เช็กเลย! เกณฑ์พิจารณา ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่

เช็กเลย! เกณฑ์พิจารณา ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่

เปิดคุณสมบัติรายบุคคลและครอบครัว เกณฑ์พิจารณา ผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียน บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ได้เปิดเผยถึงการเปิดให้ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจนรอบใหม่ โดยระบุว่า เนื่องจากขณะนี้กำลังจะครบ 2 ปี หลังจากรอบล่าสุดที่เปิดลงทะเบียน เมื่อปลายปี 2565 (5 ก.ย.-31 ต.ค.) ทั้งนี้ เพื่อเป็นการทบทวนคุณสมบัติของผู้มีสิทธิเข้าร่วมโครงการใหม่

ดังนั้น คาดว่าจะมีการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ในช่วงเดือน มี.ค. หรือ เม.ย. 2568 ซึ่งจะต้องผ่านการอนุมัติของ ครม. ก่อน

อย่างไรก็ตาม การเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐรอบใหม่ ถือเป็นการทบทวนผู้มีสิทธิ์คนเก่า ซึ่งจะทำทุกๆ 2 ปี เพราะผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดิม บางคนอาจมีคุณสมบัติหลุดจากเกณฑ์ไปแล้ว หรือบางคนไม่ได้รับสิทธิ์ในรอบที่แล้ว อาจมีคุณสมบัติผ่านในรอบนี้ แต่จะมีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ หรือคุณสมบัติผู้ลงทะเบียนรอบใหม่หรือไม่นั้น ซึ่งขณะนี้ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลงจากเดิม

 

เกณฑ์คัดคุณสมบัติผู้มีสิทธิ์ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเดิม

  • บุคคลสัญชาติไทย
  • อายุตั้งแต่ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป
  • มีรายได้คนละไม่เกิน 100,000 บาทต่อปี หรือภายในครอบครัว มีรายได้เฉลี่ยไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปี
  • ทรัพย์สินทางการเงิน ได้แก่ เงินฝาก พันธบัตร ตราสารหนี้ต่างๆ ต้องไม่เกิน 100,000 บาทต่อคน หรือในระดับครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาทต่อคนต่อปีเช่นเดียวกัน
  • ต้องไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือที่ดิน เกินจากเกณฑ์ที่กระทรวงการคลังกำหนด
  • ไม่มีบัตรเครดิต
  • ไม่มีวงเงินกู้บ้านตั้งแต่ 1.5 ล้านบาทขึ้นไป
  • ไม่มีวงเงินกู้ซื้อรถตั้งแต่ 1 ล้านบาทขึ้นไป
  • ไม่เป็นภิกษุ สามเณร ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ ผู้รับบำเหน็จรายเดือน ผู้รับบำนาญ ข้าราชการการเมือง รวมถึง สส. และ สว.

กรณีไม่มีครอบครัว ห้องชุดต้องไม่เกิน 35 ตร.ม. และที่ดินที่ไม่ใช่เพื่อการเกษตร ไม่เกิน 1 ไร่ และใช้ในการเกษตร ไม่เกิน 10 ไร่ มีบ้านพร้อมที่ดิน บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ตึกแถว ไม่เกิน 25 ตร.ว. และรวมกันหมดแล้ว พื้นที่การเกษตรไม่เกิน 10 ไร่

การจ่ายสวัสดิการ เบื้องต้นยังเป็นไปตามเดิม คือ

  • วงเงินค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภค 300 บาทต่อคนต่อเดือน
  • วงเงินค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ 750 บาท ต่อคนต่อเดือน
  • วงเงินส่วนลดค่าก๊าซหุงต้ม 80 บาท ต่อคนต่อ 3 เดือน
  • มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำประปา 100 บาท ต่อครัวเรือนต่อเดือน
  • มาตรการบรรเทาภาระค่าไฟฟ้า 315 บาท ต่อครัวเรือนต่อเดือน

เบื้องต้นใช้งบประมาณราว 4,800 ล้านบาทต่อเดือน หรือราว 50,000 ล้านบาทต่อปี