เปิดศูนย์ฯ ส่วนหน้า (ชั่วคราว) พื้นที่เสี่ยงน้ำท่วม รับมือฝนตกหนักภาคใต้
สทนช. ประชุมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ จ.ยะลา เตรียมรับมือฝนตกต่อเนื่องและตกกระจายทั่วภาคใต้ตอนบนและตอนล่าง โดยใช้กลไกเชื่อมโยงกับคณะกรรมการลุ่มน้ำในทุกลุ่มน้ำของภาคใต้เพื่อดูแลประชาชนได้อย่างครอบคลุมทุกพื้นที่
วันนี้ (22 ต.ค. 67) ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) เป็นประธานการประชุมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ และประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ครั้งที่ 2/2567 พร้อมด้วยนายมูฮัมมัด ศานติภิมุข รองผู้ว่าราชการจังหวัดยะลา ผู้แทนจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องและผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วมการประชุม ณ ห้องประชุมปัญจเพชร ชั้น 3 อาคารศูนย์อำนวยการบริหารจังหวัดชายแดนภาคใต้ (ศอ.บต.) อ.เมืองยะลา จ.ยะลา และผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ จากนั้นได้รับฟังบรรยายสรุปการบริหารจัดการน้ำเขื่อนบางลาง ณ ห้องประชุมเขื่อนบางลาง ก่อนลงพื้นที่บริเวณเขื่อนบางลาง เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำ การระบายน้ำ และพื้นที่ได้รับผลกระทบท้ายน้ำ ตามลำดับ
เลขาธิการ สทนช. เปิดเผยผลการประชุมว่า ในวันนี้เป็นการประชุมเปิดศูนย์บริหารจัดการน้ำส่วนหน้า (ชั่วคราว) ในพื้นที่เสี่ยงอุทกภัยภาคใต้ ณ จ.ยะลา ซึ่งเป็นการดำเนินงานเชิงรุกตามข้อห่วงใยของนายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรี ซึ่งได้รับทราบคาดการณ์สภาพอากาศและสถานการณ์น้ำในพื้นที่ภาคใต้ในการประชุมคณะกรรมการทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (กนช.) ครั้งล่าสุด ว่า
ตั้งแต่เดือน ต.ค. - ธ.ค. 67 หรืออาจจะถึงเดือน ม.ค. 68 มีแนวโน้มที่จะมีฝนตกต่อเนื่องในปริมาณมาก โดยมีฝนตกกระจายตั้งแต่ภาคใต้ตอนบนจนถึงภาคใต้ตอนล่าง ส่งผลให้มีความเสี่ยงเกิดน้ำป่าไหลหลาก น้ำท่วมฉับพลัน และดินโคลนถล่ม
โดยที่ประชุมในวันนี้ กรมอุตุนิยมวิทยาและสถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำ (องค์การมหาชน) (สสน.) คาดการณ์ว่า ในระยะ 2 – 3 วันนี้ มีแนวโน้มเกิดสถานการณ์ฝนตกหนักในเขตพื้นที่ จ.เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร ระนอง นครศรีธรรมราช และสุราษฎร์ธานี
จากนั้นในช่วงตั้งแต่วันที่ 25 ต.ค. 67 เป็นต้นไป จะเริ่มมีปริมาณฝนเพิ่มมากขึ้นในพื้นที่ภาคใต้ตอนล่าง ในเขตพื้นที่ จ.ระนอง กระบี่ พังงา และภูเก็ต โดยเฉพาะใน จ.ภูเก็ต ซึ่งมีแนวโน้มฝนตกหนักต่อเนื่อง 3 – 4 วัน
ดังนั้น เพื่อเป็นการรับมือกับฝนที่จะตกแบบกระจายในหลายพื้นที่ การบริหารจัดการน้ำในภาคใต้ของปีนี้จะใช้กลไกการเชื่อมโยงการดำเนินงานระหว่างศูนย์ฯ ส่วนหน้าไปยังคณะกรรมการลุ่มน้ำในทุกลุ่มน้ำของภาคใต้ เพื่อให้สามารถดำเนินงานได้ครอบคลุมทุกพื้นที่ สามารถป้องกันและลดผลกระทบให้ประชาชนได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ
ทั้งนี้ ศูนย์ฯ ส่วนหน้าจะประชุมเพื่อติดตามประเมินสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน โดยจะมีการชี้เป้าพื้นที่เสี่ยงเพื่อให้สามารถเตรียมพร้อมรับมือสถานการณ์ ประสานหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการจัดเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือได้อย่างทันท่วงที และจะมีการประชาสัมพันธ์ข้อมูลและแจ้งเตือนประชาชนอย่างต่อเนื่อง
รวมทั้งจะมีการเตรียมจัดตั้งศูนย์พักพิงชั่วคราวล่วงหน้าเพื่อเตรียมรองรับการอพยพในพื้นที่เสี่ยง ซึ่งจะมีการเตรียมความพร้อมให้กับประชาชน ทั้งในด้านอาหารและสาธารณูปโภคต่าง ๆ รวมถึงดูแลในด้านความปลอดภัยและสุขอนามัยด้วย
พร้อมกันนี้ ในวันนี้ยังได้มีการประชุมคณะอนุกรรมการวิเคราะห์และประเมินสถานการณ์น้ำ ซึ่งได้รับการแต่งตั้งโดย กนช. โดยจะดำเนินงานในเชิงวิชาการ ทำหน้าที่ในการวิเคราะห์ประเมินสถานการณ์น้ำเชิงลึก ช่วยกำหนดมาตรการและนโยบายในการปฏิบัติงานต่าง ๆ รวมทั้งสนับสนุนข้อมูลให้ศูนย์ฯ ส่วนหน้านำไปดำเนินงานต่อในระดับพื้นที่ได้อย่างเกิดประสิทธิภาพสูงสุด
นอกจากนี้ คณะอนุกรรมการฯ จะประสานสนับสนุนข้อมูลไปยังศูนย์ปฏิบัติการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย วาตภัย และดินโคลนถล่ม (ศปช.) รวมทั้งรายงานผลการดำเนินงานให้ กนช. รับทราบอย่างต่อเนื่อง
เลขาธิการ สทนช. กล่าวเพิ่มเติมว่า ในส่วนสถานการณ์เขื่อนบางลางซึ่งเป็นเขื่อนสำคัญของ จ.ยะลา ซึ่งจะช่วยรองรับปริมาณน้ำจำนวนมากในช่วงฝนตกหนัก รวมถึงกักเก็บน้ำต้นทุนไว้ใช้ในฤดูแล้งปี 2567/68 จะต้องมีการบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องปัจจัยต่าง ๆ เช่น ระดับน้ำในแม่น้ำปัตตานี อิทธิพลน้ำทะเลหนุนสูง ฯลฯ เพื่อไม่ให้ส่งผลกระทบต่อประชาชนในพื้นที่ท้ายเขื่อน
โดยการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ได้มีการพร่องน้ำออกจากเขื่อนล่วงหน้าเพื่อเตรียมรองรับฝนที่คาดว่าจะตกหนักในช่วงหลังจากนี้ โดยเฉพาะในช่วงเดือน พ.ย. 67 เป็นต้นไป
อย่างไรก็ตาม ขณะนี้ได้ปรับลดการระบายน้ำของเขื่อนบางลางลงให้อยู่ในอัตรา 14 ล้านลูกบาศก์เมตรต่อวัน เพื่อป้องกันความเสี่ยงน้ำเอ่อล้นในพื้นที่บริเวณบ้านบริดอ อ.เมืองปัตตานี จ.ปัตตานี โดยศูนย์ฯ ส่วนหน้าจะมีการประชุมหารือเพื่อพิจารณาปรับอัตราการระบายน้ำให้เหมาะสมในแต่ละช่วงเวลาต่อไป นอกจากนี้ จะมีการเฝ้าระวังสถานการณ์เขื่อนทุกแห่งในพื้นที่ภาคใต้อย่างใกล้ชิด