ความรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพเป็นบริษัท 

ความรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพเป็นบริษัท 

การร่วมลงทุนในการประกอบธุรกิจ อาจจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนสามัญก็ได้ โดยหลักการสำคัญของห้างหุ้นส่วนสามัญคือ ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนต้องรับผิดร่วมกันในหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่มีจำกัด

 ถ้าหากประสงค์จะให้ห้างหุ้นส่วนสามัญนั้นมีฐานะเป็นนิติบุคคล ก็สามารถจดทะเบียนเป็นห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนก็ได้ เมื่อจดทะเบียนแล้วจะมีฐานะเป็นนิติบุคคลแยกต่างหากจากผู้เป็นหุ้นส่วน แต่ผู้เป็นหุ้นส่วนทุกคนก็ยังต้องร่วมกันรับผิดในหนี้ของห้างโดยไม่มีจำกัดเช่นเดิม

หรือจัดตั้งเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดที่ต้องจดทะเบียนตามกฎหมายก็ได้ ก็จะมีฐานะเป็นนิติบุคคลเช่นเดียวกับห้างหุ้นส่วนสามัญจดทะเบียน

ห้างหุ้นส่วนจำกัดจะมีหุ้นส่วนสองจำพวกคือ หุ้นส่วนจำพวกจำกัดความรับผิดเพียงไม่เกินจำนวนเงิน ซึ่งรับจะลงหุ้นให้ห้างหุ้นส่วนนั้นพวกหนึ่ง กับอีกพวกหนึ่งคือผู้เป็นหุ้นส่วนซึ่งต้องรับผิดบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนไม่มีจำกัด

เมื่อการประกอบกิจการของห้างเจริญเติบโตขึ้น ห้างหุ้นส่วนบางรายก็อยากยกฐานะขึ้นเป็นบริษัทจำกัด ซึ่งแต่เดิมต้องจัดตั้งบริษัทขึ้นใหม่ในชื่ออื่น จะใช้ชื่อเดิมของห้างไม่ได้

 เมื่อจัดตั้งบริษัทขึ้นแล้วจึงเข้าสู่กระบวนการเลิกห้างเดิม จัดให้มีการชำระบัญชีห้างเดิม ส่วนทรัพย์สินของห้างเดิมจะใช้วิธีการโอนหรือจำหน่ายให้บริษัทที่ตั้งใหม่ก็ได้ แต่จะมีขั้นตอนที่ค่อนข้างยุ่งยากและมีปัญหาเกี่ยวกับภาระภาษี

ในปี 2552 ได้มีการแก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ ลักษณะหุ้นส่วนบริษัท โดยเพิ่มบทบัญญัติส่วนที่ 12 การแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนและห้างหุ้นส่วนจำกัดเป็นบริษัทจำกัด มาตรา 1246/1 ถึงมาตรา 1246/7 

ทำให้การยกฐานะของห้างหุ้นส่วนเป็นบริษัทจำกัดกระทำได้สะดวกยิ่งขั้น โดยจะยังคงใช้ชื่อเดิมของห้างเป็นชื่อบริษัทที่เกิดจากการแปรสภาพก็ได้ 

เมื่อได้ดำเนินการตามขั้นตอนที่บัญญัติในมาตรา 1246/1-มาตรา 1246/4 และนายทะเบียนรับจดทะเบียนบริษัทที่เกิดจากการแปรสภาพตามมาตรา 1246/5 แล้ว ห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดเดิมหมดสภาพไป

เมื่อห้างหุ้นส่วนจดทะเบียนหรือห้างหุ้นส่วนจำกัดได้จดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทแล้ว บริษัทย่อมได้ไปทั้งบรรดาทรัพย์สิน หนี้ สิทธิและความรับผิดของห้างหุ้นส่วนเดิมทั้งหมด โดยผลของกฎหมายไม่มีขั้นตอนยุ่งยากและปัญหาภาระภาษี เช่น การโอนทรัพย์สินตามปกติทั่วไป

สำหรับหนี้ที่บริษัทรับมานั้น หากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ที่ได้รับมาจากห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ ให้เจ้าหน้าที่บังคับชำระหนี้เอาจากผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ตามที่หุ้นส่วนนั้นต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วน ตามที่บัญญัติในมาตรา 1264/7

คำพิพากษาศาลฎีกา ที่วินิจฉัยประเด็นตามมาตรา 12647/7

คำพิพากษาศาลฎีกาที่ 1399/2566 ขณะห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ก่อสร้างกำแพงรุกล้ำที่ดินของโจทก์ทั้งสามนั้น จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ เมื่อนายทะเบียนจดทะเบียนแปรสภาพห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. เป็นบริษัทจำกัดคือจำเลยที่ 1 แล้ว

ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ย่อมหมดสภาพการเป็นห้างหุ้นส่วนจำกัดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246/5 และเกิดบริษัทใหม่ คือจำเลยที่ 1 ซึ่งจำเลยที่ 1 ย่อมรับไปทั้งทรัพย์สิน หนี้ สิทธิ และความรับผิดของห้างเดิมทั้งหมด 

เมื่อข้อเท็จจริงฟังได้ว่า ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม จึงมีหนี้และความรับผิดในการรื้อถอนสิ่งปลูกสร้างที่รุกล้ำ และส่งมอบที่ดินคืนในสภาพเรียบร้อยใช้งานได้ดี รวมทั้งต้องชำระค่าเสียหายเป็นค่าขาดประโยชน์แก่โจทก์ทั้งสาม 

จำเลยที่ 1 ซึ่งจดทะเบียนแปรสภาพมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. จึงต้องรับไปซึ่งหนี้และความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ที่มีอยู่เดิมมาทั้งหมดตามบทบัญญัติดังกล่าว

ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1246/7 ที่บัญญัติว่า “เมื่อจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัดแล้ว หากบริษัทไม่สามารถชำระหนี้ที่รับมาจากห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ ให้เจ้าหนี้บังคับชำระหนี้เอาจากผู้เป็นหุ้นส่วนในห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ตามที่ผู้เป็นหุ้นส่วนจะต้องรับผิดในหนี้ของห้างหุ้นส่วน” 

คดีนี้ตามคำฟ้องของโจทก์ทั้งสามมิได้แสดงสภาพแห่งข้อหาว่า จำเลยที่ 2 และที่ 3 ร่วมกระทำการละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามเป็นการส่วนตัว แต่จำเลยที่ 2 และที่ 3 เป็นเพียงตัวแทนและเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการผู้มีอำนาจของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. จำเลยที่ 2 และ ที่ 3 จึงไม่ต้องร่วมรับผิดกับห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ในฐานะที่เป็นผู้ร่วมกระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสาม

 แต่อย่างไรก็ตาม ขณะที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กระทำละเมิดต่อโจทก์ทั้งสามนั้น มีจำเลยที่ 2 และ ที่ 3 เป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ ซึ่งต้องเป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดตาม ป.พ.พ. มาตรา 1087 และจะต้องรับผิดร่วมกันในบรรดาหนี้ของห้างหุ้นส่วนโดยไม่จำกัดจำนวนตาม ป.พ.พ. มาตรา 1077 (2) 

เมื่อห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กระทำละเมิดโดยก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างรุกล้ำเข้าไปในที่ดินของโจทก์ทั้งสามเป็นเหตุให้โจทก์ทั้งสามได้รับความเสียหาย ย่อมถือว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ผิดนัดชำระหนี้นับแต่เวลาที่มีการกระทำละเมิด

ดังนั้น โจทก์ทั้งสามซึ่งเป็นเจ้าหนี้ของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ชอบที่จะเรียกให้ชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดได้ตาม ป.พ.พ. มาตรา 1070 ประกอบมาตรา 1080

จำเลยที่ 2 และที่ 3 ซึ่งเป็นหุ้นส่วนผู้จัดการ และเป็นหุ้นส่วนประเภทไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ในขณะนั้นจึงต้องร่วมรับผิดกับบรรดาหนี้และความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ด้วย นับแต่เวลาที่ห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. กระทำละเมิดเป็นต้นมาอย่างต่อเนื่อง 

เมื่อต่อมาภายหลังปรากฏว่าห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ได้มีการจดทะเบียนแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด คือจำเลยที่ 1 แล้ว หากจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ที่รับมาจากห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. ได้

โจทก์ทั้งสามในฐานะเจ้าหนี้ย่อมมีสิทธิให้บังคับชำระหนี้เอาจากจำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นหุ้นส่วนเดิมที่แปรสภาพได้โดยไม่จำกัดจำนวนตามที่จำเลยที่ 2 และที่ 3 ผู้เป็นหุ้นส่วนจำพวกไม่จำกัดความรับผิดของห้างหุ้นส่วนจำกัด ช. จะต้องรับผิด 

แต่ทั้งนี้ความรับผิดของจำเลยที่ 2 และที่ 3 นั้น จะรับผิดก็ต่อเมื่อจำเลยที่ 1 ไม่สามารถชำระหนี้ที่รับมาจากห้างหุ้นส่วนที่แปรสภาพได้ซึ่งเป็นไปตามผลของกฎหมาย.