คลัง เล็ง ปรับเกณฑ์ลงทะเบียน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' รอบใหม่

คลัง เล็ง ปรับเกณฑ์ลงทะเบียน 'บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ' รอบใหม่

"จุลพันธ์ อมรวิวัฒน์" เผย คลัง เล็งปรับเกณฑ์ลงทะเบียน "บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ" รอบใหม่ หลังพบปัญหาคนจนไม่จริงได้รับสิทธิ พร้อมจัดระเบียบสวัสดิการรัฐทุกประเภท

วันนี้ (21 ต.ค. 67) นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า ตนในฐานะประธานคณะกรรมการประชารัฐสวัสดิการ เพื่อเศรษฐกิจฐานราก จะมีการนัดประชุมหารือ ความคืบหน้าการเปิด ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ เร็วๆ นี้


ทั้งนี้ เป็นไปตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) หลังให้มีการทบทวนข้อมูลบัตรสวัสดิการแห่งรัฐใหม่ทุก 2 ปี เพื่อเตรียมความพร้อมการเปิดลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ รอบใหม่ ช่วงต้นปี 2568 และจากนั้นจะมีการคัดกรองสิทธิ เพื่อให้ได้คนผู้ได้สิทธิทั้งหมดเสร็จทันภายในวันที่ 31 มี.ค. 2568
 

ในการประชุมจะมีการหารือ ถึงแนวทางการเปิดลงทะเบียนฯ ซึ่งจะต้องมีการลงทะเบียน ทบทวนสิทธิใหม่ทุกคน ทั้งในส่วนของคนเก่าที่ได้สิทธิอยู่แล้ว 13.5 ล้านคน และคนใหม่ที่ยังไม่ได้ลงทะเบียน เพื่อคัดกรองให้คนที่มีคุณสมบัติครบถ้วนเท่านั้น ที่จะได้สิทธิสวัสดิการ

ส่วนหลักเกณฑ์การคัดกรองสิทธิ จะมีการสรุปในเร็วๆ นี้ โดยจะต้องดูทั้งในส่วนของรายได้  แต่จะเป็น 100,000 บาทต่อปีเท่าเดิม หรือปรับเป็นเท่าไรจะต้องพิจารณากันก่อน รวมถึงดูว่าเกณฑ์ที่ผ่านมาใช้พิสูจน์ฐานะความยากจนได้จริงหรือไม่ เช่น การถือครองที่ดิน เป็นต้น ก็ต้องดูให้เหมาะสม

ขณะที่ น.ส.แพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี ยังสั่งการให้กระทรวงการคลัง โดยกรมบัญชีกลาง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เร่งจัดระเบียบระบบสวัสดิการทุกประเภทสำหรับประชาชนใหม่ หลังพบปัญหาคนจนไม่จริง รวมถึงดูมีความพิการจริงหรือไม่ หรือบางคนเสียชีวิตไปแล้ว แต่ยังได้รับสวัสดิการอยู่

“การจัดระเบียบ เพื่อดูว่าทุกวันนี้หน่วยงานต่างๆ มีการให้สวัสดิการกี่ประเภท และมีความเหมาะสมถูกต้องหรือเปล่า จากนั้นนำข้อมูลไปปรับใช้ให้สามารถช่วยเหลือคนได้ตรงกลุ่มเป้าหมาย และวัตถุประสงค์ยิ่งขึ้น หลังจากที่ผ่านมาพบมีบางคนได้สวัสดิการของรัฐสูงถึงเดือนละ 1 หมื่นบาท จึงต้องไปดูให้ข้อมูลเป็นปัจจุบันมากสุด”

ทั้งนี้ การจัดทำฐานข้อมูลสวัสดิการที่ครบถ้วนสมบูรณ์ จะเป็นเครื่องที่ช่วยให้การทำมาตรการจัดสรรสวัสดิการ เนกาทีฟ อินคัม แท็กซ์ ให้ประสบความสำเร็จ ซึ่งที่ผ่านมาจากการศึกษายอมรับว่า การที่มีข้อมูลไม่สมบูรณ์ ไม่ครบถ้วนเป็นอุปสรรคต่อการเดินหน้าของนโยบายนี้

 

 

ที่มา : thansettakij