"ดีเอสไอ" พร้อมรับ "ดิไอคอน" เป็นคดีพิเศษ ไล่เช็กงบดุลย้อนหลังถึงปี 62

"ดีเอสไอ" พร้อมรับ "ดิไอคอน" เป็นคดีพิเศษ ไล่เช็กงบดุลย้อนหลังถึงปี 62

อัปเดต คดี "ดิไอคอน" ดีเอสไอ เรียกถกเจ้าหน้าที่ก่อนรับเป็นคดีพิเศษ สั่งไล่เช็กงบดุลย้อนหลังถึงปี 62 หลังพบความผิดปกติหลายประเด็น

ความคืบหน้ากรณีนางสาวจิราพร สินธุไพร รัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี​ เตรียมเสนอต่อ กรมสอบสวนคดีพิเศษ หรือ ดีเอสไอ (DSI) รับคดี "ดิไอคอนกรุ๊ป" (The iCon Group) เป็น คดีพิเศษ เนื่องจากขณะนี้พบมีผู้เสียหายมากกว่า 600 ราย มูลค่าความเสียหาย 232 ล้านบาท ซึ่งเข้าเกณฑ์เป็นคดีพิเศษ โดยขณะนี้ทางดีเอสไอกำลังพิจารณาว่าจะรับเป็นคดีพิเศษหรือไม่

 

ล่าสุดมีรายงานว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา คณะผู้บริหารดีเอสไอ ได้นัดหมายประชุมเกี่ยวกับ คดี ดิไอคอน กรุ๊ป เพื่อพิจารณาองค์ประกอบความผิดตามบัญชีแนบท้าย พ.ร.บ.การสอบสวนคดีพิเศษ พ.ศ. 2547 นำโดย พ.ต.ต.ยุทธนา แพรดำ รองอธิบดีดีเอสไอ รักษาราชการแทนอธิบดีดีเอสไอ, พ.ต.ต.วรณัน ศรีล้ำ ผอ.กองธุรกิจการเงินนอกระบบ และในฐานะโฆษกดีเอสไอ

ภายหลังการประชุม พ.ต.ต.วรณัน เปิดเผยว่า วันนี้ (15 ต.ค. 67) พ.ต.ต.ยุทธนา ได้เชิญ ผอ.กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ และเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องกับงานสอบสวนอาชญากรรมทางเศรษฐกิจมาประชุมหารือเพื่อกำหนดแนวทางในการทำงาน กรณีหากคดีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด มาเป็นคดีพิเศษ ในเบื้องต้น พ.ต.ต.ยุทธนา ได้มอบหมายให้กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ หรือ กองคดีแชร์ลูกโซ่ ประสานไปยัง บก.ปคบ. เพื่อขอข้อมูลการสอบสวน เพื่อให้มีข้อมูลตั้งต้นในการประสานงาน ในการดำเนินการคู่ขนานกัน

ทั้งนี้ ตามหลักการหากดีเอสไอพิจารณาข้อมูลที่ได้รับมาและพบว่าเข้าข่ายความผิดตามกฎหมายของดีเอสไอจริง จึงจะทำหนังสือแจ้งกลับไปยัง บก.ปคบ. ว่าได้รับดำเนินการเป็นคดีพิเศษเรียบร้อยแล้ว

 

เมื่อถามถึงกรณีที่ พล.ต.อ.กิตติ์รัฐ พันธุ์เพ็ชร์ ผบ.ตร. ระบุว่า ตอนนี้ตำรวจ บก.ปคบ. ยังอยู่ระหว่างรวบรวมพยานหลักฐาน ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่นั้น พ.ต.ต.วรณัน เปิดเผยว่า เราทำงานร่วมกันอย่างไร้รอยต่อ หากสิ่งใดที่สนับสนุนได้ ทางดีเอสไอก็พร้อมสนับสนุนทางตำรวจ ส่วนการดำเนินการของดีเอสไอตอนนี้จะสามารถบอกได้หรือไม่ว่าแผนธุรกิจดังกล่าวเข้าข่ายในฐานความผิดใดนั้น คงยังต้องขอดูข้อเท็จจริงก่อน ยังไม่สามารถตอบได้ว่าเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่

อย่างไรก็ตาม ประเด็นมูลค่าความเสียหายและจำนวนผู้เสียหาย ณ ปัจจุบัน ที่เข้าเกณฑ์การรับเป็นคดีพิเศษนั้น ขอชี้แจงว่าเป็นเพียงแต่เขตอำนาจที่จะบอกว่าคดีใดเป็นคดีพิเศษหรือไม่ ในส่วนนี้ดีเอสไอได้ทำงานประสานกับทางตำรวจอย่างใกล้ชิด ดังนั้น หากดีเอสไอรับคดี ดิไอคอนกรุ๊ป เป็นคดีพิเศษ ทางตำรวจก็จะได้สนับสนุนการปฏิบัติเพื่อทำงานร่วมกัน หรือแม้กระทั่งตอนนี้ที่ตำรวจทำงานเป็นหลัก ดีเอสไอก็ได้เข้าไปซัพพอร์ตการทำงานของตำรวจเช่นกัน ส่วนเรื่องที่มีผู้เสียหายมองว่าเหตุใดตำรวจสอบสวนล่าช้า ยังไม่มีการแจ้งข้อกล่าว ตนไม่ได้มองว่า ตำรวจทำงานสืบสวนสอบสวนคดีล่าช้า เพราะตอนนี้ได้สอบปากคำผู้เสียหายเกือบ 1,000 ราย และทำหน้าที่เต็มที่

ขณะที่ ดีเอสไอ จะมีความชำนาญเรื่องเส้นทางการเงิน จึงสนับสนุนข้อมูลในส่วนนี้ เช่น ดีเอสไอได้ตรวจสอบงบการเงินของบริษัทพบความผิดปกติหลายประเด็นสำคัญ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องรายได้ รายจ่าย และเรื่องงบดุลของบริษัท อาทิ ต้องตรวจสอบงบการเงินย้อนหลังไปในปี 2562 (ตอนเริ่มธุรกิจ) ซึ่งขณะนี้เจ้าหน้าที่คดีพิเศษ กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ ยังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ข้อมูล 

เมื่อถามถึงประเด็นที่มีกูรูหรือนักวิชาการ นักวิเคราะห์ในโซเชียลมีเดีย มองว่า กรณีแผนธุรกิจบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปถือเป็นลักษณะแชร์ลูกโซ่นั้น พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า ทราบว่าเมื่อช่วงเช้าที่ผ่านมา กระทรวงการคลัง และกระทรวงพาณิชย์ ได้ออกมาตอบคำถามของผู้สื่อข่าวหลายสำนัก ซึ่งจะต้องไปดูรายละเอียดตรงส่วนนั้นก่อน ทั้งนี้ยืนยันว่าไม่เป็นการแก่งแย่งผลงานกันแน่นอน เพราะคดีอาญามีผู้รับผิดชอบ เพียงแต่ในเวลานี้ใครจะเป็นเจ้าภาพ แต่ทำงานด้วยกันอยู่แล้ว

สำหรับหลักการที่กองคดีธุรกิจการเงินนอกระบบ มองว่าแผนธุรกิจใดเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่นั้น พ.ต.ต.วรณัน แจงว่า แชร์ลูกโซ่คือการหมุนเวียนจ่าย รายได้มาจากการเอาเงินรายท้ายมาจ่ายรายต้น แต่ก็ยังมีองค์ประกอบย่อยอื่นๆ เช่น ต้องเข้าข่ายลักษณะการกู้ยืมเงิน หมายความถึงมีพฤติการณ์การเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจโดยที่มีการเสนอผลตอบแทนกลับ ดังนั้นกรณีบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด จึงต้องดูให้ละเอียด เพราะจากข้อมูลพบว่าเป็นสัญญาแบบขายขาด คือมีการขายสินค้าออกไป และมีการทำการตลาด

ต่อข้อถามว่าแม้บริษัทจะอ้างว่าตนเองมีสินค้าจำหน่ายอยู่จริง แต่ก็มีการระดมทุนเกิดขึ้น อาจเข้าข่ายเป็นแชร์ลูกโซ่ได้ใช่หรือไม่ พ.ต.ต.วรณัน กล่าวว่า องค์ประกอบแต่ละส่วนทั้งเรื่องคำนิยามของการกู้ยืมเงิน และพฤติกรรมการจ่ายผลตอบแทน เป็นอย่างไร ถือเป็นรายละเอียดที่ต้องถอดจากพฤติการณ์ทั้งสิ้น เพื่อสรุปได้ว่าจะเข้าองค์ประกอบข้อกฎหมายใด หากเข้าองค์ประกอบเงื่อนไข ดีเอสไอก็พร้อมรับเป็นคดีพิเศษทันที

"การทำงานของดีเอสไอในตอนนี้ ดูประมาณ 2-3 ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ได้แก่ เป็นแชร์ลูกโซ่หรือไม่ และหากเป็นคดีความผิดเกี่ยวกับการฉ้อโกงประชาชน ที่ไม่ใช่คดีในอำนาจ เงินที่หมุนเวียนเข้าลักษณะของการฟอกเงินหรือไม่ ถ้ามูลฐานเป็นคดีอาญาอื่น แล้วมีทรัพย์สินที่เกี่ยวกับการกระทำความผิดตั้งแต่ 300 ล้านบาทขึ้นไป ส่วนนี้จะเป็นประเด็นเรื่องการฟอกเงินที่ดีเอสไอจะเข้าไปรับผิดชอบได้ คาดว่าจึงอาจมีหลายฐานความผิดที่อยู่ในอำนาจของดีเอสไอ ทั้งกฎหมายการคุ้มครองผู้บริโภค กฎหมายการฟอกเงิน กฎหมายภาษี" พ.ต.ต.วรณัน กล่าว

เมื่อถึงกรณีที่ บอสพอล หรือ นายวรัตน์พล ผู้ก่อตั้งบริษัท ดิไอคอนกรุ๊ป จำกัด ได้ตอบในรายการโหนกระแสเกี่ยวกับการจ่ายเงินตอบแทนแก่ บอสดารา 3 ราย โดยเฉพาะจ่ายตามยอดจำหน่ายสินค้า เข้าข่ายอย่างไรบ้าง พ.ต.ต.วรณัน ระบุว่า ต้องย้อนกลับไปว่าเขาคือผู้ให้กู้ยืมเงินหรือผู้ลงทุนหรือไม่ แต่เท่าที่ฟังจากข่าว เขาเป็นเหมือนพนักงาน แต่ก็ต้องดูว่าพฤติการณ์เป็นเช่นนั้นจริงหรือไม่ ทั้งนี้ ที่ผ่านมายังไม่เคยมีผู้เสียหายจากแผนธุรกิจบริษัทดิไอคอนกรุ๊ปเข้าร้องทุกข์กับดีเอสไอ ส่วนกรณีที่มีการกล่าวอ้างถึงบุคคลที่เป็นหน้าเสื่อ 4 หน่วยงาน ซึ่งปรากฏชื่อหน่วยงาน "ดีเอสไอ" เป็นหนึ่งในหน่วยงานที่รับเงินช่วยเคลียร์ให้บริษัทดังกล่าวนั้น หากบุคคลใดมีข้อมูล ขอให้ส่งแจ้งมาที่ดีเอสไอได้ทันที

"การที่ดีเอสไอจะดำเนินการยึดและอายัดทรัพย์สินของใครจะต้องดูก่อนว่า บัญชีธนาคารนั้นๆ มีความเกี่ยวข้องกับการกระทำความผิดหรือไม่ หรือมีเหตุสงสัยหรือไม่ เพราะกฎหมายได้กำหนดชัดเจนว่า หากมีเหตุสงสัยให้ดำเนินการตรวจสอบโดยการยึดและอายัด ไม่ใช่การเข้าไปยึดอายัดก่อน" พ.ต.ต.วรณัน กล่าวปิดท้าย