย่างยาวนาน ตั้งแต่ปี 2562 เนื่องจากอยู่ในช่วงโควิดและฝ่ายโจทก์อยู่ต่างประเทศ ในคดีนี้มี น.ส.กนกวรรณ ฟ้องเพียงคนเดียว แต่ยังมีอีกคดีที่อยู่ในศาลซึ่งจะมีการสืบพยานในปี 2568 และยังมีผู้เสียหายที่รอการดำเนินการอยู่ อย่างไรก็ตามศาลได้มีคำวินิจฉัยไว้น่าสนใจว่า การดำเนินการดังกล่าวไม่ใช่ตัวแทนนายหน้า มันเกินเลยกว่าความเป็นตัวแทนนายหน้า ซึ่งศาลได้ลงโทษในฐานฉ้อโกง, พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ รวมถึงการโฆษณาเกินจริง โดยในคดีนี้ถือว่าโทษสูงที่สุด จากคดีที่ได้ยื่นฟ้องไป ส่วนที่ผู้เสียหายยื่นฟ้องเพียงคนเดียวแต่ศาลกลับลงข้อหาฉ้อโกงประชาชนได้ เพราะศาลเห็นว่าเป็นการใช้สื่อออนไลน์ในการเผยแพร่ ศาลได้หยิบยกในส่วนนี้มาทำให้ชัดเจนและเป็นข้อกฎหมายที่ชัดเจนอยู่แล้วว่า ถ้าเป็นการเผยแพร่ต่อสาธารณชนเป็นการฉ้อโกงประชาชนได้ แม้จะมีผู้เสียหายเพียงคนเดียวก็ตาม

คุก 4 ปี \"เซปิง\" กับพวก ไม่รอลงอาญา หลอกลวง \"เฟซออฟ\" ศัลยกรรมไร้รอยแผล