เปิดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม อัตราเดียว 9,000 ต่อครัวเรือน

เปิดหลักเกณฑ์ เงื่อนไข จ่ายเงินเยียวยาน้ำท่วม อัตราเดียว 9,000 ต่อครัวเรือน

ครม. ไฟเขียว ปรับหลักเกณฑ์และเงื่อนไขการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยอัตราเดียว 9,000 ต่อครัวเรือน ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ

น.ส.ไตรศุลี ไตรสรณกุล โฆษกกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า  ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) วันที่ 8 ต.ค. 67 ได้เห็นชอบการทบทวนหลักเกณฑ์ เงื่อนไขและวิธีการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝนปี 2567  ตามที่กระทรวงมหาดไทยเสนอ โดยสาระสำคัญเป็นการเป็นปรับปรุงหลักเกณฑ์ เงื่อนไขฯ ซึ่ง ครม. มีมติเห็นชอบ เมื่อวันที่  17  ก.ย. 67 เพื่อให้การช่วยเหลือสอดคล้องกับสถานการณ์ที่อุทกภัยได้ส่งผลรุนแรง เกิดความเสียหายกับประชาชน  ให้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบได้รับค่าดำรงชีพเป็นกรณีพิเศษ สอดคล้องกับนโยบายของรัฐบาลที่ต้องเร่งให้ความช่วยเหลืออย่างโดยเร็ว

ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ เงื่อนไขฯ ที่ได้รับการอนุมัติทบทวนครั้งนี้  จะเป็นการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ทั้งกรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วม ดินถล่ม น้ำท่วมฉับพลัน น้ำป่าไหลหลาก น้ำลันตลิ่ง ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกน้ำท่วมขังติดต่อกัน เกินกว่า 7 วัน ให้ได้รับเงินช่วยเหลืออัตราเดียว ครัวเรือนละ 9,000 บาท ส่วนผู้ประสบภัยได้รับเงินช่วยเหลือตามมติ ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 ไปแล้ว ให้จ่ายเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครบ 9,000 บาทต่อไป 

น.ส.ไตรศุลี กล่าวว่า ข้อมูล ณ วันที่ 3 ต.ค. 67 พบว่า มีประชาชนยื่นคำร้องขอรับเงินช่วยเหลือฯ แล้ว ในพื้นที่ 50 จังหวัด รวม 67,296 ครัวเรือน จากพื้นที่อุทกภัยในฤดูฝนปี 2567 ทั้งหมด 57 จังหวัด  และมีบางส่วนที่

กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย (ปภ.) ได้ส่งบัญชีรายชื่อครัวเรือนที่ขอรับความช่วยเหลือ ให้ธนาคารออมสินและได้โอนจ่ายเงินให้แก่ผู้ประสบภัย ในพื้นที่จังหวัดเชียงราย และจังหวัดเชียงใหม่ แล้วรวมจำนวน 6,363 ครัวเรือน เป็นเงิน 31,857,000 บาท ซึ่งกลุ่มนี้ทั้งหมดเป็นผู้ได้รับโอนเงินช่วยเหลือ 5,000 บาท ซึ่งจะต้องโอนเงินช่วยเหลือเพิ่มเติมให้ครบ 9,000 บาทต่อไป   

อย่างไรก็ตาม สำหรับขอบเขตพื้นที่ให้การช่วยเหลือนั้นยังคงเดิมคือ จังหวัดที่มีพื้นที่ได้รับผลกระทบ/ พื้นที่ประกาศเขตพื้นที่ประสบสาธารณภัย/พื้นที่ประกาศเขตการให้ความช่วยเหลือผู้ประสบภัยพิบัติ กรณีฉุกเฉิน จำนวน 57 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดกระบี่ กาญจนบุรี กาฬสินธ์ กำแพงเพชร ขอนแก่น จันทบุรี ฉะเชิงเทรา ชัยภูมิ ชลบุรี เชียงราย เชียงใหม่ ตรัง ตราด ตาก นนทบุรี นครนายก นครปฐม นครพนม นครสวรรค์ นครราชสีมา นครศรีธรรมราช น่าน บึงกาฬ ปราจีนบุรี พระนครศรีอยธยา พังงา พะเยา พิจิตรพิษณุโลก เพชรบูรณ์ แพร่ ภูเก็ต มหาสารคาม มุกดาหาร แม่ฮ่องสอน ยะลา ระยอง ราชบุรี ร้อยเอ็ด ลำปาง ลำพูน เลย ศรีสะเกษ สกลนคร สตูล สระแก้ว สระบุรี สุโขทัย สุพรรณบุรี สุราษฎร์ธานี หนองคาย หนองบัวลำภู อ่างทอง อุทัยธานี อุดรธานี อุตรดิตถ์ และจังหวัดอุบลราชธานี  ครอบคลุมครัวเรือนผู้ประสบภัย จำนวน 338,391 ครัวเรือน 

"สถานการณ์อุทกภัยที่เกิดขึ้นในครั้งนี้มีความรุนแรง ก่อให้เกิดความเสียหายกับประชาชนผู้ประสบภัยเป็นจำนวนมาก ขณะที่การช่วยเหลือตามหลักเกณฑ์ที่ ครม. ได้อนุมัติไปเมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 นั้น ได้กำหนดระยะเวลาประกอบการช่วยเหลือค่อนข้างนาน ทำให้การช่วยเหลือล่าช้า ไม่ทันต่อการกลับมาดำรงชีวิตตามปกติ ประกอบกับปัญหาเศรษฐกิจที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้า ๆ ส่งผลให้ผู้ประสบภัยเกิดภาวะยากลำบากมากขึ้น ดังนั้น เพื่อให้ผู้ประสบภัยได้รับ ความช่วยเหลืออย่างรวดเร็ว เหมาะสมกับภาวะค่าครองชีพที่สูงขึ้น และสามารถกลับมาใช้ชีวิตได้ปกติโดยเร็ว จึงต้องมีการทบทวนหลักเกณฑ์การจ่ายเงินดังกล่าว" น.ส.ไตรศุลี กล่าว 

สำหรับอัตราการจ่ายเงินช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัยในช่วงฤดูฝน ปี 2567 เดิม ที่ได้รับอนุมัติจาก ครม. เมื่อวันที่ 17 ก.ย. 67 นั้นมี 3 อัตรา ได้แก่ 1.กรณีที่อยู่อาศัยประจำอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อต่อกันตั้งแต่ 1 วัน (24 ชั่วโมง) แต่ไม่เกิน 7 วัน และทรัพย์สินได้รับความเสียหาย หรือที่อยู่อาศัยประจำถูกนำท่วมขังเกินกว่า 7วัน แต่ไม่ไม่เกิน 30 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 5,000 บาท 2. กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกันเกินกว่า 30 วัน แต่ไม่เกิน 60 วัน ให้ความช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 7,000 บาท และ 3) กรณีที่พักอาศัยอยู่ในพื้นที่น้ำท่วมขัง ติดต่อกับกันกว่า 60 ขึ้นไป ให้ความต่วมช่วยเหลือ ครัวเรือนละ 9,000 บาท