เราต้องสร้างภาคประชาสังคมของประเทศให้เข้มแข็ง
อุทกภัยน้ำท่วมใหญ่ปีนี้ ประชาชนไทยกว่าสองแสนครัวเรือนใน 44 จังหวัดได้รับผลกระทบ และเราได้เห็นบทบาทที่เข้มแข็งขององค์กรภาคประชาสังคม เช่น มูลนิธิ สมาคม องค์กรระดับชุมชน
เป็นกองหน้าเข้าช่วยเหลือผู้ประสบภัยในจังหวะแรกอย่างทันที ทันเหตุการณ์ และทำอย่างเข้มแข็ง จริงจัง เป็นภาพที่สะท้อนความเข้มแข็งและความสวยงามของสังคมไทยที่คนในประเทศพร้อมช่วยเหลือกันในยามเดือดร้อนโดยไม่ต้องเอ่ยปาก
สะท้อนถึงศักยภาพมหาศาลที่มีในภาคประชาสังคมของประเทศ ที่สามารถมีบทบาทช่วยภาครัฐในการพัฒนาประเทศและช่วยเหลือสังคม นี่คือความเข้มแข็งที่เราต้องช่วยกันส่งเสริม และนี่คือประเด็นที่จะเขียนวันนี้
นํ้าท่วมใหญ่คราวนี้ต้องถือว่ารุนแรงสุดในศตวรรษ ครอบคลุมพื้นที่กว่า 44 จังหวัดและกระทบคนกว่าสองแสนครอบครัว กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยประเมินว่าเฉพาะพื้นที่ที่ความเสียหายรุนแรงจนต้องประกาศเป็นพื้นที่อุทกภัยล่าสุดมี 19 จังหวัด กระทบ 43,535 ครัวเรือน
ซึ่งตั้งแต่กลางเดือนสิงหาคมที่นํ้าเริ่มท่วมโดยเฉพาะในภาคเหนือที่จังหวัดเชียงราย เราได้เห็นพลังพลเมืองของกลุ่มคนในชุมชนและองค์กรภาคประชาสังคมเป็นหัวหอกเข้าช่วยเหลือผู้ที่เดือดร้อนอย่างทันเหตุการณ์
ช่วยรักษาชีวิต รักษาทรัพย์สิน บรรเทาความเดือดร้อน และช่วยประชาชนแก้ปัญหาความเป็นอยู่ที่เกิดจากนํ้าท่วม ก่อนที่หน่วยงานภาครัฐจะตามเข้าไป
การช่วยเหลือขององค์กรภาคประชาสังคมในช่วงน้ำท่วมมีทั้งในพื้นที่หน้างาน และนอกพื้นที่น้ำท่วมในรูปของการระดมการบริจาคสิ่งของต่างๆ เพื่อช่วยเหลือผู้ประสบภัย รวมทั้งเป็นตัวแทนหรือทำงานร่วมกับบริษัทธุรกิจและองค์กรอื่นๆ ในการส่งต่อสิ่งของที่ประชาชนบริจาคให้กับผู้ประสบภัย
เป็นการทําหน้าที่อย่างทันเวลา ทุ่มเท และน่าชมเชย ชี้ให้เห็นถึงบทบาทที่องค์กรภาคประชาสังคมสามารถมีได้ในการช่วยประเทศแก้ไขปัญหา นี่คือศักยภาพที่องค์กรเหล่านี้มี
โดยทั่วไปในระบบเศรษฐกิจ องค์กรที่มีสามารถแบ่งได้เป็น 3 กลุ่ม กลุ่มแรก องค์กรภาครัฐหรือ The First sector กลุ่มสองคือองค์กรในภาคธุรกิจหรือ The Second sector และกลุ่มสามคือองค์กรภาคประชาสังคม หรือ The Third sector ได้แก่ องค์กรเช่น มูลนิธิ สมาคม สถาบัน วัด สหกรณ์ วิสาหกิจชุมชน และองค์กรชุมชน
องค์กรเหล่านี้ไม่ใช่องค์กรภาครัฐ ไม่ใช่องค์กรภาคธุรกิจ แต่เป็นองค์กรภาคประชาชนที่เรียกรวมๆ กันว่าองค์กรไม่แสวงหากำไร ที่มีเป้าหมายการทำงานเพื่อส่วนรวม
ในประเทศเรา องค์กรเหล่านี้มีจํานวนมากและมีหลายรูปแบบ เฉพาะมูลนิธิและสมาคมที่จดทะเบียนกับกระทรวงมหาดไทย ณ สิ้นปีที่แล้วก็มีมากถึง 32,956 องค์กร สําหรับวัด มีจำนวนถึง 42,626 แห่งตามข้อมูลสํานักงานพระพุทธศาสนาแห่งชาติ ซึ่งถ้ารวมองค์กรที่จัดตั้งในรูปเเบบอื่นๆ ตัวเลขรวมคงมากกว่าหนึ่งแสนองค์กร นี่คือพลังที่ภาคประชาสังคมของประเทศมี
จุดแข็งขององค์กรเหล่านี้ คือการทําเพื่อส่วนรวม เพื่อประโยชน์ของคนในประเทศ โดยเติมเต็มในสิ่งที่ขาดอยู่ทั้งในเรื่องโอกาส เช่น การศึกษา การทําให้ประชาชนได้รับบริการที่ควรมี เช่น การรักษาพยาบาล และการช่วยภาครัฐในการแก้ปัญหาและพัฒนาประเทศ
เพื่อยกระดับความเป็นอยู่ของสังคมให้ดีขึ้น ให้สังคมมีความเข้มแข็ง แน่นแฟ้น และอยู่ร่วมกันอย่างสงบสุข ไม่ใช่เพื่อหากําไรให้กับตนเองหรือคนใดคนหนึ่งหรือเจ้าของกิจการเหมือนบริษัทธุรกิจ นี่คือความเข้มแข็ง
ที่สําคัญ ผู้มาร่วมในองค์กรไม่แสวงกำไร ไม่ว่าจะเป็น ประธาน กรรมการ ผู้บริหาร อาสาสมัคร ต่างล้วนมาด้วยความสมัครใจ มาเพราะชื่นชมในพันธกิจขององค์กรและต้องการให้เป้าหมายขององค์กรประสบความสำเร็จ คือมาด้วยใจ
มาร่วมกันทํางานร่วมกันตัดสินใจเพื่อให้องค์กรบรรลุเป้าหมายในสิ่งที่ต้องการทําเพราะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวม
นี่คือความสวยงามและพลังขององค์กรไม่แสวงหากำไร และถ้าองค์กรไม่แสวงหากําไรในประเทศเราส่วนใหญ่หรือทั้งหมดสามารถทำได้ สามารถประสบความสําเร็จในพันธกิจที่ตั้งไว้ ประโยชน์ต่อประเทศและประชาชนจะมหาศาล
ความสําเร็จและความยั่งยืนขององค์กรไม่แสวงหากําไรในการทำหน้าที่ ซึ่งเปรียบได้เหมือนการเดินทางไกล จะมีปัจจัยชี้ขาดอยู่สามเรื่อง
1.ภาวะผู้นําและการยึดมั่นในพันธกิจขององค์กร อันนี้คือตัวทดสอบความเเกร่ง ความคงเส้นคงวา และการยึดมั่นในสิ่งที่ต้องการทําให้เกิดขึ้น ที่ผู้ที่เข้ามาร่วมในทุกระดับจะยึดมั่นเป็นหมุดหมายเดียวกันในการทําหน้าที่ ไม่เบี่ยงเบน
2.ความไว้วางใจหรือ trust ที่ผู้มีส่วนได้ส่วนเสียมีต่อองค์กร ไม่ว่าจะเป็น ผู้สนับสนุน ผู้บริจาค พนักงาน จิตอาสา และสังคม ซึ่งความไว้วางใจนี้จะมาจากการบริหารจัดการองค์กรอย่างมีธรรมาภิบาล คือ ทำงานเป็นระบบ ซื่อสัตย์ โปร่งใส ตรวจสอบได้ และ
3.ความยั่งยืนทางการเงิน ที่มาจากการใช้ทรัพยากรการเงินอย่างระมัดระวัง มีเหตุมีผล โปร่งใส ตรงตามเป้าและแผนงาน ไม่ฟุ่มเฟือย
นี่คือสามปัจจัยชี้ขาด แต่เหนือสุดและสำคัญสุด และถือเป็นหัวใจของความสําเร็จขององค์กรไม่แสวงหากําไร คือ ความซื่อตรง หรือ Integrity หมายถึง ซื่อตรงต่อหน้าที่ คือพันธกิจขององค์กร ซื่อตรงต่อตนเอง
คือ ปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต ไม่มีผลประโยชน์ขัดแย้ง และ ซื่อตรงต่อผู้อื่น หมายถึง ผู้บริจาคและผู้มีส่วนได้ส่วนเสียอื่นๆ คือ ทําตามที่พูดเพื่อให้สังคมไว้วางใจและสนับสนุน
มูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาลตระหนักถึงความสำคัญและพลังขององค์กรภาคประชาสังคมในฐานะ Sector ที่สามของประเทศ ที่จะสามารถช่วยขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศและช่วยสังคมในการแก้ปัญหา เพื่อให้ความเป็นอยู่ของคนในประเทศดีขึ้น และมองว่าการบริหารจัดการอย่างมีธรรมาภิบาล คือเงื่อนไขสำคัญที่จะทําให้องค์กรภาคประชาสังคมเหล่านี้ประสบความสําเร็จในการทําหน้าที่
จึงเปิดหลักสูตรอบรม “การบริหารองค์กรไม่แสวงหากําไรตามหลักธรรมาภิบาล” เพื่อให้ความรู้ ประธาน กรรมการ เจ้าหน้าที่องค์กรไม่แสวงหากําไรในเรื่องการบริหารจัดการที่ดีตามหลักธรรมาภิบาล
เป็นหลักสูตรที่ออกแบบมาเพื่อองค์กรไม่แสวงหากําไรเป็นการเฉพาะ การอบรมใช้เวลาสองวัน และเนื้อหาเน้นการสร้างความเข้มแข็งในการบริหารองค์กรไม่แสวงหากําไรให้เติบโตและยั่งยืน
การอบรมได้ผ่านไปแล้วสองรุ่น ประสบความสำเร็จดีมาก มีมูลนิธิ สมาคม สหกรณ์ สถาบัน และวิสาหกิจชุมชน มาร่วมอบรมแล้วกว่า 60 องค์กร และหลายองค์กรที่มาร่วมอบรมหรือเครือข่ายก็มีบทบาทสําคัญในการช่วยเหลือผู้ประสบภัยในอุทกภัยคราวนี้
เช่น มูลนิธิกระจกเงา มูลนิธิป่อเต็กตึ๊ง มูลนิธิเพื่อนช้าง มูลนิธิช่วยไร้พรมแดน สมาคมสตรีเชียงใหม่ มูลนิธิองค์กรทําดี มูลนิธิไทยเครดิต และมูลนิธิเมดพาร์ค เป็นต้น
การอบรมรุ่นต่อไปจะมีในวันที่ 16 และ 23 พฤศจิกายน ไม่มีค่าใช้จ่าย ผู้สนใจสามารถลงทะเบียนได้ที่ https://rb.gy/76gitr หวังว่าจะได้พบกัน.
คอลัมน์ เศรษฐศาสตร์บัณฑิต
ดร.บัณฑิต นิจถาวร
ประธานมูลนิธินโยบายสาธารณะเพื่อสังคมและธรรมาภิบาล